ศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์ CHRO จากทรู กับการสร้างวัฒนธรรมองค์กร หลังการควบรวม True-dtac

ผ่านไป 1 ปีกว่าๆ กับการควบรวมกิจการระหว่าง True และ dtac และกลายเป็น True Corporation ในเวอร์ชั่นใหม่ ที่ประกาศอย่างท้าทายว่าจะกลับมาสร้างกำไรให้ได้ ถือเป็นเรื่องไม่ธรรมดาในทางธุรกิจ แต่สิ่งที่หลายคนจับจ้องอยู่ไม่น้อยคือ เรื่องการเปลี่ยนผ่าน และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่จะหลอมรวมทุกคนเข้าด้วยกันและมองเห็นเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการเป็น Telco-Tech Company อันดับ 1 ในประเทศไทย

ศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บอกว่า ภายหลังการควบรวม ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรวมพนักงานจาก 2 องค์กรเข้าด้วยกัน เรื่องวัฒนธรรมองค์กรคือความท้าทายอันดับ 1 การควบรวมจะประสบความสำเร็จหรือไม่ นี่คือตัวชี้วัดสำคัญที่สุด ไม่ใช่แค่การทำงานให้ประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ทุกคนต้องอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ

true

ไม่มีทรู ไม่มีดีแทค ต่อไปคือ True Corp เท่านั้น

ความโชคดีอย่างหนึ่งของทรู คือ พนักงานจาก 2 องค์กรมีสิ่งที่เหมือนกันมากคือ การเป็นคนที่ชอบนวัตกรรมและเรียนรู้ ทุกคนพร้อมที่จะเรียนรู้และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ทำให้ปีแรกทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี

“True เป็นองค์กรไทยแท้ ขณะที่ dtac มีความเป็นตะวันตกจากผู้ถือหุ้นคือ Telenor ดังนั้นจะรวมกันได้ ต้องวางแผนตั้งแต่ระดับบนสุดคือผู้บริหารลงมาถึงพนักงานทุกคน อันดับแรกเลย ต่อไปไม่มี True ไม่มี dtac ทุกคนคือทีมเดียวกัน จากนี้ไปคือ True Corporation คือ One Team With Trust and Respect”

จากนั้นต้องสร้างให้ทุกคนเห็นภาพเดียวกันว่า ทรู ต้องการเป็นองค์กร High Performance Driven Organization เป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จ ตอบสนองต่อผู้ถือหุ้น ต่อผู้ใช้บริการ และต่อสังคม ปิดท้ายด้วย การเป็น Customer-Centric มีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง มองความต้องการของลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้บริษัทประสบความสำเร็จ

true

สร้างคู่มือการเปลี่ยนผ่านกับเคล็ดลับ 4C

การสร้างองค์กรหนึ่งเดียวคือ True มาพร้อมกับการสร้าง Culture Playbook หรือคู่มือเพื่อให้พนักงานทุกคนมีแนวทางในการปฏิบัติตัวในองค์กรเดียวกัน โดยประกอบด้วย 4C ประกอบด้วย

  • Compassion เห็นกับประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน
  • Creditbility มีความเชื่อใจซึ่งกันและกัน
  • Co-Creation ร่วมกับสร้างสรรค์สิ่งใหม่
  • Courage กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ กล้าเปลี่ยนแปลง

ทั้ง 4 องค์ประกอบนี้จะเป็นแนวทางสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมองค์กร แต่ก็ต้องมีกิจกรรมต่างๆ มากมายเพื่อหลอมรวมความคิดและสปิริตให้เกิดขึ้น และนำมาสู่ 6 สิ่งที่จะสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่

true

6 แนวทางปฏิบัติสร้างวัฒนธรรมองค์กรร่วมกัน

ศรินทร์รา บอกว่า การสร้างวัฒนธรรมองค์กรเรื่องของ Mind set เป็นส่วนที่สำคัญและยาก ดังนั้นจึงกำหนดเป็นกิจกรรม 6 ด้านที่ทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติร่วมกัน เพื่อให้เห็นว่าเราคือ คนของทรูเหมือนกัน ซึ่งประกอบด้วย

  • Culture Playbook คู่มือที่เป็นแนวทางในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งกำหนดเป็น 4C ไว้ตามที่กล่าวไปก่อนหน้านี้
  • Coaching Culture ให้ผู้บริหารได้ใกล้ชิดกับพนักงาน และมี Reverse Mentoring ให้น้องสอนพี่ด้วย ทุกคนได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้จากบนลงล่างและล่างขึ้นบนด้วย
  • On-ground Activity ไปหาพนักงานที่หน้างาน จะได้สะท้อนเสียงมาจากลูกค้า ได้รู้ความต้องการ ได้รู้ว่าอะไรดีไม่ดี
  • High Performance Culture การวัดผลแบบใหม่เพื่อจะได้พัฒนาอยู่เสมอ
  • Culture Igniter ตัวแทนของแต่ละแผนก เพื่อรู้ว่าต้องปรับปรุงแก้ไขพัฒนาอะไรในทุกแผนก
  • Hackathon เป็นวิธีได้ไอเดียใหม่ๆ จากทุกคนในบริษัท และนำไอเดียไปลงมือทำจริงให้เห็นผล รวมถึงทำโปรแกรม Ask Us Anything ให้พนักงานที่สมัครเข้ามา ได้พูดคุยถามตรงกับ CEO สร้างความเชื่อใจให้เกิดขึ้น

true

เป็นองค์กรที่อยากทำงานด้วยมากที่สุดในอาเซียน

ศรินทร์รา บอกว่า การเป็นองค์กรที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่ต้องเป็นในระดับอาเซียน การได้รับรางวัลเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้รู้ว่า ทรู อยู่ตรงไหนของเป้าหมายและจะได้รู้ทิศทางการพัฒนาในก้าวต่อๆ ไป

ปัจจุบันทรูมีพนักงานเป็น Gen Y เป็นกลุ่มหลักกว่า 70% ขณะที่ Gen Z ซึ่งเป็นกลุ่มใหม่มีสัดส่วนประมาณ 10% ขณะที่ส่วนที่เหลือคือ Gen X และ B อีกเล็กน้อย กล่าวได้ว่ามีความหลากหลายทั้งเพศ อายุ และทักษะความรู้ การให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ ความสุขในการทำงานและการพัฒนาคือหัวใจสำคัญ

ในแผนการสร้างองค์กรที่น่าทำงานด้วยมากที่สุด ก็เพื่อดึงดูดให้คนมีความสามารถเข้ามาร่วมงานด้วย พร้อมกับพัฒนาคนในองค์กรให้สามารถ reskill upskill ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดเป้าหมายที่จะสร้าง Digital Citizens ให้เกิดขึ้น 2,400 คนภายในปีนี้ และเพิ่มเป็น 5,000 คนภายในปี 2026

แน่นอนว่า ทรู เน้นสร้างคนให้มีความสามารถ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะอยู่กับองค์กรทรูตลอดไป แต่มั่นใจว่า เมื่อวันหนึ่งที่คนเหล่านี้ออกไปเติบโตภายนอกองค์กร นั่นก็คือความภาคภูมิใจที่ได้สร้างบุคลากรที่มีความสามารถ และต้องไม่ลืมว่า นี่คือการสร้างคนให้กับสังคมด้วย

true

พัฒนา True Next Gen สร้างผู้นำแห่งอนาคต

การเป็นองค์กรที่น่าทำงานด้วยกับเป้าหมายดังกล่าว สอดคล้องกับโปรแกรม True Next Gen เป็นโปรแกรมการพัฒนาคนของทรู ทำมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 13 ปี สร้างคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพเข้าสู่ตลาดงาน รวมทั้งหมด 653 คน และกำลังเปิดรับสมัครรุ่นใหม่ปี 2567 โดยเน้น 3 ด้าน

  • Diversity ความหลากหลาย เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร ช่วยเพิ่มมุมมอง เพิ่มความคิดสร้างสรรค์ เพิ่มทักษะทั้งด้าน Hard SKill และ Soft Skill รวมถึงการคิดเชิงวิเคราะห์
  • Fresh Perspective ความแตกต่างของเจนเนอเรชั่น จะสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ จากประสบการณ์ความรู้ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมของรุ่นพี่ ผนวกพนักงานอายุน้อยกว่าแบ่งปันความคล่องแคล่วทางดิจิทัล สามารถส่งเสริมสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่มีชีวิตชีวา
  • Customer Centric เพิ่มการเข้าถึงลูกค้า ด้วยแนวคิดของทรูที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง คนรุ่นใหม่จะมีแนวคิดและมุมมองในการใช้งานดิจิทัล ที่ใกล้เคียงและเข้าใจความต้องการลูกค้าในปัจจุบัน ได้ดียิ่งขึ้น

โปรแกรมในปีนี้ แบ่งออกเป็น 2 แทรค ตามคุณสมบัติที่ต้องการ ได้แก่ 1. Tech Talent และ 2. Business Talent โดยจะได้รับโอกาสในการทำงานใกล้ชิดกับผู้บริหารระดับสูง ได้รับการฝึกหมุนเวียนไปในทุกกลุ่มธุรกิจ ในบริษัทตลอดระยะเวลา 18 เดือน คุณสมบัติและดีเอ็นเอของ True Next Gen จะต้องมีความเป็นผู้นำและพร้อมผลักดันวิสัยทัศน์บริษัทในการก้าวสู่การเป็นผู้นำด้าน Telecom-Tech ของไทย

โดยเบื้องต้น ผู้สมัครจะต้องมีอายุต่ำกว่า 28 ปีบริบูรณ์ หรือเทียบเท่า สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในสาขาใดก็ได้ ผู้สมัครจะต้องผ่านการทำแบบประเมินออนไลน์ การสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว และเข้าร่วมกิจกรรมบูทแคมป์เพื่อคัดเลือกเข้าสู่โปรแกรม True Next Gen เปิดรับสมัครแล้ววันนี้ จนถึงสิ้นเดือนมีนาคมนี้

การก้าวขึ้นเป็น Telco-Tech Company อันดับ 1

ศรินทร์รา บอกว่า เวลานี้ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญ แต่สุดท้ายองค์กรก็ต้องขับเคลื่อนด้วยคน การจะเป็น Telco-Tech Company อันดับ 1 ก็เช่นเดียวกัน คน คือส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้ทรูไปถึงจุดนั้น ดังนั้นการให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน การทำโปรแกรม True Next Gen มาตลอดหลายปีก็เพื่อตอบโจทย์นี้เช่นเดียวกัน

การจะเป็น Telco-Tech Company อันดับ 1 ได้ วางกรอบการชี้วัดคร่าวๆ คือ ต้องเป็น

  • World-class Customer Experience – ตอบสนองลูกค้าได้ทุก Segment
  • Digital Growth Champion – สร้างการเติบโตด้านดิจิทัลทั้งในองค์กรและให้กับสังคมไทย
  • Future-ready Performance – เตรียมพร้อมให้องค์กรมีประสิทธิภาพ เตรียมพร้อมให้พนักงานรับมืออนาคตที่ไม่แน่นอน

จากนี้ต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า True เวอร์ชั่นใหม่ หลังการควบรวมทรู-ดีแทค จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน พร้อมกับสร้างผลประกอบการเป็นบวกครั้งแรกได้หรือไม่ ถ้าทำได้จริง นั่นคือก้าวแรกของการเป็น Telco-Tech Company พร้อมกับองค์กรที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดในอาเซียน ก็ถือว่าไม่เกินจริง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา