ถึงเวลาช้อปของจีนมาขาย! เมื่อหยวนอ่อนค่าแตะ 4.6 บาท/หยวน กระทบส่งออกติดลบ แล้วเศรษฐกิจไทยล่ะ?

เมื่อ Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐใช้ Trade War กดดันประเทศจีนตั้งแต่การขึ้นภาษีการค้า ล่าสุดแบนเทคโนโลยีจากจีน เลยเป็นสาเหตุให้เศรษฐกิจจีนอ่อนแอลง ส่งผลต่อเนื่องให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่า ปัจจุบันค่าเงินหยวนอยู่ที่ 4 บาทกว่าๆ จะกระทบต่อไทยอย่างไร?

ภาพจาก Shutterstock

เมื่อเงินจีนอ่อนค่าเหลือ 4.6 บาท/หยวน จากจุดสูงสุดที่ 6 บาท/หยวน

อมรเทพ จาวะลา ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) บอกว่า ปัจจุบันค่าเงินหยวนอ่อนค่า 0.5% เมื่อเทียบกับค่าเงินบาทดอลลาร์สหรัฐ และถ้าเทียบกับค่าเงินบาทที่อยู่ในทิศทางแข็งค่า ทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลง 2.3% เมื่อเทียบกับค่าเงินบาท

ทั้งนี้ค่าเงินหยวนมีอ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง นับแต่ต้นเดือนต.ค.ปี 2558 เป็นช่วงที่รัฐบาลจีนเริ่มดูแลพฤติกรรมเก็งกำไรในตลาดทุนจีน โดยอ่อนค่าจาก 5.743 บาทต่อหยวน ปัจจุบันมาอยู่ที่ราว 4.625 บาทต่อหยวน

“ค่าเงินหยวนทยอยอ่อนค่าต่อเนื่องเพราะปัจจัยพื้นฐานของจีนไม่ดี การส่งออกจีนยังติดลบเพราะได้รับผลกระทบจาก Trade War แต่การอ่อนค่าครั้งนี้ไม่ได้อ่อนค่าอย่างรุนแรงเหมือนก่อนหน้านี้ เลยไม่ทำให้ตลาดตกใจ และไม่กระทบตลาดอาเซียนมากนัก”

หลังจากนี้ทิศทางค่าเงินหยวนยังอ่อนค่าอีกเล็กน้อยเมื่อเทียบค่าเงินบาท โดยมีความไม่แน่นอนจากกรณี Trade war เศรษฐกิจจีนที่เริ่มชะลอ การส่งออกมีปัญหา ทำให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์สกุลหยวนมาต่อเนื่อง

“จีนไม่อยากให้ค่าเงินอ่อนยาวนานจนมีปัญหา เพราะเงินอาจจะไหลออก และกระทบเสถียรภาพของประเทศ ขณะเดียวกันจีนมีเงินสำรองระหว่างประเทศสูง มีพันธบัตรสหรัฐอยู่ในมือ ต้องรอดูว่าเขาจะทำอะไรได้บ้าง ถ้า Trump ไม่ขึ้นภาษีอีก ค่าเงินจะเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น และหากเศรษฐกิจสหรัฐยังดี คนลดความกังวลสงครมการค้า และตลาดรอดูอยู่ว่าสหรัฐฯ จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไหม ถ้าขึ้นดอกเบี้ยเงินจะไหลกลับไปสหรัฐ ทำให้เงินหยวนและค่าเงินทั่วโลกน่าจะกลับมาอ่อนค่า”

ภาพจาก Shutterstock

เงินหยวนอ่อนค่ากระทบเศรษฐกิจไทยไหม?

เมื่อค่าเงินหยวนอ่อนค่าลง แต่ค่าเงินบาทยังแข็งค่า ทำให้สินค้าไทยที่ส่งออกไปจีนอาจจะแพงขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันการส่งออกของไทยไปจีนติดลบ 8% ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจชะลอตัว และเงินบาทยังแข็งค่า โดย 4 เดือนแรกของปี 2019 ไทยส่งออกไปจีนสัดส่วนอยู่ที่  11.34% รองจากการส่งออกไปสหรัฐที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 13.6%

ทั้งนี้เดือนม.ค.-เม.ย. 2019 การส่งออกรวมของไทยติดลบ 1.86% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และในไตรมาส 2 มีโอกาสติดลบ 3-4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ปัญหาการส่งออกติดลบมาตั้งแต่ปีก่อน ซึ่งการส่งออกติดลบทั้งภูมิภาค อย่างไรก็ตามมองว่าทั้งปีการส่งออกไทยจะกลับมาขยายตัวได้หากมีความชัดเจนเรื่องสงครามการค้า (Trade War)

“ปีนี้การส่งออกไทยยังไม่ติดลบรุนแรง ซึ่งเราจะเห็นภาพที่ดีขึ้นจากนักท่องเที่ยวจีนที่ยังมาเที่ยวเพิ่มขึ้น แม้จะลดลงเล็กน้อยจากไตรมาส 1 ของปีนี้ ส่วนหนึ่งเพราะฐานเดิมอยู่ในระดับสูง แต่เชื่อว่าครึ่งปีหลังจำนวนนักท่องเที่ยวจีนน่าจะขยายตัวดีเพราะอานิสงค์จากครึ่งปีที่แล้วฐานค่อนข้างต่ำ”

ภาพจาก Unsplash

ทางออกของไทย และเศรษฐกิจหลังจากนี้

ปัจจุบันประเทศไทยจะได้รับผลกกระทบมากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ดังนั้นเมื่อค่าเงินหยวนอ่อนค่า จะกระทบต่อคนที่ทำธุรกิจส่งออกไปประเทศจีน ทั้งนี้ทางแก้ปัญหาของไทยแบ่งเป็น 3 ข้อ ได้แก่

  1. ผู้ประกอบการต้องปรับตัว เมื่อเจอการกดดันราคาจาก Trade war ต้องหันมาเพิ่มมูลค่าสินค้าให้มากขึ้น
  2. ต้องพึ่งพาตลาดประเทศอื่นๆ เช่น ตลาดสหรัฐยังโต ยิ่งจีนส่งออกไปสหรัฐฯ ไม่ได้อาจเป็นโอกาศให้ไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐได้มากขึ้น ต้นปีถึงปัจจุบันการส่งออกไทยไปสหรัฐขยายตัว 26%
  3. สร้างภายในให้เข็มแข็ง ป้องกันภายนอกที่อ่อนแอ แรงผลักดันหลักจะมาจากการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภายในประเทศ ให้ภาคธุรกิจลดต้นทุนได้มากขึ้น

หลังจากนี้สงรามการค้าจะยืดเยื้อต่อไป จากที่สหรัฐฯ พยายามไม่ให้จีนเป็นมหาอำนาจของโลก ผ่านการออกมาตรการควบคุมเทคโนโลยี ประเมินว่าสถานการณ์นี้ไม่ถึงขั้นฉุดเศรษฐกิจโลกให้เข้าขั้นวิกฤต และโดยเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยและอาเซียนน่าจะปรับตัวดีขึ้น 

ส่วนเศรษฐกิจในประเทศไทย กำลังซื้อระดับกลางถึงบนยังดีอยู่ และครึ่งปีหลังเมื่อการเมืองมีความชัดเจน ภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือกำลังซื้อระดับล่าง เช่น นโยบายช่วยลดค่าครองชีพ มาตรการกระตุ้นต่างๆ อย่างไรก็ตามเครื่องยนต์หลักที่จะขับเคลื่อนประเทศจะมาจากการลงทุนภาครัฐ และภาคเอกชน และหากรัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นจะดึงการลงทุนจากต่างประเทศได้มากขึ้น

สรุป

เมื่อไทยต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก และคู่ค้าสำคัญอย่างจีนกลับได้รับผลกระทบจาก Trade war ดังนั้นไทยต้องเริ่มต้นพึ่งพาตัวเอง ทั้งการเพิ่มมูลค่าสินค้า เพิ่มนวัตกรรม สร้าง S-Curve ใหม่ในธุรกิจไทย เพื่อสู้กับการแข่งขันราคาในตลาดโลก แต่ถ้าการเมืองยังไม่นิ่งแบบนี้ต่างชาติและภาคเอกชนจะกล้าลงทุนเพิ่มหรือ? เป็นเรื่องที่ต้องถามรัฐบาลชุดปัจจุบันของไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

จากนักข่าวการเงินหนังสือพิมพ์ธุรกิจย่านประชาชื่น ผันตัวเข้าโลกออนไลน์ ความท้าทายครั้งใหม่คือการเล่าเรื่องเงินให้เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง