จากประเทศที่เคยทุ่มเงินให้กับแบรนด์หรูเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ใครจะไปเชื่อว่าวันหนึ่ง ‘ของก๊อปเกรด A’ จะกลายเป็นเทรนด์ในหมู่วัยรุ่นชาวจีน
ลองดูตัวอย่างนี้ Zheng Jiewen วัย 23 ปี ทำงานอยู่ที่เอเจนซีโฆษณาแห่งหนึ่งในเมืองกวางโจว โดยปกติแล้ว เธอจะได้เงินเดือนกว่า 1 แสนบาท แต่หลังจากธุรกิจใหม่ของบริษัททำผลประกอบการได้ไม่ดี เงินเดือนของเธอก็ถูกลดไปครึ่งหนึ่ง
ด้วยเหตุนี้ Jiewen จึงต้องปรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้เหมาะสมกับรายได้ตนเอง ซึ่งหมายความว่าเธอคงไม่มีวันได้ใช้แบรนด์ไฮเอนด์อย่าง Louis Vuitton, Chanel หรือ Prada อย่างที่เคยอีกแล้ว
ในทางกลับกัน Jiewen หันมาใช้สินค้าที่คนจีนเรียกกันว่า ‘Pingti’ หรือสินค้าเลียนแบบแทน ซึ่งคำว่าเลียนแบบในที่นี้ อาจแยกไม่ออกเลยด้วยซ้ำว่าอันไหนของแท้อันไหนของปลอม
ที่สำคัญ ของก๊อปเหล่านี้ยังมีราคาถูกกว่าหลายเท่า เช่น กางเกงโยคะจากของแบรนด์ Lululemon จะมีราคาเกือบ 3,500 บาท แต่ถ้าซื้อของเทียบเกรด A ที่หน้าตาแทบจะเหมือนของจริง 100% พร้อมคุณภาพใกล้เคียง เราอาจเสียเงินแค่ 160 บาท เท่านั้น
ไม่ใช่แค่ Jiewen ที่สนใจในสินค้าประเภทนี้มากขึ้น แต่รวมไปถึงคนจีนอีกหลายๆ คน เนื่องจากนับตั้งแต่ช่วงโควิด-19 มา ประชาชนในประเทศยังไม่ค่อยไว้วางใจเศรษฐกิจเท่าไหร่นัก
Laurel Gu ผู้อำนวยการประจำบริษัทการวิจัยทางการตลาดแห่งหนึ่งของเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า หลังจากเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ในปี 2024 ผู้คนเริ่มเสิร์ชหาของก๊อปในโซเชียลมีเดียมากกว่าปี 2022 ถึงสามเท่า
นอกจากนี้ Gu ยังเสริมอีกว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ขาช็อปชาวจีนยังนิยมใช้แบรนด์หรูๆ อยู่เลย แต่ในตอนนี้สินค้าเลียนแบบกลายเป็นเทรนด์กระแสหลักไปเสียแล้ว
การที่คนจีนหันมานิยมใช้สินค้าเลียนแบบมากขึ้นไม่ได้กระทบแค่ยอดขายของแบรนด์ดังเท่านั้น แต่ยังทำให้การบริโภคและการค้าปลีกน้อยลง จนประเทศอาจไม่สามารถทำตามเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างที่หวัง
เศรษฐกิจจีนย่ำแย่ ประชาชนขาดความเชื่อมั่น
แม้จีนจะเปิดประเทศมาได้ปีกว่าแล้ว หลังจากปิดล็อกดาวน์โควิดไป แต่ประชาชนก็ยังไม่วางใจต่อสภาพเศรษฐกิจกันทั้งนั้น
โดยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของจีนเหลือเพียง 86.0 แต้ม เต็ม 200 เรียกได้ว่าสูงกว่าคะแนนต่ำสุดที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์เพียง 0.5
นักเศรษฐศาสตร์อธิบายว่า ด้วยราคาหุ้นที่ลดลง เงินทุนพากันไหลออก และค่าแรงขั้นต่ำที่หยุดนิ่ง บรรดานักช็อปชาวจีนทั้งหลายจึงเริ่มพักการใช้เงินในกระเป๋ามากขึ้น
Xinxin คุณครูสาวชาวจีนให้สัมภาษณ์กับทางสำนักข่าว CNN ว่าเมื่อก่อน เธอชอบใช้สกินแคร์ของแบรนด์ Estée Lauder เป็นอย่างมาก แต่เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ จนเธอถูกลดเงินเดือน 20% ในปีนี้ เธอก็หันมาใช้เซรัมยี่ห้ออื่น ที่มีส่วนผสมคล้ายเดิม แต่ราคาถูกลงเกือบ 3,000 บาทแทน
ต่อให้ Xinxin และ Jiewen จะถูกตัดรายได้อย่างมีนัยยะสำคัญ แต่พวกเธอก็ยังมองว่าตนเองโชคดี เพราะในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อัตราการว่างงานในหมู่ประชาชนจีนวัย 18-24 ปีนั้น พุ่งถึง 18.8% ถือว่าสูงที่สุดในปีนี้เลย
ทางการจีนประกาศลดดอกเบี้ยหวังช่วยวงการอสังหาฯ
เมื่อประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น จนอาจกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ‘Pan Gongsheng’ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ ก็ได้ประกาศลดอัตราการดอกเบี้ยให้กู้จาก 1.7% เป็น 1.5% และเพิ่มเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจอีกประมาณ 1 ล้านล้านหยวน
ยิ่งไปกว่านั้น Gongsheng ยังลดขั้นต่ำของเงินดาวน์จาก 25% สู่ 15% สำหรับประชาชนที่กู้ยืมบ้านเป็นครั้งที่ 2 เพื่อสนับสนุนอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศ
สมัยก่อน 30% ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเคยมาจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ทว่านับตั้งแต่ปี 2019 ที่รัฐบาลจีนจำกัดการให้ยืมของนักพัฒนาอสังหาฯ รายได้ส่วนนี้ก็น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด จนบ้านที่ดินต่างๆ พากันราคาถูกลง พร้อมกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่หายไปด้วย
นักเศรษฐศาสตร์เผยว่า “ในขณะที่ทางสหรัฐฯ รุ่งเรืองขึ้นหลังจากโควิด ครัวเรือนในประเทศจีนสูญเสียความมั่งคั่งกันไปกว่า 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว”
ความสิ้นหวังที่ประชาชนมีต่อประเทศจีนไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในหมู่วัยรุ่นรายได้น้อยเท่านั้น เพราะแม้กระทั่ง Nicole Hal นักธุรกิจวัย 33 ปี ผู้มีโอกาสสร้างรายได้กว่า 18 ล้านบาทในปีนี้ ยังต้องลดค่าใช้จ่าย
เธอเอ่ยปากว่า “ฉันเลิกซื้อพวกแบรนด์แพงๆ ทั้งสกินแคร์ ทั้งเสื้อผ้าแล้ว และฉันก็จะพยายามไม่ออกไปกินข้าวนอกบ้านด้วย”
สุดท้ายนี้ รัฐบาลจีนยังไม่ยอมแพ้ เร่งขยายอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อทดแทนรายได้ที่หายไปจากภาคส่วนอสังหาฯ แม้จะเจออุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะจากบรรดาแหล่งผลิตรถยนต์ EV ในยุโรปก็ตาม
ที่มา: CNN
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา