หลังจากรัฐบาลจีนเริ่มกำกับขอบเขตของบริษัทยักษ์ใหญ่หลายเจ้าในจีน เริ่มต้นจาก Ant Group ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ IPO ได้สำเร็จเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา หรือแม้แต่การออกกฎหมายใหม่ ทางรัฐบาลก็ได้ร่อนใบตักเตือนสู่หลากหลายบริษัทในวงการนี้อย่างสม่ำเสมอเรื่อยมา
รัฐร่อนหมายเตือน เล็ก-ใหญ่แค่ไหนก็ไม่รอด
ณ ปัจจุบัน คำเตือนจากทางการจีนมีตั้งแต่ การตั้งราคาไม่สม่ำเสมอ การใช้งานข้อมูลส่วนตัวลูกค้าในทางที่ผิด ยันสภาวะการทำงานที่แย่เกินไปต่อพนักงาน จำนวนแอปพลิเคชั่นที่ถูกตรวจสอบมีจำนวนไม่น้อยกว่า 222 แอป รวมถึงแอปยอดนิยมอย่าง Meituan แอปฟู้ดเดลิเวอรี่, DiDi ผู้ให้บริการขนส่งระยะสั้น, Douyin แพลตฟอร์มวิดิโอสั้น และ Pinduoduo แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ
“ทางการจีนต้องการส่งสารให้บริษัทเทคยักษ์ใหญ่เหล่านี้ว่าสุดท้ายแล้ว รัฐ มีอำนาจมากที่สุด และจะไม่ยอมรับคำตอบอื่นทั้งสิ้น” กล่าว Mark Natkin กรรมการผู้จัดการ Marbridge Consulting บริษัทวิจัยอุตสาหกรรมในปักกิ่ง
การผูกขาดตลาด: เครื่องมือในการควบคุมของรัฐบาลจีน
ถ้าเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่เป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกเหมือนกัน ประเทศจีนมีประวัติศาสตร์การใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาด (Antitrust Laws) ที่สั้นที่สุด อีกทั้งทางรัฐบาลจีนเคยใช้กฎหมายเหล่านี้ในการควบคุมอิทธิพลของบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในจีนอีกด้วย
กลับกัน บริษัทอินเทอร์เน็ตภายในประเทศไม่เคยโดนตรวจตรา เพราะทางการจีนมุ่งหวังให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของตัวเองได้เติบโต
ทว่า เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลจีนก็เปลี่ยนท่าทีของตัวเอง เริ่มตรวจสอบและกำกับบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ในจีน โดยเริ่มจาก Ant Group และเครือ Alibaba ของแจ๊ค หม่า ทั้งหมด ข้อหาหลักของ Alibaba ในการควบคุมตลาด คือ การบังคับให้พาร์ทเนอร์ใช้แพลตฟอร์มของตัวเองและห้ามใช้แพลตฟอร์มคู่แข่ง ไม่เช่นนั้นจะโดนลงโทษ
- โทษฐานผูกขาดตลาดมากไป จีนสั่งปรับ Alibaba 8.8 หมื่นล้านบาท
- คนไม่ใช่ ทำอะไรก็ผิด: โรงเรียนสอนธุรกิจ Jack Ma Academy ถูกรัฐบาลจีนสั่งห้ามรับนักเรียนใหม่
การกระทำเช่นนี้เรียกว่า “er xuan yi” หมายความว่า ต้องเลือกแค่ 1 จาก 2 ตัวเลือก ซึ่งเป็นสิ่งที่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในจีนทำกันมานานหลายปี สังคมประณามกันมาโดยตลอด หรือแม้แต่เกิดการฟ้องร้องขึ้น แต่ไม่มีผลลัพธ์ชัดเจน เหตุเพราะไม่มีหลักฐานที่แน่นหนาพอ
ทางรัฐร่อนหมายตรวจให้ Meituan เจ้าของแอปฟู้ดเดลิเวอรี่รายใหญ่ด้วยข้อหาเดียวกัน ด้านบริษัท Meituan ให้คำตอบว่าจะให้ความร่วมมือในการตรวจสอบเต็มที่ และจะดำเนินธุรกิจต่อไปเหมือนเดิม
เสียงบ่นจากลูกค้า ค่าปรับจากทางการ และการโต้ตอบของบริษัท
“เป้าหมายหลักของทางการจีน คือ การตักเตือนบริษัทให้ทำตามกฎหมาย โดยไม่ได้ต้องการดำเนินคดีจริงๆ” กล่าวโดย รองศาสตราจารย์ Angela Zhang อาจารย์ภาคนิติศาสตร์ จาก University of Hong Kong
ทางการท้องถิ่นของจีนเองก็เริ่มกำกับบริษัทในพื้นที่ของตัวเองเช่นกัน
ตัวอย่างเช่น เทศบาลนครเซี่ยงไฮ้เพื่อการควบคุมตลาด ได้สั่งปรับแอปส่งของ Ele.me ที่มี Alibaba เป็นเจ้าของ เป็นจำนวน 500,000 หยวน (ประมาณ 243,000 บาท) ด้วยข้อหาทำผิดกฎหมายด้านราคาและความปลอดภัยของอาหาร
คณะกรรมการความปลอดภัยผู้บริโภคแห่งเซี่ยงไฮ้ ได้ตรวจสอบ Meituan และ Pinduoduo ไปเมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมาในหลาย ๆ เรื่อง เช่น การหลอกลวงผู้บริโภคออนไลน์ คุณภาพสินค้าไม่ดี รวมถึงละเลยการส่งของให้ลูกค้า
เมื่อเดือนที่แล้ว หลายกระทรวง รวมถึงกระทรวงการคมนาคม และ กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีน ก็ได้เรียกตัวแทนของ 8 บริษัท รวมถึงบริษัท DiDi และ Meituan ที่เป็นแอปเดลิเวอรี่ทั้งคู่ เข้าไปคุยเรื่องความกังวลที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ในด้านสิทธิของไรเดอร์
ภายหลัง DiDi ได้โพสต์วิธีการคำนวณรายได้ของไรเดอร์ใน WeChat ของบริษัท และขอบคุณมวลชลสำหรับความสนใจและคำวิจารณ์
เมื่อสิ้นเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา Wang Xing กรรมการผู้บริหารบริษัท Meituan ได้ทำการบริจาคหุ้นของบริษัทที่มีมูลค่ากว่า 1.73 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท) ให้แก่มูลนิธิในชื่อของตัวเอง เพื่อสนับสนุนโปรเจคด้านการศึกษาและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ต่อไป ตัวบริษัท Meituan ก็ได้จัดตั้งทีมงานที่จะคอยให้ความร่วมมือกับการตรวจสอบของเจ้าหน้าอย่างเคร่งครัด
ในเดือนเม.ย. ก่อนหน้านี้ Pony Ma กรรมการผู้บริหารบริษัท Tencent Holdings ประกาศไว้ว่าทางบริษัทได้จัดงบประมาณมูลค่า 7.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.1 หมื่นล้านบาท) ไว้สนับสนุนโปรเจคด้านประชาสงเคราะห์ (Public Welfare), การพัฒนาชุมนุมชนบท (Rural Revitalization), การเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และอื่น ๆ
Tencent ก็ไม่รอดจากการตรวจสอบของทางการจีน ประเด็นที่ถูกจับตามองส่วนใหญ่ในปีที่ผ่านมา คือ เรื่องการให้บริการด้านการเงินที่เสี่ยง และ แจ้งการเข้าซื้อกิจการไม่ครบ
“ถ้าเราสามารถสร้างประโยชน์ต่อสังคมด้วยเทคโนโลยีและสินค้าของพวกเราได้มากขึ้น ผมคิดว่าเราจะได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นจากยูสเซอร์ ลูกค้า รัฐบาล และ พนักงานของเรา” กล่าวโดย Martin Lau ประธานบริษัท Tencent
สรุป
ด้วยท่าทีที่เคร่งครัดขึ้นของรัฐบาลจีนต่อบริษัทเทคโนโลยีในประเทศของตัวเอง น่าติดตามว่าจะมีผลกระทบต่อความนิยม หรือ ฟีเจอร์ต่างๆ ของแอปหรือไม่ ไม่ว่าบริษัทจะตอบแทนสังคมยังไง ไม่ว่าจะมีมูลค่าสูงหรือต่ำแค่ไหน ท้ายที่สุดก็ต้องเข้าใจว่า รัฐบาลจีนใหญ่ที่สุด
ที่มา – The Wall Street Journal
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา