ทำไมจีนถึงอาจเริ่มบังคับเว็บไซต์ให้บริการสินเชื่อต้องเริ่มมาขอใบอนุญาต

ความร้อนแรงของ FinTech โดยเฉพาะสายปล่อยสินเชื่อ (Consumer Loan) นั้นสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับทางการจีนไม่น้อย โดยล่าสุดทางการจีนเริ่มจะเอาจริงเอาจังกับเหล่าเว็บไซต์ที่ทำกิจการแนวนี้มากขึ้นแล้ว

เพื่อที่จะพยายามลดความร้อนแรงของ FinTech ที่กำลังโตแบบไร้การควบคุมนั้น ทางการจีนพยายามหาทางชะลอความร้อนแรงนี้ลง ซึ่งหลังจากทางการจีนพยายามปราบปรามเหล่า P2P Lending (Platform ที่จับคู่ระหว่างผู้กู้กับผู้ที่ปล่อยเงินกู้เข้าหากัน โดย Platform นั้นได้กำไรจากค่าธรรมเนียม) มาสักพักใหญ่ๆ คราวนี้ก็ถึงคราวของ Consumer Loan

ผู้เล่นรายใหญ่ๆ ยังลงมาเล่นในตลาดนี้ด้วย

ปีที่แล้วผู้เล่นรายใหญ่ๆ ของจีนชื่อดังอย่างเช่น Wanda, Ctrip หรือแม้แต่ LeEco ซึ่งทำ Internet Streaming ชื่อดัง ยังลงมาเล่นในตลาดบริการให้เงินกู้ผ่านอินเตอร์เน็ตด้วย ยังไม่นับรวมถึงรายย่อยที่เปิดบริษัทปล่อยเงินกู้รายย่อยๆ ถึงเกือบ 9,000 บริษัททั่วประเทศจีน เม็ดเงินที่อยู่ในระบบปล่อยเงินกู้รายย่อยนี้อยู่ที่ประมาณ 972,000 ล้านหยวน ฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมใครๆ ก็อยากลงมาปล่อยกู้กันทั้งนั้น แถมผลกำไรที่ได้ก็งดงามอีกต่างหาก

แล้วการปล่อยกู้ทำกันยังไง

อ้างอิงจากระบบของ Wanda และ Ctrip การกู้เงินนั้นบางเจ้าจะดูจากบัญชีเงินฝากว่าควรจะกู้เงินได้เท่าไหร่ แต่บางเจ้านั้นไม่มี อย่างเช่นของ Wanda จะดูว่าผู้กู้ใช้บริการอะไรในเครือ Wanda บ้างเสร็จแล้วระบบจะใช้ Big data ในการคำนวณหาว่าผู้กู้ควรจะกู้ได้ที่จำนวนเงินเท่าไหร่ ส่วนของทาง Ctrip เน้นไปที่การกู้เงินสำหรับไปเที่ยวโดยเฉพาะ หรือแม้แต่ Haier ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าจะเน้นปล่อยกู้ตามร้านขายโทรศัพท์มือถือ หรือร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า

นักศึกษามหาลัยในจีนคือเป้าหมายใหญ่ของการปล่อยกู้

Fenqile ซึ่งเป็นเว็บไซต์บริการให้กู้ยืมเงินออนไลน์ที่เน้นนักศึกษามหาลัยกับพนักงานพาร์ทไทม์ เป็นการปล่อยกู้เงินแบบไม่ต้องมีหลักประกันใดๆ เพื่อที่ให้นักศึกษากู้เงินไปซื้อคอมพิวเตอร์ แล็ปท็อป โทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ หรือแม้แต่นำเงินไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ด้วยสโลแกนที่ว่า “รักในที่สิ่งที่รัก อย่ามัวรีรอ” 

ข้อจำกัดของ P2P Lending ที่มีมากขึ้น แต่ Consumer Loan นั้นไม่มีข้อจำกัด

กฏล่าสุดที่กลายเป็นข้อจำกัดของ P2P Lending ทั้งหลายคือเงื่อนไขที่ว่าห้ามปล่อยเงินกู้เกินจำนวน 1 ล้านหยวนสำหรับบุคคลที่ต้องการกู้ และปล่อยกู้ให้บริษัทได้ไม่เกิน 5 ล้านหยวน โดยกฏดังกล่าวเริ่มมาจากรัฐบาลท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่เอง ซึ่งข้อจำกัดของ P2P Lending ที่มีเพิ่มมากขึ้นทำให้ได้กำไรนั้นลดลง รวมไปถึงบางเว็บไซต์ที่อาจเป็นแชร์ลูกโซ่ ซึ่งเมื่อสองปีที่แล้วเว็บไซต์ Hengjin Dai ซึ่งเป็นบริการ P2P Lending นั้นเปิดให้บริการเพียงแค่ 12 ชั่วโมง หลังจากนั้นก็ปิดตัวเว็บไซต์ไปเลย ซึ่งก่อนหน้านั้นยังมีการโฆษณาถึง 3 วันเชิญชวนให้เข้ามาใช้บริการที่เว็บไซต์นี้

ทางการจีนเริ่มเอาจริงมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยที่ทางการจีนนั้นเริ่มเร่งรัดให้รัฐบาลท้องถิ่นนั้นยกเลิกคำขออนุญาตจัดตั้ง Consumer Loan และเข้มงวดกับการปล่อยใบอนุญาตประเภทนี้มากขึ้น ยิ่งเป็นรายใหม่ๆ โอกาสที่จะได้ใบอนุญาตนั้นยากมาก Ji Zhihong หัวหน้าฝ่ายตลาดการเงินของธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้กล่าวว่า “ประชาชนจีนสงสัยว่าเว็บไซต์ให้บริการกู้ยืมเงินนั้นอยู่ในความดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือเปล่า” นั่นอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทางการจีนนั้นต้องเริ่มลงมาลดความร้อนแรงของเว็บไซต์ให้กู้ยืมเงินเหล่านี้

ที่มา – Financial Times [1], [2], [3],[4]Nikkei Asian Review

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ