ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เผยแพร่บทความ “เร่งยับยั้ง ก่อนเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ระยะที่ 4” ขณะเดียวกัน ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย เผยแพร่บทความเรื่องโคโรนาไครซิสลามไม่หยุดฉุดจีดีไทย -6.4% ผ่านโพสต์ทูเดย์
สาระสำคัญ ดังนี้
เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงชะลอตัวกว่าเดือนที่ผ่านมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จากจีนแพร่ไปเอเชีย ยุโรปและอเมริกา จากนั้นก็มีมาตรการ lockdown ตามมา ซึ่งมีผลดีในแง่การลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส แต่
ขณะเดียวกัน มาตรการเหล่านี้ก็ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอลงแรงหรือหยุดชะงักตามได้ด้วย ส่งผลให้เกิดการจ้างงานลดลง อัตราการว่างงานสูงขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อแผ่วลง เศรษฐกิจประเทศสำคัญหลายประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย ส่วนความเลวร้ายของขนาดการพังทลายทางเศรษฐกิจนั้นยังไม่สามารถตอบได้
วิกฤตเศรษฐกิจหลายครั้งที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนรูปแบบเสมอ นักเศรษฐศาสตร์ไม่สามารถคาดการณ์วิกฤตได้ เช่น วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ 2551 รอบนี้ ปี 2563 เกิดวิกฤตโควิด-19 หากคุมไม่อยู่จนเกิดวิกฤตเลวร้ายที่สุดคือภาคการเงิน ซึ่ง CIMB มองว่าทั่วโลกยังไม่วิกฤต เพียงแต่เข้าสู่ภาวะการถดถอยที่ประเทศสำคัญมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐิจที่ชะลอลงแรงหรือหดตัว
CIMB ปรับมุมมองทางเศรษฐกิจไทยจากเดิมขยายตัว 1.7% เป็นหดตัว 6.4% ตามภาวะการถดถอยของเศรษฐกิจโลก ภาวะการถดถอยนี้น่าจะทำให้เศรษฐกิจถึงจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 และน่าจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง แต่หากสถานการณ์เลวร้ายลงอีก เศรษฐกิจไทยคงเข้าสู่ภาวะวิกฤตตามเศรษฐกิจโลก
ซึ่งก่อนหน้านั้น เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเติบโตช้าก่อนไวรัสระบาดเสียอีก ทั้งจากปัญหาสงครามการค้า ภัยแล้ง งบประมาณที่ล่าช้า คำถามคือ ไทยอยู่ห่างจากวิกฤตมากน้อยเพียงใด อยู่เฟสไหนในช่วงวิกฤตนี้ และจะหนีพ้นวิกฤติไปยังไง
CIMB แบ่งเป็น 4 เฟสสู่วิกฤตไวรัสโควิด-19
เฟส 1 การระบาดไวรัสในจีนกระทบท่องเที่ยว ส่งออก การผลิต จำนวนนักท่องเที่ยวหดตัวมากกว่าครึ่ง ภาคการผลิตชะลอตามการส่งออก
เฟส 2 โควิด-19 แพร่เข้ามาในไทย นักท่องเที่ยวชาติอื่นเริ่มลดลง ผู้คนหลีกเลี่ยงพื้นที่แออัดกระทบการบริโภค ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อ่อนแอ ยอดค้าปลีกลดลง
**เฟส 3 ผลกระทบลามมาภาคการเงิน ตลาดหุ้นไทยมีแรงเทขายหนัก นักลงทุนเทขายตราสารหนี้ ทางการออกมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง ปรับลดดอกเบี้ยนโยาย มาตรการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ**ไทยกำลังอยู่ในเฟสนี้
นักลงทุนกังวลว่าธุรกิจสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว การขนส่ง และนำ้มันอาจมีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ ส่งผลให้ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น นักลงทุนเทขายตราสารหนี้ รวมถึงตราสารหนี้ที่แทบจะเรียกว่าปลอดภัยที่สุดในโลกนั่นคือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาพันธบัตรลดลงหรืออัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้น จะเกิดภาวะความแตกตื่นทั่วโลกรวมทั้งไทยด้วย ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมมือกับหลายภาคส่งนออกมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบธนาคารพาณิชย์เพื่อช่วยพยุงความผันผวนในตลาดตราสารหนี้
รวมทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.75% ต่อปีของ กนง. เพื่อเสริมสภาพคล่องในระบบ นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเฟส 3 มีความเป็นไปได้ว่า กนง. จะลดดอกเบี้ยอีกครั้งในไตรมาส 2 เหลือ 0.50% ต่อปี ภาครัฐออกมาตรการพยุงสภาพคล่องและมาตรการดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ช่วยยืดเวลาให้อยู่ช่วงต้นของเฟส 3 นานขึ้น
ภาวะความไม่แน่นอนในตลาดโลกน่าจะส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในทิศทางแข็งค่าเทียบสกุลอื่นๆ เงินบาทน่าจะอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐไปถึง 34 บาท ปลายปีนี้น่าจะอยู่ที่ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
เฟส 4 เกิด credit crisis ความสามารถในการชำระหนี้ และเกิด wealth effect จิตวิทยาต่อผู้บริโภคผ่านความมั่งคั่ง เมื่อคนรู้สึกว่าตัวเองจนลง จะลดการอุปโภคบริโภค เกิดภาพใยแมงมุมที่โยงจากปัญหาไวรัสสู่การท่องเที่ยว การส่งออก การผลิต การบริโภค และภาคการเงินวนครบทั้งวงจร ฉุดให้เศรษฐกิจดำดิ่งจนเกิดการว่างงานสูง และอาจลากยาวจนเศรษฐกิจถดถอยไปได้ราว 1 – 2 ปี
สำนักวิจัย CIMB เสนอความเห็น 3 ข้อ เพื่อยื้อเวลาให้เราประคองตัวได้หรือพลิกกลับมาแข็งแกร่งได้ในครึ่งปีหลัง
หนึ่ง นโยบายการเงินต้องผ่อนปรน และคิดนอกกรอบ
วันนี้ ทั้งครัวเรือนและธุรกิจไม่ว่าจะเป็น SME หรือธุรกิจขนาดใหญ่ ต่างขาดเงินสดหรือขาดสภาพคล่อง จากการถูกเลิกจ้าง ยอดขายตก ภาระหนี้สูง แม้ที่ผ่านมา กนง. ลดดกเบี้ยแล้ว แต่คนจำนวนมากยังมีภาระหนี้สินอยู่ มาตรการของ ธปท. ในการดูแลให้คนยังมีความสามารถในการชำระหนี้ เช่น ลดยอดการชำระหรือยืดเวลาการชำระหรือให้ชำระเพียงดอกเบี้ยได้ชั่วคราว ต้องพิจารณาว่าปัญหาทางเศรษฐกิจจะไม่ลากยาวและลูกหนี้สามารถฟื้นได้เร็วเมื่อหมดโครงการนี้ มิเช่นนั้น ยอดหนี้เสียพุ่งได้ในอนาคต
มาตรการทางการเงินที่น่าสนใจคือ การอัดฉีดสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจผ่านการซื้อสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อลดความผันผวนด้านราคา ให้ธุรกิจมีกระแสเงินสดอยู่รอดได้
สอง นโยบายการคลังต้องรวดเร็ว ทั่วถึง
คนขาดรายได้จากยอดขายตกหรือว่างงาน ความเชื่อมั่นหาย ภาครัฐสามารถเติมเงินในกระเป๋าคนได้เพื่อให้เขาดำรงชีพได้ในภาวะเช่นนี้ สามารถโอนให้หัวหน้าครัวเรือนได้แล้วเพียงพอต่อการใช้จ่าย เช่น ราว 5,000 บาทต่อคนในช่วง 3 เดือนนี้ หรือคิดมาตรการจ้างงาน หรือซื้อหาสินค้าที่จำเป็นแจกเองผ่านหน่วยงานรัฐหรือชุมชน รัฐควรดึงมนุษย์เงินเดือนด้วยการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่ใช่เพียงเพิ่มลดหย่อน อาจปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐให้คนมีเงินพอใช้จ่ายหรือดำรงธุรกิจต่อได้
งบการลงทุนจากภาครัฐน่าจะเป็นตัวหลักในการเร่งสร้างงานและผลักดันการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคช่วงการลงทุนภาคเอกชนถดถอย ซึ่งปกติแล้ว การลงทุนภาครัฐจะขยายตัวมากกว่าภาวะปกติเพื่อเป็นตัวสนับสนุนในวิกฤตที่เอกชนอ่อนแอ ที่อาจต้องแลกมาด้วยภาระการคลังมากขึ้น รวมถึงการเข้าซื้อกิจการหรืออุ้มธุรกิจที่ล้ม
สาม เรียนรู้ที่จะปรับตัว
ไวรัสระบาดส่งผลต่อการทำงานและการใช้ชีวิต เราไม่รู้ว่าจะต้องเผชิญกับภาวะเช่นนี้อีกครั้งในอนาคตหรือไม่ หากไม่มียากรัษาหรือวัคซีนป้องกัน สิ่งที่เราทำได้คือปรับตัว เช่น หากไม่มีงานในเมืองก็ต้องสร้างงานในชุมชน หรือสร้างตลาดสินค้าและรายได้ในพื้นที่ต่างๆ เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ และยืดหยุดคล่องตัวพอจะปรับเปลี่ยนได้เสมอ
ที่มา – CIMB, โพสต์ทูเดย์
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา