เบื้องหลังเหรียญทองโอลิมปิก จีนฝึกซ้อมนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติ โดยการใช้เทคโนโลยีเดียวกับการวิจัยขีปนาวุธ พัฒนาการฝึกซ้อมได้ดีกว่า
ในการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก ที่จัดการแข่งขันที่ประเทศญี่ปุ่น จีน เป็นประเทศที่ได้รับเหรียญทองมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวน 24 เหรียญทอง (ข้อมูลเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564) โดยในจำนวนนี้เป็นเหรียญทองที่ได้จากการแข่งขันกีฬาว่ายน้ำจำนวน 3 เหรียญทอง
เทคโนโลยีขีปนาวุธ เบื้องหลังเหรียญทองโอลิมปิกจีน
เบื้องหลังความสำเร็จนี้ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าเกิดจากความพยายามในการฝึกฝนอย่างหนักหน่วงของนักกีฬาทุกคน ที่ต้องใช้เวลาหลายปีในการเตรียมความพร้อม แต่รู้หรือไม่ว่า “เทคโนโลยี” ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญเช่นกันที่ทำให้การฝึกฝนทำได้ตรงจุด
China Aerospace Science and Technology Corporation (CASC) หน่วยงานด้านเทคโนโลยีอวกาศของรัฐบาลจีน ได้เปิดเผยว่า ได้ใช้เทคโนโลยีในลักษณะเดียวกับการนำร่องของขีปนาวุธเพื่อฝึกฝนนักกีฬาว่ายน้ำ ช่วยลดแรงเสียดทานขณะว่ายน้ำ เพราะลักษณะของการว่ายน้ำส่งผลต่อความเร็วโดยตรง
CASC ให้ข้อมูลว่า เทคโนโลยีที่ใช้นี้จะช่วยให้ผู้ฝึกสอนสามารถวางแผนการฝึกนักกีฬาด้วยเทคนิคที่ดีขึ้น รวมถึงช่วยลดแรงเสียดทานได้ในขณะว่ายน้ำได้
ความจริงแล้วในวงการของนักกีฬาว่ายน้ำมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนช่วยในการฝึกมานานแล้ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีการตรวจจับความเคลื่อนไหว ในลักษณะเดียวกับที่ใช้ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซึ่งสามารถตรวจจับความเคลื่อนไหวได้ทั้งร่างกาย
แต่ความจริงแล้วเทคโนโลยีที่ว่านี้ก็ไม่สามารถตรวจจับความเคลื่อนไหวของร่างกายได้ทั้งหมด กลายเป็นช่องว่างที่ต้องหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการตรวจจับความเคลื่อนไหวของร่างกายเพิ่มขึ้น
รู้เทคนิค ว่ายน้ำท่าไหนช่วยลดแรงเสียดทาน
ในจุดนี้เองจึงกลายเป็นที่มาที่ทำให้ CASC เข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยนำเอาเทคโนโลยีนำร่องของขีปนาวุธที่ต้องเดินทางไกลนับหมื่นกิโลเมตรเข้ามาใช้ โดยใช้ข้อมูลจากเซ็นเซอร์ต่างๆ
เซ็นเซอร์ที่ใช้นี้เรียกว่า Gyroscopes ที่ใช้เวลานานหลายปีในการพัฒนาให้มีขนาดเล็กจนสามารถสวมใส่บนร่างกายของนักกีฬาว่ายน้ำได้ ซึ่งนักกีฬาว่ายน้ำจะต้องฝึกฝนการว่ายน้ำในอุโมงค์ลม ทำให้ผู้ฝึกสอนสามารถคำนวนแรงเสียดทานที่เกิดขึ้นเมื่อว่ายน้ำในท่าทางที่ต่างกันได้
หลังจากได้ข้อมูลที่ว่านี้แล้ว นักกีฬาว่ายน้ำก็จะรู้ข้อมูลเพิ่มขึ้นว่าต้องใช้เทคนิค ใช้ท่าทาง หรือจัดระเบียบร่างกายอย่างไรที่จะช่วยให้แรงเสียดทานลดลงได้
ไม่ใช่แค่กีฬาว่ายน้ำเท่านั้นที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ เพราะในความจริงแล้วกีฬาพายเรือก็ใช้เทคโนโลยีเดียวกันในการฝึกฝนเช่นกัน อย่างไรก็ตามในตอนแรกอุโมงค์ลมที่ใช้นี้ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับการฝึกแข่งขันกีฬาโดยตรง เพราะเป็นการออกแบบมาสำหรับการวิจัยอากาศยาน และอาวุธมากกว่า แต่ในขณะนี้จีนได้ทำการสร้างอุโมงค์ลมที่ใช้สำหรับการฝึกซ้อมกีฬาโดยเฉพาะเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งคาดการณ์ว่าจะช่วยพัฒนาการแข่งขันกีฬาในระดับโลกได้ รวมถึงการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่จะจัดขึ้นที่ประเทศจีนในปีหน้านี้
ที่มา – scmp
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา