หนังสือพิมพ์ The New York Times มีบทความน่าสนใจเกี่ยวกับความท้าทายของบริษัทไอทีจากประเทศจีน นั่นคือปัญหาความแตกต่างอย่างสุดขั้วระหว่างตลาดในประเทศจีน กับตลาดภายนอกประเทศ ซึ่งสุดท้ายแล้ว บริษัทสตาร์ตอัพจีนอาจต้องเลือกเพียงตลาดเดียวว่าจะเน้นลูกค้าฝั่งไหน ไม่สามารถทำสองอย่างไปพร้อมๆ กันได้
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ WeChat ของบริษัท Tencent ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในประเทศจีน และตั้งเป้าขยายตัวออกสู่ตลาดนอกจีนอย่างยิ่งใหญ่ ถึงขนาดทุ่มเงินจ้าง Lionel Messi นักฟุตบอลชื่อดังเป็นพรีเซนเตอร์ (ในไทยก็เคยจ้างอั้ม พัชราภา เป็นพรีเซนเตอร์) แต่สุดท้ายแล้วก็ล้มเหลว ไม่สามารถเจาะตลาดนอกจีนได้อย่างที่หวัง
โฆษณา WeChat ที่จ้าง Lionel Messi เป็นพรีเซนเตอร์
สาเหตุหนึ่งที่ WeChat ล้มเหลวเป็นเพราะในประเทศจีน WeChat ไม่ได้เป็นแค่แอพแชท แต่เป็นแอพสารพัดประโยชน์ที่เชื่อมต่อกับบริการภายนอกแอพได้ด้วย เช่น จ่ายบิล เรียกแท็กซี่ นัดหมอ ฯลฯ แต่พอออกนอกจีน บริการที่พ่วงกับ WeChat ไม่ได้เปิดบริการนอกจีนตาม ส่งผลให้ประโยชน์ของ WeChat เหลือแค่เป็นแอพแชทธรรมดา ไม่ต่างอะไรกับแอพแชทอื่นๆ ที่คนใช้กันอยู่แล้วในแต่ละประเทศ เช่น Line, Facebook Messenger หรือ WhatsApp
ความล้มเหลวของแอพแชทจีนไม่ได้มีแค่ WeChat เท่านั้น เพราะ Alibaba หรือ Baidu ที่ยิ่งใหญ่มากในจีน และมีแอพลักษณะคล้ายๆ กันก็ไม่สามารถออกนอกตลาดจีนได้เช่นกัน
โฆษณา WeChat ที่จ้างอั้ม พัชราภา เป็นพรีเซนเตอร์
หรือกรณีที่ผู้ใช้เน็ตชาวไทยคุ้นเคยกันดีคือ Baidu ที่พยายามขยายตลาดมายังประเทศไทย ด้วยซอฟต์แวร์ Baidu PC Faster ก็ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง หลังใช้การตลาดรุกหนัก แถมซอฟต์แวร์มากับโปรแกรมอื่นๆ จนถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง และกลายเป็นผลเชิงลบทำให้แบรนด์ Baidu มีภาพลักษณ์ย่ำแย่ในประเทศไทยไปเลย
ส่วนกรณีของ Alibaba ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ ถึงแม้จะมีเว็บไซต์ Aliexpress จับตลาดลูกค้านอกจีนอยู่บ้าง แต่เทียบความสำเร็จกับเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซในแต่ละประเทศ อย่าง Amazon หรือ Rakuten แล้วก็ยังไม่สามารถขยับตัวขึ้นมาเป็นผู้ให้บริการอันดับต้นๆ นอกประเทศจีนได้เช่นกัน
อีกประเด็นหนึ่งที่ The New York Times ชี้ให้เห็นคือ นักพัฒนาในจีนคุ้นเคยกับ “แพลตฟอร์ม” ของจีนอย่าง Baidu หรือ Alibaba แต่พอต้องออกนอกจีน นักพัฒนาเหล่านี้ก็ไม่เคยมีประสบการณ์เขียนแอพเชื่อมกับแพลตฟอร์มสากลอย่าง Google หรือ Facebook เลย กลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่แอพจีนไม่สามารถเชื่อมโยงกับแอพระดับนานาชาติได้เท่าที่ควร บริษัทแอพจีนรายหนึ่งคือ Cheetah Mobile ต้องใช้วิธีเปิดสำนักงานในไต้หวันก่อน เพื่อดึงโปรแกรมเมอร์ชาวไต้หวันที่คุ้นเคยกับแพลตฟอร์มของโลกตะวันตกมาทำงานด้วย
ปัจจุบัน ยักษ์ใหญ่ของวงการไอทีจีนอย่าง Baidu, Alibaba, Tencent จึงขยายตลาดมาต่างประเทศด้วยวิธีการ “จ่ายเงิน” เพื่อลงทุนซื้อหุ้นในบริษัทนอกจีนแทน ตัวอย่างเช่น Alibaba เข้ามาซื้อกิจการ Lazada เพื่อเอาตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ Tencent เข้าไปซื้อบริษัทเกม Supercell ของฟินแลนด์ เจ้าของเกม Clash of Clans แต่ตัวบริการหลักของบริษัทเอง กลับยังไม่สามารถผลักดันออกนอกจีนได้มากนัก
ในบทความยังมีกรณีศึกษาของ Musical.ly สตาร์ตอัพด้านมิวสิควิดีโอ ซึ่งก่อตั้งโดยคนจีน มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เซี่ยงไฮ้ แต่กลับเลือกทิ้งตลาดจีนไปทั้งหมด และเน้นตลาดสหรัฐอเมริกาเพียงอย่างเดียว ด้วยเหตุผลว่าตลาดวัยรุ่นจีนแตกต่างจากวัยรุ่นในประเทศอื่นๆ มาก ไม่มีวัฒนธรรมการแสดงออกผ่านการร้องเพลงมากนัก ต่างจากวัยรุ่นสหรัฐที่เพลงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวัยรุ่น ทำให้ Musical.ly ตัดสินใจไม่ทำตลาดในจีนเลย เพราะยากกว่าการทำตลาดในสหรัฐอเมริกามาก
ปัญหาเรื่องความแตกต่างระหว่างตลาดจีนกับตลาดนอกจีน ยังเป็นปัญหาใหญ่ และดูเหมือนว่าช่องว่างจะยิ่งถ่างขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่บริษัทจากจีนไม่สามารถเลือกทำทั้งสองตลาดพร้อมกันได้เลย และถูกบีบให้ต้องเลือกแค่เพียงหนึ่ง ว่าจะเอาตลาดในประเทศตัวเอง หรือทิ้งตลาดเมืองจีนไปเลย
ที่มา – The New York Times
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา