จีนปลดนักข่าวต่างประเทศพาดหัวแรง “จีนเป็นคนป่วยที่แท้จริงของเอเชีย” 

นักข่าวต่างประเทศโดนปลด หลังสหรัฐฯ ประกาศ 5 สื่อจีนคือแขนขาพรรคฯ

เพียง 1 วันหลังสหรัฐฯ ประกาศ จะปฏิบัติกับ 5 สำนักข่าวสัญชาติจีนใหม่ นักข่าวต่างประเทศจาก Wall Street Journal 3 ราย ถูกปลดทันที

นักข่าวต่างประเทศที่ไม่ได้รับการรับรองให้ทำหน้าที่สื่อมวลชนต่อ มี 3 ราย ดังนี้ Walter Russell Mead อาจารย์จาก Bard College ซึ่งเป็นคอลัมนิสต์ให้ Wall Street Journal วิพากษ์การทำงานของจีนในการรับมือกับไวรัส COVID-19 ระบาดและมองว่าจีนคือคนป่วยที่แท้จริงของเอเชีย ตามด้วย Josh Chin ผู้สื่อข่าวสัญชาติสหรัฐฯ และ Philip Wen สัญชาติออสเตรเลียน

ทั้ง 3 คนที่กล่าวมา ต่างรายงานข่าวการสอดแนมของตำรวจจีน การรับมือไวรัส COVID-19 และประเด็นมุสลิมอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง ทุกประเด็นล้วนเป็นประเด็นร้อน ประเด็นต้องห้าม มีความแหลมคมในการนำเสนอ

เหตุการณ์ไล่นักข่าวต่างประเทศออกจากจีนนี้เกิดขึ้นหลังจากที่สหรัฐฯ ระบุว่าสำนักข่าว 5 แห่งของจีนทำงานเหมือนเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาลจีน ทำหน้าที่เป็นฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อให้จีน และมองว่าสื่อทั้ง 5 ของจีนนี้มาทำภารกิจนอกประเทศ หลังสหรัฐฯ ประกาศชื่อ 5 สื่อจีนแค่วันเดียว นักข่าวจากสหรัฐฯ ก็ถูกปลดฟ้าผ่า

รัฐบาลทรัมป์ระบุว่า มีทั้ง Xinhua, China Radio International (CRI), China Global Television Network (CGTN) ที่อยู่ภายใต้ CCTV, China Daily, Hai Tian Development USA ต้นสังกัด People’s Daily นอกจากนี้ยังบอกอีกว่า สื่อเหล่านี้เปรียบเสมือนแขนขาของพรรค ทำตามคำสั่งของผู้นำระดับสูงในพรรคคอมมิวนิสต์จีน

โดยเจ้าหน้าที่อาวุโสสหรัฐฯ ระบุว่า Xinhua คือสถาบันที่ทำหน้าที่รายงานโดยตรงให้กับรัฐบาลกลางจีน ขณะที่ CGTN ก็เป็นส่วนหนึ่งของสื่อจีนที่ดำเนินงานโดยรัฐบาลจีนเช่นเดียวกับ CRI ส่วน China Daily ที่เป็นหนังสือพิมพ์รายวันของจีนก็มีเจ้าของเป็นพรรคคอมมิวนิสต์จีน เช่นเดียวกับ Hai Tian Development ในนามของ People’s Daily

5 สื่อจีนที่สหรัฐประกาศว่าทำงานเป็นกระบอกเสียงของจีน: Xinhua Net, CRI, China Daily, People Daily และ CGTN (CCTV)

5 สื่อจีนจะถูกปฏิบัติเหมือนองค์กรต่างประเทศ แต่ไม่ได้รับความคุ้มกันทางการทูต

สื่อทั้ง 5 สำนักของจีนนี้ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย Foreign Mission ผลจากการประกาศของสหรัฐฯ นี้ จะส่งผลให้ 5 สื่อจีนจะถูกปฏิบัติขณะอยู่ในประเทศสหรัฐฯ ว่ามาปฏิบัติภารกิจต่างประเทศ (foreign mission) แต่ไม่ได้มีสถานะเดียวกับสถานทูตหรือสถานกงสุลที่จะได้รับความคุ้มกันทางการทูต และต้องทำตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ 2 ข้อ

ข้อแรก ต้องแจ้งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในออฟฟิศตลอดเวลา ไม่ว่าจะมีคนเข้ามาทำงานใหม่ หรือคนลาออกไป สถานการณ์ในการจ้างงานทั้งหมด ต้องแจ้งสำนักงานภารกิจต่างประเทศของสหรัฐฯ เสมอ (Office of Foreign Missions) ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับสถานทูตและสถานกงสุล

ข้อสอง ต้องแจ้งให้รู้ว่าครอบครองสินทรัพย์อะไร ทั้งในส่วนที่ 5 สื่อจีนเป็นเจ้าของเองและในส่วนที่เช่ามา และจะต้องได้รับอนุมัติก่อน ถึงจะมีสินทรัพย์เช่นนั้นครอบครองในออฟฟิศได้

Donald Trump โดนัลด์ ทรัมป์
Donald Trump ภาพจาก Shutterstock

ประเด็นที่รัฐบาลสหรัฐฯ ตัดสินใจทำเช่นนี้นั้น ถูกซักถามว่าจริงๆ แล้วก็มีสำนักข่าวต่างประเทศอยู่ในสหรัฐฯ เต็มไปหมด ทำไมจึงเลือกทำเฉพาะสื่อจีนและนักข่าวจากประเทศที่มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยจะถูกโต้กลับขณะที่กำลังปฏิบัติงานในจีนตอนนี้หรือไม่? ท่าทีเช่นนี้ได้นับรวมสื่อจากรัสเซียไหม? ไม่คำนึงถึงเสรีภาพของนักข่าวที่สหรัฐฯ เรียกร้องมาตลอดหรือ?

ทางเจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ ก็ชี้แจงว่า ขณะนี้ นักข่าวจากชาติตะวันตกได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดในการปฏิบัติงานในจีนค่อนข้างมาก ต้องยอมรับว่านักข่าวที่เป็นสื่อจาก 5 สำนักนี้เป็นส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจริงๆ เป็นข้อเท็จจริงที่ยากจะหลีกเลี่ยง

สหรัฐฯ จะปฏิบัติต่อ 5 สำนักข่าวนี้เหมือนมาปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ แต่ไม่มีสถานะคุ้มครองเหมือนสถานทูตและสถานกงสุล พวกเขาอยู่ในบัญชีรายชื่อการมาปฏิบัติภารกิจต่างประเทศ ต้องมีความโปร่งใส และไม่สามารถทำงานได้อย่างอิสระเสรีเหมือนนักข่าวต่างประเทศทั่วไป

Xi Jinping ภาพจาก Shutterstock

สหรัฐฯ จัดหนักสื่อสัญชาติจีน ส่วนรัสเซียขอให้พักไว้ก่อน..

ขณะที่ประเด็นนักข่าวจากรัสเซีย เช่น Russia Time, Sputnik นั้น สหรัฐฯ เลี่ยงที่จะไม่ตอบประเด็นนี้แต่มุ่งเป้าไปที่จีนชาติเดียว ยกเว้นสื่อ Pravda สัญชาติรัสเซียนก็อยู่ในลิสต์นี้เช่นกัน และยังบอกอีกว่าสื่อรัสเซียไม่ได้อยู่ในบรีฟที่นำมาชี้แจงเพราะไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านรัสเซียอยู่ในที่นี้ ที่กำลังแถลงข่าวอยู่

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังระบุว่า แม้ตอนนี้ยังไม่มีรายชื่อพนักงานของสำนักข่าวจีนทั้ง 5 แห่ง แต่คาดว่าจะได้มาในเร็วๆ นี้ และทุกอย่างจะเป็นไปตามกฎหมายที่ระบุไว้ ขณะเดียวกัน ก็มีการยกคำถามที่ว่า หากผู้สื่อข่าวต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่อยู่ในจีนโดนโต้กลับด้วยการถูกเพิกถอนใบอนุญาตในการทำงานในจีน สหรัฐฯ จะรับมืออย่างไร สหรัฐฯ แจงว่า ไม่ต้องการที่จะคาดการณ์ประเด็นนี้ล่วงหน้า และย้ำว่าก่อนหน้านี้ผู้สื่อข่าวที่ทำงานในจีนก็มีข้อบังคับมากมายเช่นกัน

แถลงการณ์ประณามจีน ภาพจาก กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา

สถานการณ์ล่าสุดที่จีนขับไล่นักข่าวจาก Wall Street Journal 3 รายนี้ Michael R. Pompeo รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ประณามจีนที่จำกัดเสรีภาพนักข่าวในการเข้าถึงข้อมูลและรายงานข่าวแล้ว

ขณะเดียวกัน China Daily พูดถึงประเด็นที่สหรัฐฯ จะปฏิบัติต่อ 5 สื่อจีนเหมือนมาปฏิบัติภารกิจต่างประเทศแต่ไม่ได้รับความคุ้มกันทางการทูตนี้ว่าเป็นการอ้างเหตุผลแบบผิดๆ และมองว่าการกระทำของสหรัฐฯ คือส่วนหนึ่งของความกลัวจีน “Sinophobia” นั่นเอง ด้านโฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนมองว่า สหรัฐฯ ทำเช่นนี้เป็นเพราะต้องการจำกัดสื่อสัญชาติจีนที่ทำงานในต่างประเทศเท่านั้น

ที่มา – Financial Times, Wall Street Journal, China Daily, U.S Department of State (1), (2)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
สนใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทูต การเมือง ประชาธิปไตย เสรีภาพ ความยุติธรรมและความเท่าเทียม ชอบอ่าน ชอบเขียน ชอบสืบค้นข้อมูล ชอบทำคอนเทนต์