เคลียร์หนี้แบบล้างกระดาน ด้วยวิธีปรับโครงสร้างหนี้ แบบ “แฮร์คัท”

หนี้ เป็นปัญหาเรื้อรังที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน และก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือในบางคนก็อาจจะใช้เกินตัวไปจนกลายเป็นหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิต เมื่อภาระหนี้สินเริ่มรุมเร้ามากขึ้นเรื่อย ๆ สร้างความเครียด ความกดดัน และปัญหาการเงินตามมาแบบไม่มีที่สิ้นสุด การปรับโครงสร้างหนี้ใหม่อาจเป็นทางออกที่สามารถช่วยปลดหนี้ให้เราได้ไวขึ้นได้ ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้ก็มีได้ในหลายรูปแบบ ในวันนี้เราเลยจะมาพูดถึงวิธีการเคลียร์หนี้ อย่างการทำแฮร์คัทหนี้มาให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกัน ตามไปอ่านกันต่อเลย

หนี้
ภาพจาก Shutterstock

แฮร์คัทคืออะไร?

Hair Cut (แฮร์คัท) เป็นการปรับโครงสร้างหนี้โดยการเจรจาขอส่วนลดจากเจ้าหนี้แล้วจ่ายหนี้ทั้งหมดเพื่อปิดบัญชีทันที 

ตัวอย่างเช่น นาย ก. มียอดหนี้ค้างชำระ 100,000 บาท จึงได้ทำเจรจาตกลงกับทางธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้เพื่อขอลด โดยทางธนาคารตกลงให้ส่วนลดหนี้เหลือ 80,000 บาท เพื่อให้นาย ก. จะได้สามารถจ่ายเพื่อปิดบัญชีทันที แต่หากนาย ก. ไม่มีเงินเพียงพอในการเคลียร์หนี้ให้จบในครั้งเดียวก็อาจเจรจาขอลดหนี้ด้วยการจ่ายหนี้เป็นงวด ๆ ภายในเวลาที่กำหนดขึ้นอยู่กับนโยบายช่วยเหลือของแต่ละธนาคาร ซึ่งส่วนใหญ่จะพิจารณาตามสภาพคล่องทางการเงินของลูกหนี้ 

ข้อดีข้อเสียการทำแฮร์คัทหนี้ ในมุมลูกหนี้

การทำ Hair cut มีประโยชน์คือ

  • ช่วยปลดภาระหนี้ ได้เร็วขึ้นแม้จะมีเงินไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้เต็มทั้งจำนวน
  • ไม่ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยในระยะยาว ทำให้เราสามารถปลดหนี้ได้เร็วมากขึ้น

ส่วนข้อเสียที่เกิดขึ้นกับลูกหนี้ก็คือ

  • เสียประวัติกับทางสถาบันการเงิน เพราะการทำ Hair Cut ธนาคารจะพิจารณาทำให้กับลูกค้าที่ประสบปัญหาทางด้านการเงินจริง ๆ ไม่สามารถชำระหนี้ตามปกติได้จนกระทบต่อประวัติการใช้สินเชื่อ 
  • เสียโอกาสในการขอสินเชื่อใหม่ ๆ เนื่องจากประวัติการค้างชำระหนี้ในอดีต
  • ภาระหนี้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากการค้างชำระตามระยะเวลาที่ค้าง
  • เสียค่าใช้จ่ายในกรณีที่ถูกสถาบันการเงินฟ้องคดี
  • กระทบกับการใช้ชีวิต การงาน และชีวิตครอบครัว เนื่องจากกังวลกับภาระหนี้คงค้าง
หนี้
ภาพจาก Shutterstock

ข้อดีข้อเสียการทำแฮร์คัทหนี้ ในมุมธนาคาร

ประโยชน์ที่ธนาคารได้จากการทำ Hair Cut คือ

  • สามารถช่วยเหลือให้ลูกค้าผ่านวิกฤตหนี้ไปได้ ปลดภาระหนี้ได้เร็วขึ้น ไม่ลุกลามกลายเป็นวิกฤตหนี้เสียตามมาจนธนาคารต้องเข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้ที่มีคุณภาพที่อาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตที่เกิดขึ้น  
  • ธนาคารไม่ต้องสำรองหนี้เสีย เพราะลูกหนี้มีวินัยทางการเงิน ธนาคาร หรือสถาบันการเงิน ก็สามารถผ่อนคลายมาตรการการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงสามารถขยายการบริการไปยังกลุ่มลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของธนาคารได้ เศรษฐกิจของประเทศก็สามารถพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน

ส่วนข้อเสียก็คือ

  • ธนาคารมีส่วนสูญเสีย ได้รับเงินคืนไม่เต็มจำนวน ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ย หรือเงินต้น
  • ธนาคารอาจต้องระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่อกับลูกค้ารายใหม่ (ในกรณีที่มีหนี้เสียจำนวนมาก และลูกค้าเจตนาค้างชำระเพื่อใช้สิทธิ์ในการขอ Hair Cut)

มาถึงตรงนี้ทุกคนคงพอจะเข้าใจแล้วสำหรับการเคลียร์หนี้แบบแฮร์คัท ซึ่งเป็นวิธีที่เราสามารถเข้าไปเจรจาพูดคุยขอปรับสร้างหนี้กับทางธนาคารได้ ส่วนการช่วยเหลือจะเป็นจำนวนมากน้อยเท่าไหร่ ธนาคารก็จะพิจารณาตามสภาพปัญหา และผลกระทบลูกหนี้แต่ละรายได้รับ เพื่อไม่ให้กระทบกับภาพรวมตามที่กล่าวมา และเพื่อเป็นการเตือนสติว่าเราไม่ควรเดินทางมาถึงจุดนี้ ในวันที่เราตัดสินใจยื่นกู้ เพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องไม่ว่าจะเป็นในส่วนธุรกิจ หรือส่วนตัว ก็อยากให้ลูกหนี้วางแผนทางการเงินให้ดี หากจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบกู้ยืมอีกในอนาคตก็อย่าลืมวางแผนการเงินให้พร้อม แต่การไม่พาตนเองเข้าสู่วงจรหนี้ถึงจะดีที่สุด และมีสติในทุกการใช้จ่ายนะทุกคน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา