CIMBT ชี้เศรษฐกิจไทยต้นปี 2019 “กำลังซื้อต่ำ-ตจว.แย่-ส่งออกติดลบ-รัฐลงทุนช้า”

เศรษฐกิจโลกชะลอตัวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง ว่าแต่ผลสรุปภาพรวม GDP ไทยไตรมาส 1 จะเป็นอย่างไร? และหลังจากนี้ทั้งปี 2019 จะเป็นอย่างไร?

CIMBT คาดสภาพัฒน์เปิดตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2019 โต 3.1%

อมรเทพ จาวะลา ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) บอกว่า วันที่ 21 พ.ค. 2019  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) จะรายงานตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ของปีนี้ ทางสำนักวิจัยคาดว่า GDP ไทยไตรมาส 1/2019 จะเติบโต 3.1% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ปัจจัยบวกมาจากการบริโภคภาคเอกชนเติบโตต่อเนื่อง เช่น กลุ่มรถยนต์ กลุ่มท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ขนส่ง และการสื่อสาร แสดงให้เห็นว่ากำลังซื้อในระดับกลาง-บนยังอยู่ในภาพที่ดี ขณะเดียวกันกำลังซื้อระดับล่างยังอ่อนแอ โดยเฉพาะรายได้ภาคเกษตร และรายได้นอกภาคการเกษตรอาจเติบโตน้อย ส่วนการลงทุนของภาครัฐยังล่าช้า การส่งออกคาดว่าจะติดลบ และการท่องเที่ยวเติบโตเพียงเล็กน้อย

ไตรมาส 2 และเศรษฐกิจไทยปีนี้ต้องลุ้นเรื่องอะไรบ้าง?

ทางสำนักวิจัยคาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจโตช้า คาดว่าทั้งปี 2019 GDP ไทยจะโต 3.7% เมื่อเทียบชวงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยความเสี่ยงหลักที่จะกดดันเศรษฐกิจไทยจะมาจากภาคต่างประเทศเป็นหลัก ได้แก่

ภาพจาก Shutterstock
  • สงครามการค้า (Trade war) ระหว่างสหรัฐฯ และจีน อาจทำให้การส่งออกไทยติดลบทั้งไตรมาส 1 ไปถึงไตรมาส 2 ทำให้การส่งออกอาจโตต่ำกว่า 3-4% ผลกระทบหลักหากทั้ง 2 ประเทศเจรจาไม่สำเร็จ จะทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอ ทำให้ไทยและอาเซียนส่งออกสินค้าไปจีนได้ยากขึ้น
  • ค่าเงินบาทยังกลับมาแข็งค่าขึ้นเพราะตลาดกังวลเรื่อง Trade war จากเดิมที่ค่าเงินบาทแข็งค่าเพราะไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง มีรายได้ท่องเที่ยวมาก และปัจจุบันราคาน้ำมันลดลงทำให้ประเทศไทยเกินดุลการค้ามากขึ้น อย่างไรก็ตามถ้าปัจจัยต่างๆ ในตลาดโลกมีความชัดเจนค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าแตะระดับ 32.00 บาต่อดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนปัจจัยเสี่ยงในประเทศไทยต้องจับตา 3 ปัจจัย ได้แก่

  • หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้าจะทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนออกไป โดยนักลงทุนจับตามองความต่อเนื่องนโยบายต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โครงส้างพื้นฐานรถไฟสายต่างๆ ฯลฯ
  • ความเสี่ยงจากกำลังซื้ือระดับล่างต่ำ แต่มีหนี้สูง ทำให้เศรษฐกิจในต่างจังหวัดยังแย่ แม้ว่าจะมีเงินอุดหนุนจากภาครัฐเพิ่ม แต่ต้องรอความชัดเจนรัฐบาลเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ การเจรจา FTA กับ EU จึงจะกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว
  • จับตาธนาคารกลางประเทศอื่นๆ ว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ แต่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยทั้งปี 2019 จะคงไว้ที่ 1.75% โดยธนาคารพาณิชย์จะไม่เร่งขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพราะสภาพคล่องในประเทศยังสูง

สรุป

เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้แค่ไหน ต้องลุ้นความชัดเจนของรัฐบาลไทยจะขยับไปทางไหน เพื่อกระตุ้นให้นักลงทุนกล้าใส่เงินในไทย และมีเงินมาหมุนเศรษฐกิจ ส่วนปัจจัยต่างประเทศอย่าง Trade War ที่ควบคุมได้ยาก ไทยต้องใช้โอกาสนี้ปรับตัวในระยะยาวเพิ่มมูลค่าในสินค้า ทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นมากกว่าแข่งขันลดราคากับประเทศอื่นๆ ที่ทำสินค้ากลุ่มเดียวกัน

 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

จากนักข่าวการเงินหนังสือพิมพ์ธุรกิจย่านประชาชื่น ผันตัวเข้าโลกออนไลน์ ความท้าทายครั้งใหม่คือการเล่าเรื่องเงินให้เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง