หลายคนอาจมีคำถามว่าตำแหน่ง CIO (chief information officer) และ CTO (chief technology officer) มีความแตกต่างกันอย่างไร เพราะมีความทับซ้อนกันอยู่ไม่น้อยในแง่ภาระความรับผิดชอบที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี บางองค์กรมีเพียงตำแหน่งเดียว แต่บางองค์กรก็มีทั้งสองตำแหน่งนี้
ในนิยามแบบดั้งเดิม ตำแหน่ง CIO คือผู้บริหารที่ดูแลระบบสารสนเทศ “ภายใน” องค์กร ดูแลว่าองค์กรมีระบบไอทีที่ใช้งานได้ดี มีประสิทธิภาพ แข่งขันได้ ส่วนตำแหน่ง CTO มักรับผิดชอบเรื่องเทคโนโลยี (ที่อาจไม่ใช่งานด้านไอที) ที่ใช้ภายนอกองค์กร มักเป็นเรื่องเทคโนโลยีที่ใช้กับสินค้าหรือบริการที่ส่งมอบให้ลูกค้า
ตัวอย่างง่ายๆ คือ บริษัทเทคโนโลยีที่ไม่ใช่ด้านไอที เช่น Boeing หรือ GE มักมีทั้งสองตำแหน่ง เพราะภาระความรับผิดชอบต่างกันชัดเจน CTO รับผิดชอบเรื่องเครื่องยนต์หรือเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิต (อาจมองว่าเป็นตำแหน่งสูงสุดของวิศวกรหรือนายช่างใหญ่ก็ได้) ในขณะที่ CIO ดูแลเรื่องระบบไอทีภายในองค์กร ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่รวมถึงเรื่องขั้นตอนการทำงาน (process) การไหลเวียนของสารสนเทศ ความปลอดภัย การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วย
บริษัทความปลอดภัย Prey ออกรายงานกำหนดนิยามของ CIO/CTO โดยมองว่า CIO เปรียบเสมือนนักวางกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีภายในองค์กร (internal technology strategist) มีความเป็นนักธุรกิจมากกว่า ส่วน CTO เป็นวิศวกรเทคโนโลยี (tech engineer) เป็นสายเทคนิคมากกว่า
อีกนิยามที่กำหนดโดย Prey คือ CIO ต้องโฟกัสเรื่องกำไรขาดทุน (bottom line) หาวิธีเพิ่มกำไรเพื่อตอบสนองผู้ถือหุ้น หรือโจทย์จากซีอีโอ ส่วน CTO จะโฟกัสเรื่องรายได้ (top line) ทำให้ยอดขายหรือรายได้รวมเพิ่ม ขยายตลาด ขยายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
บริษัทสายไอทีมักไม่มี CIO มีแต่ CTO
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทคโนโลยีด้านไอทีมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ งานทางเทคนิคจึงกลายเป็นงานสายไอทีไปเลย บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็น Apple, Google, Facebook, Microsoft, IBM มักไม่มีตำแหน่ง CIO แล้ว (เพราะทุกอย่างรันอยู่บนระบบไอทีอยู่แล้ว) แต่ยังมีตำแหน่ง CTO ในฐานะหัวหน้าวิศวกร ดูแลเทคโนโลยีที่ใช้สร้างเป็นสินค้าหรือบริการอยู่
บางบริษัทอาจมีตำแหน่ง CPO (chief product officer) ที่ดูแลเรื่องตัวสินค้าหรือบริการโดยตรง แยกจาก CTO ที่ดูแลเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางไอที (infrastructure) ตัวอย่างบริษัทที่ใช้แนวทางนี้คือ Facebook ที่มีทั้ง CPO และ CTO
ส่วนบริษัทใหญ่ๆ บางแห่งอาจไม่มีทั้งสองตำแหน่งไปเลย ทั้งไมโครซอฟท์และแอปเปิลเป็นบริษัทที่ไม่มีทั้ง CIO และ CTO อย่างสิ้นเชิง โดยมอบหมายงานด้านเทคโนโลยีแต่ละด้านให้ผู้บริหารระดับ SVP (Senior Vice President) แทน เช่น แอปเปิลแยกตำแหน่ง SVP ด้านซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และ AI ออกจากกัน
ผลสำรวจองค์กรชี้ 86% ยังมีทั้ง CIO และ CTO แยกกัน
อย่างไรก็ตาม ถ้าเราสนใจโครงสร้างขององค์กรทั่วๆ ไปที่ไม่ใช่สายไอทีโดยตรง ผลสำรวจของบริษัท Transposit ในบรรดา CIO และ CTO จากองค์กรจำนวน 415 แห่งพบสถิติที่น่าสนใจดังนี้
- 83% ของ CIO ตอบว่าในองค์กรของตัวเองมีตำแหน่ง CTO แยกต่างหาก
- 86% ของ CTO ตอบว่าในองค์กรของตัวเองมีตำแหน่ง CIO แยกต่างหาก
- 24% บอกว่าตัวเองรับบทเป็นทั้ง CIO และ CTO พร้อมกัน
กระแส digital transformation ในองค์กรทำให้ทั้ง CIO และ CTO ระบุว่าภาระงานในช่วง 3 ปีหลังจากนี้เน้นมาที่การทำ digital transformation มากขึ้น ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเนื้องานจากเดิมมาก และผู้บริหารทั้งสองตำแหน่งก็บอกว่างานของตัวเองต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับ “กลยุทธ์ธุรกิจ” (business strategy) ขึ้นมากด้วยเช่นกัน ตัวชี้วัดหรือ KPI จึงมักเกี่ยวข้องกับการเติบโตของรายได้ (revenue growth) นอกเหนือจากอัตราการสร้างนวัตกรรม หรือระยะเวลาที่ระบบไอทีใช้งานได้ (uptime)
เมื่อรูปแบบงานของ CIO และ CTO ใกล้เคียงกันมากขึ้น งานบางอย่างจึงเป็นโครงการหรือภาระรับผิดชอบร่วมกัน โดย CIO/CTO ประมาณ 30% บอกว่าโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ ทั้งการจัดซื้อจากผู้ค้าหรือการพัฒนาขึ้นใช้เอง เป็นความรับผิดชอบร่วม ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งจากงานที่ซ้อนทับกัน เป็นโจทย์ใหม่ขององค์กรรุ่นใหม่ที่ต้องหาจุดร่วมระหว่างผู้บริหารทั้งสองตำแหน่ง
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก ZDNet
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา