หลังจากมีข่าวลือมาหลายเดือนว่ารัฐบาลจีนพยายามขายหุ้นบางส่วนของ China Unicom รัฐวิสาหกิจผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่อันดับสองของประเทศจีน
ล่าสุดเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนก็ขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 35.2% ของ China Unicom ให้กับบริษัทเอกชนจีนหลากหลายบริษัท คิดเป็นมูลค่าถึง 77,900 ล้านหยวน (ประมาณ 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) ถือเป็นการระดมทุนที่ใหญ่สุดในรอบ 7 ปี หลังจากบริษัทประกันภัย AIA ขายหุ้นเข้า IPO ที่ตลาดหุ้นฮ่องกง
ความพยายามครั้งใหม่ในการปฏิรูป (และลดหนี้ของภาครัฐ) ของรัฐบาลจีน
ต้องเล่าย้อนไปในปี 2013 ความพยายามของรัฐบาลจีนในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ภายใต้แผนการ Mixed Ownership Reform ที่จะให้เอกชนมาถือหุ้นของรัฐวิสาหกิจมากขึ้น แต่รัฐบาลจีนยังรักษาการถือหุ้นไว้บางส่วนอยู่
คณะกรรมาธิการการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติ (NDRC) คัดเลือกรัฐวิสาหกิจ 6 รายที่จะขายหุ้นให้เอกชนเป็นกลุ่มแรก เพื่อลดหนี้ของภาครัฐลง และนำประสบการณ์ของเอกชนเข้ามาร่วมบริหารให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย
รัฐวิสาหกิจทั้ง 6 รายนี้ได้แก่ China Southern Power Grid, Harbin Electric Corp., China Nuclear Engineering Group, China Eastern Air Holding Co., China State Shipbuilding Corp และรวมไปถึง China Unicom ด้วย
เมื่อปี 2014 บริษัทน้ำมัน Sinopec (China Petroleum & Chemical Corporation) เป็นรายแรกในแผน Mixed Ownership Reform ได้ขายหุ้นเพิ่มทุนบางส่วนของกิจการค้าปลีกน้ำมัน (ที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของจีน) ให้กับกองทุนภายในประเทศจีนเช่น Harvest Fund Management และบริษัทประกันชีวิตเจ้าใหญ่ China Life และรวมไปถึงบริษัทไอที Tencent เป็นเงินถึง 17,500 ล้านเหรียญสหรัฐ รัฐบาลจีนคาดว่าจะนำธุรกิจค้าปลีกน้ำมันส่วนนี้ของ Sinopec เข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์ แม้ปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีวี่แววก็ตาม
ปัญหาของ China Unicom
China Unicom เป็นโอเปอเรเตอร์อันดับสองของประเทศจีน (รองจาก China Mobile) มีฐานลูกค้าโทรศัพท์มือถือมากถึง 270 ล้านคน อีกทั้งยังมีธุรกิจบรอดแบนด์แบบ fixed line
อย่างไรก็ตาม China Unicom มีผลประกอบการตกลงเรื่อยๆ ในช่วงหลัง เพราะบริษัทมีปัญหารุมเร้ามากมาย
อย่างแรก หนีไม่พ้นเรื่องของหนี้สินของ China Unicom ซึ่งในปีที่แล้วสูงถึง 150,000 ล้านหยวน บวกด้วยปัญหาการอัพเกรดระบบ 4G ซึ่งเป็นไปได้อย่างเชื่องช้า และการเตรียมพร้อมที่จะติดตั้งระบบ 5G ภายในอนาคตอีก
ถ้าเทียบในระยะเวลาเท่าๆ กันแล้ว การอัพเกรดระบบของ China Unicom ช้ากว่า China Mobile อยู่เยอะมากๆ แม้ว่าจะมีการใช้เสาโทรศัพท์ร่วมกันแล้วผ่านทางบริษัท China Towers ซึ่ง 3 บริษัทโอเปอเรเตอร์จีน (China Mobile, China Unicom, China Telecom ถือหุ้นร่วมกัน และจะ IPO ภายในเร็วๆ นี้)
รัฐบาลจีนขายหุ้นเพิ่มทุน China Unicom ให้ใครบ้าง
เพื่อไม่ให้สับสน ต้องอธิบายก่อนว่าบริษัทแม่ China United Network Communications (China Unicom) อยู่ในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ แล้วไปถือหุ้นบริษัทลูก China Unicom Hong Kong ซึ่งอยู่ในตลาดหุ้นฮ่องกงในสัดส่วน 61.94%
การเพิ่มทุนครั้งนี้ รัฐบาลจีนออกหุ้นเพิ่มทุนของ China United Network Communications จำนวน 9.9 พันล้านหุ้น ขายให้กับเอกชนของจีน เป็นจำนวนประมาณ 29.1% บริษัที่เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนส่วนนี้ได้แก่ (เรียงตามสัดส่วนโดยประมาณ)
- China Life 22,000 ล้านหยวน ถือหุ้น 10.5%
- Tencent 11,000 ล้านหยวน ถือหุ้น 5.2%
- ผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ รวมกัน เช่น เช่น CRRC, Didi Chuxing 8,700 ล้านหยวน ถือหุ้น 4.1%
- Baidu 7,700 ล้านหยวน ถือหุ้น 3.3%
- JD.com 5,000 ล้านหยวน ถือหุ้น 2.4%
- Alibaba 4,300 ล้านหยวน ถือหุ้น 2%
- Suning 4,000 ล้านหยวน ถือหุ้น 1.9%
ส่วนหุ้นอีก 6.1% ของ China United Network Communications เป็นของกองทุน China Structural Reform Fund ของรัฐบาล โดยรัฐบาลจะใส่เงินเพิ่มทุนเข้าไปเพิ่มอีก 13,000 ล้านหยวน รวมทั้งหมดเป็น 35.2%
ฉะนั้น การเพิ่มทุนครั้งนี้ บริษัทเอกชนของจีนจะเป็นผู้ถือหุ้นทางอ้อมของ China Unicom Hong Kong ผ่าน China United Network Communications นั่นเอง
เมื่อแยกแยะบริษัทเอกชนจีนที่เข้ามาซื้อหุ้น China Unicom จะเห็นได้ว่ามีอยู่ 4 กลุ่ม คือ
- กลุ่มบริษัทอินเตอร์เน็ตในจีน เช่น Alibaba, Tencent, Baidu, JD
- กลุ่มการเงินและประกันภัย เช่น China Life และ CRRC
- กลุ่มผู้นำธุรกิจในด้านนั้นๆ ที่เป็นแนวตั้ง (vertical) เช่น Didi Chuxing ที่ถนัดในแอพเรียกรถแท็กซี่ และ Wangsu Science & Technology ซึ่งเชี่ยวชาญในระบบ CDN และเรื่อง Data Center
- กองทุนของจีนและบริษัทอื่นๆ
ความคาดหวังของนักลงทุนและมุมมองของนักวิเคราะห์
คาดว่าหลังจาก China Unicom ได้ผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ จะช่วยให้ China Unicom มีลูกค้าโทรศัพท์มือถือมากขึ้น จากเครือข่ายความสัมพันธ์ของบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่เหล่านี้
ความพยายามชุดแรกที่เห็นผลชัดเจนคือ Martin Lau ประธานของ Tencent กล่าวหลังจากดีลเสร็จเรียบร้อยแล้วว่า China Unicom เตรียมออกบัตรเติมเงินโทรศัพท์ที่สามารถใช้แอพของ Tencent ได้ไม่จำกัด ซึ่งยุทธศาสตร์ลักษณะนี้ เป็นผลจากบริษัทอินเตอร์เน็ตอย่าง Tencent และบริษัทสื่อสารอย่าง China Unicom สามารถส่งเสริมธุรกิจซึ่งกันและกันได้
แต่ผู้ถือหุ้นบางส่วนยังสงสัยว่า ท้ายที่สุดแล้วการที่เอกชนจีนมาถือหุ้นของ China Unicom ครั้งนี้อาจเป็นการมาถือหุ้นแทนรัฐบาลจีน เพื่อสนองต่อนโยบาย Mixed Ownership Reform เพียงเท่านั้นหรือเปล่า
สอดคล้องกับ Xia Le นักวิเคราะห์ของ BBVA กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า ผลลัพธ์ของดีลนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลจีนจะให้เอกชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการบริหาร China Unicom หรือว่าจะให้เอกชนมาถือหุ้นแทนไว้เฉยๆ แทนตัวเองเท่านั้น และถ้าเป็นอย่างแรกจะถือว่าเป็นเรื่องที่ดี บอร์ดของ China Unicom มีทั้งหมด 10 คน เอกชนจะสามารถแต่ตั้งบอร์ดได้ 4 คน หลังจากการเพิ่มทุนครั้งนี้สำเร็จ
ข้อมูลอ้างอิง
- Bloomberg
- Bloomberg
- Barron’s
- Bloomberg
- Financial Times
- Bloomberg
- Business Insider
- Bloomberg
- Bloomberg
- Bloomberg
- Business Insider
- Bloomberg
- Reuters
- Reuters
- Barron’s
- Thai Publica
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา