จีนประกาศ ลูก 1 คน ลดหย่อนภาษีได้ 5 พัน/เดือน จนกว่าจะ 3 ขวบ กระตุ้นคนให้คนมีลูกแบบฉลาด

จีนประกาศ ลูก 1 คน ลดหย่อนภาษีได้ 5 พัน/เดือน จนกว่าจะ 3 ขวบ หลังเด็กเกิดใหม่ลดลงต่อเนื่อง 5 ปี สวนทางคนสูงวัยที่พุ่งขึ้นเป็น 19% ของประชากร

จีนประกาศนโยบายลดหย่อนภาษีจากการมีลูก 1,000 หยวนต่อเดือนต่อลูก 1 คน (ประมาณ 5,300 บาท) โดยมีเงื่อนไขว่าลูกจะต้องมีอายุไม่เกิน 3 ขวบ เริ่มต้นตั้งแต่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา จากการรายงานของ People’s Daily สำนักข่าวที่มีความใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน

เป้าหมายของนโยบายดังกล่าวคือการปรับปรุงนโยบายการมีบุตรในภาพรวมเพื่อพัฒนาโครงสร้างประชากรจีนในระยะยาวให้มีความสมดุลมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีเด็กเกิดใหม่ลดลงและมีสัดส่วนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นคณะกรรมการกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนระบุ

Ren Yuan รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากร Fudan University ระบุว่า นโยบายลดหย่อนภาษีจากการมีบุตรเป็นนโยบายที่ใช้กันทั่วโลกเพื่อบรรเทาภาระการครองชีพให้กับครอบครัวที่มีบุตรไม่ต่างไปจากนโยบายเงินสนับสนุนการมีบุตร

เด็กเกิดใหม่ต่ำ สัดส่วนคนสูงวัยพุ่ง

ข้อมูลจากทางการชี้ว่าจำนวนเด็กเกิดใหม่ในจีนลดลง 5 ปีติดต่อกัน โดยในปีที่ผ่านมามีเด็กเกิดใหม่เพียง 10.62 ล้านคน นอกจากนี้ จำนวนบุตรต่อหญิงวัยเจริญพันธุ์ 1 คน (Fertility Rate) อยู่ที่ 1.47 ในปี 2019 ลดลงจาก 1.58 ในปี 2017 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกปี 2019 ที่ 2.4 คน จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติประเทศจีน

China Student
ภาพจาก Shutterstock

ที่สำคัญคือจำนวนเด็กเกิดใหม่สวนทางกับผู้สูงวัย สัดส่วนประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี เติบโตขึ้นมาแตะ 19% หรือเกือบๆ 1 ใน 5 เมื่อปีที่ผ่านมา 

นโยบายลูก 3 คน ก็ไม่ช่วย

ก่อนหน้านี้ในปี 2015 จีนประกาศเปลี่ยนนโยบายลูกคนเดียวเป็นนโยบายลูก 2 คน แต่ Dan Wang หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์จาก Hang Seng Bank ชี้ว่าภายใน 3 ปี ผลกระทบเชิงบวกก็ค่อยๆ ลดลง เพราะต้นทุนค่าที่อยู่อาศัยและค่าเล่าเรียนที่สูง อีกทั้งไม่มีสนับสนุนผู้หญิงขณะที่มีลูก ส่งผลกระทบต่อชนชั้นกลางอย่างมาก ดังนั้น นโยบายลูก 3 คน ที่ประกาศไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมาก็อาจจะส่งผลบ้างแต่ก็ไม่น่าจะช่วยอะไรได้มากนัก

นโยบายลดหย่อนภาษีจากการมีลูก 1,000 หยวน/เดือน/คน จึงเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่จะทำให้นโยบายลูก 3 คนที่ถูกหมายมั่นปั้นมือให้เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาการเติบโตของประชากรในระยะยาวให้มีความสมดุลมากยิ่งขึ้นของทางการจีน

ที่มา – People’s Daily, China Daily, World Bank Data

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา