ทางเดิน “ฟาร์มโชคชัย” ล้างหนี้ 500 ล้าน สู่ธุรกิจพันล้านที่ไร้เงินกู้

หนี้สิ่งที่ใครๆก็ยี้ แต่ถือเป็นบทพิสูจน์ความสามารถของนักธุรกิจหลายคน โดยเฉพาะโชค บูลกุลกรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัท ฟาร์มโชคชัย ที่เปลี่ยนหนี้ธุรกิจ 400-500 ล้านบาท ให้กลายเป็น ธุรกิจมูลค่าหลักพันล้านโดยไม่ได้กู้เงินสักบาทมาทำกิจการ

เปิดเคล็ดล้างหนี้ 500 ล้านบาท เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส

โชคบอกว่า วิธีการจัดการหนี้ 400-500 ล้านบาท เราต้องตัดขายทรัพย์สิน เราต้องเลือกว่าจะขายธุรกิจบางส่วนที่เราแข่งขันไม่ได้ และเลือกเก็บธุรกิจที่เป็นจุดแข็งของเรา ซึ่งเราอย่าไปมองแต่เรื่องงบดุล แต่ต้องดูที่กระแสเงินสด ที่แน่ๆ ต้องมีรายได้มากกว่ารายจ่าย

ภาพจาก กรุงศรีคอนซูมเมอร์

เมื่อเจอวิกฤต เราต้องมองภาพใหญ่ ดูว่าอะไรคือปัญหา บางคนกลัวเรื่องชื่อเสียงว่าจะทำยังไงให้เสียหน้าน้อยที่สุด เราเอาเวลามาวิเคราะห์โฟกัสที่จุดแข็งและความคิดสร้างสรรค์ อย่างฟาร์มโชคชัยเราตระหนักว่าเราเก่งเรื่องเกษตร ธุรกิจต้นน้ำเราต้องทำที่เรารู้ลึกให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ

หนี้ 400-500 ล้านบาทเมื่อปี 2537 สมมติฐานว่าสะสมมาตั้งแต่ปี 2535-2536 เกิดขึ้นเพราะเราไม่ได้บริหารธุรกิจบนจุดแข็งของเรา เราทำนมพร้อมดื่มฟาร์มโชคชัยซึ่ง เราอาจจะสู้การตลาดของบริษัท Retail ไม่ได้ ทำให้มันขาดทุน ที่สำคัญมีจังหวะคนเสนอซื้อพอดี เป็นส่วนที่ทำให้เราจัดการหนี้ได้ 2-3 ปีถัดมา

ส่วนธุรกิจเกษตร ที่เป็นธุรกิจต้นน้ำ ของฟาร์มโชคชัยที่มีวัวเป็นหมื่นตัว ตอนแรกผู้ใหญ่ก็ไม่ได้คิดว่าจะทำอะไรต่อ แต่ผมมองว่าธุรกิจหลักเรายังมีโอกาสโต ตอนนั้นผมเพิ่งเรียนจบกลับมาจากต่างประเทศผู้ใหญ่ก็แบ่งส่วนธุรกิจอื่นที่ต้องการไปทำ และก็มีส่วนเกษตรให้ผม ซึ่งผู้ใหญ่ไม่ได้ให้เงินมาเพิ่ม เราบริหารทำให้ดีขึ้นจนพัฒนาเป็นทุกวันนี้

ภาพจาก ฟาร์มโชคชัย

ธุรกิจพันล้าน แต่เป็นเงินสดทั้งหมด ไม่มีหนี้สักบาท

ตอนนี้กลุ่มฟาร์มโชคชัยเรามี 7 บริษัทแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นเกษตรและปศุสัตว์  60-70% ส่วนที่ 2 คือธุรกิจบริการ เช่น ร้านอาหาร โรงแรม และ Retail ฯลฯ ส่วนที่ 3 คือ อสังหาริมทรัพย์

ซึ่งทั้งหมดเป็นธุรกิจเงินสด แม้จะมีมูลค่าหลักพันล้านบาท แต่ 26 ปีที่ผ่านมา เราก็ใช้เงินสดมาตลอดไม่ได้กู้เงินเลย ซึ่งส่วนหนึ่งก็เพราะเป็นธุรกิจที่ทำมานาน

“สำหรับผมตอนเด็ก อยู่ตปท. แม่ให้เงินเป็นก้อนมาบริหารเอง แรกๆ ก็ไม่พอ เพราะพอมีอะไรที่อยากได้ ก็กระโจนใส่ แต่การไม่มีเงินจะกิน ไม่มีเงินซื้อของชีวิตประจำวัน ก็เป็นบทเรียนและเป็นจุดเริ่มต้นในการบริหารเงินในบริษัท

ภาพจาก Shutterstock

การบริหารเงินของเราจะแบ่งเป็น 5 ส่วนคือ 1. ส่วนที่กันไว้ลงทุน 2. ส่วนที่สำรองไว้สำหรับเงินเฟ้อ 3. เงินออมของบริษัท 4.เงินเผื่อเตรียมเอาธุรกิจออกหากไม่สำเร็จ 5. เงินของขวัญแก่พนักงาน แม้บริษัทเราไม่มีโบนัส แต่พนักงานจะเห็นว่าต้องโฟกัสธุรกิจว่าถ้าเงินเหลือจาก 4 ส่วนก็จะกลายเป็นของขวัญของพนักงาน ซึ่งสัดส่วนการบริหาร 5 ส่วนนี้แต่ละปีไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยในแต่ละปี เช่น กำไรเยอะ ออมเยอะ ฯลฯ

ส่วนที่เขากู้เงินมาทำธุรกิจ เหตุผลหลักเขาอาจะต้องการขยายธุรกิจให้เติบโตมากขึ้น เลยเอาเงินคนอื่นมาใช้ก่อน แต่ต้องตั้งคำถามว่าทำไมเขาอยากจะใหญ่ขึ้น บางคนบอกว่าเพราะเห็นโอกาส บางคนก็เกิดจากการเทียบตัวเองกับคนอื่นว่าเขามีก็อยากมีบ้าง ซึ่งเรื่องนี้อาจจะทำให้เกิดปัญหาในอนาคต

อย่างไรก็ตามเราไม่ควรกลุ้มใจ เราต้องมี Perspective ที่ดี และเห็นว่าความคุ้มค่ามันอยู่ตรงไหน เราต้องมองต่างมุมจากคนอื่นทุกเรื่องมันเป็นโอกาสทั้งนั้น ผมโอเคกับธุรกิจเป็นพันล้านที่ไม่มีหนี้เราสามารถเลิกได้ มันทำให้เราเป็นศิลปินมากกว่า

ภาพจาก Shutterstock

บริหารธุรกิจยังไงให้ ไหลลื่น เติบโต

เราต้องดูจุดแข็ง ที่คนอื่นทำเหมือนเราไม่ได้ เช่น ฟาร์มโชคชัยสร้างวัวให้มียีนเฉพาะ เป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของเอเชียะวันออกเฉียง จึงกลายเป็นเรื่องการสร้างแบรนด์ ซึ่งเราผลิตวัวแบบนี้ได้ไม่มาก แต่ความต้องการในตลาดไทยและต่างประเทศเยอะ เราก็ต้องเลือกลูกค้า หรือเรื่องการท่องเที่ยวฟาร์มวัว ถ้าใครจะทำเขาต้องลงทุนเยอะมากตั้งแต่ทำฟาร์ม ฯลฯ

ขณะเดียวกันธุรกิจเป็นเรื่องไม่มีที่สิ้นสุด อย่างเรามีธุรกิจหลักเป็นฟาร์ม เมื่อทำระบบดีๆ นักท่องเที่ยวร้านอาหาร ก็ตามมา เรื่องพวกนี้เกิดจากการสร้างความประทับใจ ซึ่งกลายเป็นโอกาสใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ

ธุรกิจที่ไปไม่รอดเนี่ย ส่วนใหญ่มักจะคิดว่าเขาประสบความสำเร็จแล้ว โดยเฉพาะยุคที่มี Distruptive แบบนี้ ต้องปรับตัวตลอดเวลา

ภาพจาก Shutterstock

การทำธุรกิจไม่จำเป็นต้องดูแต่ตัวเลขทางบัญชีอย่างเดียว บางทีเราต้องดูที่ตัวธุรกิจซึ่งอาจจะเห็นช่องทางอื่นๆ เพิ่มขึ้นในขณะเดียวกันเราไม่ได้ต้องการที่จะมีกำไรเยอะ แต่อาจมีการแข่งขันภายในบริษัทบ้างเพื่อการพัฒนาองค์กร

ผมมองเรื่องเฮงมาก่อนเก่ง เฮงที่เห็นโอกาสที่คนอื่นไม่เห็น ส่วนผมเฮงเรื่องโลเคชั่นที่ดี ทำให้เราพลิกธุรกิจปศุสัตว์มาขยายทำธุรกิจอื่นๆ ได้ แม้ว่าเฮงจะมาก่อนเก่ง แต่หลังจากนั้นเราต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการด้วย

ภาพจาก Shutterstock

Passion คือ อยากทำให้การเกษตรดูเท่​ !

การเกษตรแบบต้นน้ำ เรามองว่าเป็นธุรกิจเหนื่อยมากเงินน้อย ต่างจากที่คนรุ่นใหม่ต้องการคือ เหนื่อยน้อย เงินมาก ซึ่งผมไม่ได้อยากจะเอาชนะตัวเองด้วยการสร้างความมั่งคั่งจากตัวเงิน

เราอยากทำให้การทำธุรกิจของเรากลับมายืนหยัดอยู่ได้ เราอยากทำให้การเกษตรมันเท่ จะกลายเป็นสิ่งที่คนอิจฉา นี่คือ Passion แรกของผม เรามองเป็นประติมากรรมของเราว่าจะทำไงให้ดีขึ้น เราทำ เพราะเราอยากตื่นขึ้นมาทุกเข้าแล้วอยากทำ ถือเป็น Key Success ของผม

“บางคนติดกับดักกับความรวย มองคนอื่นว่าเราขาดอะไร และจะเติมยังไงให้เต็ม ซึ่งทำให้เรามองเห็นเป้าหมายไม่ชัดเจน ดังนั้นต้องโฟกัสในเป้าหมาย อย่าเทียบเรื่องขาดกับสิ่งที่เรามี เราจะได้มีความสุข อย่างธุรกิจผมไม่ได้มองว่าเราจะยิ่งใหญ่ที่สุด”

ภาพจาก ฟาร์มโชคชัย

สิ่งสำคัญที่สุดคือการปรับตัวในยุคดิจิทัล

พอโลกดิจิทัลมา ทำให้เรามีคู่แข่งทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น คนจะมาซื้อไอศกรีม Umm!…milk ของผมก็เสริชหาร้านในมือถือ ปรากฏว่ามีโฆษณาแหวนโผล่ขึ้นมา ลูกค้าเราพอมาถึงร้าน เขาเกิดเงินไม่พอซื้อไอศกรีมแล้ว ดังนั้นเราต้องปรับตัวให้ทัน คือนอกจากเริ่มอะไรใหม่ๆ แต่ต้องมองให้ขาดถึงเรื่องการรุกตลาด การวางโครงสร้างของเราให้คงอยู่แม้มีคู่แข่ง ส่วนตัวผมมองเรื่องความเสี่ยงสุงสุดก่อน

บริษัทเราปรับตัวด้านดิจิทัลมา 4-5 ปีแล้วแต่การทำให้ Digital platform ใช้ดีที่สุด คือ บริษัทเราต้องมีประสิทธิภาพในการสื่อสารมากขึ้น เราเลยเน้นเรื่องนี้มากกว่าทำนวัตกรรมในสินค้า เพราะเรามีพนักงานกว่าพันคน ถ้าหัวสื่อสารแล้วเข้าใจไม่ตรงกันงานที่ออกมาก็ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นเราพยายามบริหารให้มีประสิทธิภาพด้วยการพูดให้น้อยที่สุดแต่สามารถเข้าใจตรงกันให้มากที่สุด

เราต้องมี Attitude ที่ดีในการทำธุรกิจ อย่างผมอยากจะเดินเข้าไปในฟาร์มตัวเองแล้วรู้สึกว่าระบบของเรามันดีจังเลย

 

สรุป

โชค บูลกุลเปิดเคล็ดลับล้างหนี้ 500 ล้านบาท ให้วิเคราะห์ธุรกิจว่าต้องเก็บส่วนไหน ต้องยุบส่วนไหน เลือกจุดแข็งของบริษัทแล้วทำให้ดีที่สุด ต้องไม่ห่วงหน้าตาจนไม่มองความเป็นจริง เรื่องการเงินบริษัทเน้นกระแสเงินสด และแบ่ง 5 ส่วน ทั้งเพื่อลงทุน เผื่อเงินเฟ้อ ฯลฯ ที่สำคัญทำงานที่อยากทำ มองหาทุกโอกาสในการพัฒนา และมองวางแผนงานในระยะยาวดูเรื่องความเสี่ยงให้ดี อย่าเอาความอยากรวยเป็นตัวตั้ง แต่เอา Passion เป็นตัวนำ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา