จีนเปิดศึกการค้ากับออสเตรเลียเพิ่มเติม ล่าสุดนั้นขึ้นภาษีนำเข้าไวน์ โดยมองว่าไวน์จากออสเตรเลียนั้นเข้ามาทำให้ตลาดไวน์ของจีนได้รับผลกระทบ แต่ทางฝั่งของออสเตรเลียมองว่าพฤติกรรมของจีนถือว่าก้าวร้าว และทำให้การค้าโลกหมดความเชื่อมั่นจากพฤติกรรมนี้
หลังจากที่จีนได้เปิดศึกทางการค้ากับออสเตรเลีย ไม่ว่าจะเป็นการไม่นำเข้าถ่านหิน หรือแม้แต่นำเข้าเนื้อวัว รวมไปถึงขึ้นภาษีนำเข้าบาร์เลย์ไปแล้วนั้น แต่ล่าสุดจีนยังขึ้นภาษีนำเข้าไวน์จากออสเตรเลีย สูงสุดถึง 212% โดยที่จีนได้กล่าวหาว่าออสเตรเลียทุ่มตลาดในสินค้าประเภทไวน์ หลังจากก่อนหน้านี้ไวน์จากออสเตรเลียนั้นไม่โดนภาษีนำเข้าเลยด้วยซ้ำ เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศมีข้อตกลงการค้ากันอยู่
- จีนขู่ออสเตรเลีย “หากมองเราเป็นศัตรู เราจะเป็นศัตรูให้ดู” หลังความสัมพันธ์ทั้ง 2 ย่ำแย่ลงอย่างหนัก
- เพิ่มความร้าวฉาน จีนเตรียมแบนนำเข้าถ่านหินจากออสเตรเลียอีกรอบ หลังเคยแบนมาแล้วหลายครั้ง
- จีนเริ่มงดนำเข้าเนื้อวัว เพิ่มภาษีนำเข้าบาร์เลย์ 80% หลังออสเตรเลียเรียกร้องสืบหาต้นตอ COVID-19 ในจีน
ขณะที่ออสเตรเลียเองคาดว่าการที่จีนขึ้นภาษีนำเข้าไวน์นั้นสาเหตุมาจากแรงจูงใจทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการที่ออสเตรเลียได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการลงทุนจากต่างประเทศ ที่จีนนั้นเข้าใจว่าไว้สกัดไม่ให้บริษัทจากจีนซื้อกิจการต่างๆ ในประเทศออสเตรเลียได้ จนไปถึงการแบนห้ามไม่ให้บริษัทโทรคมนาคมใช้อุปกรณ์จากหัวเว่ย
ในรายละเอียดเพิ่มเติมที่จีนได้กล่าวหานั้น มองว่าไวน์จากออสเตรเลีย ได้ทะลักเข้าสู่ตลาดจีน จนทำให้ตลาดไวน์ของจีนเองได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้น ขณะที่รัฐบาลออสเตรเลียเองเตรียมที่จะนำข้อพิพาทดังกล่าวนี้เข้าสู่กระบวนการในองค์การการค้าโลก หรือ WTO ในเร็วๆ นี้
ไม่เพียงแค่นั้นรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของจีนยังมองว่าการขึ้นภาษีของจีนครั้งนี้ยังถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ “ก้าวร้าว” นอกจากนี้ยังทำให้ความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจโลกลดลง และนั่นยังเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ด้วย
เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานั้นนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลียเองได้ออกมากล่าวว่าจะไม่ให้เรื่องของการค้ากับจีนนั้นมาเหนือกว่าเรื่องผลประโยชน์ของประเทศเด็ดขาด และล่าสุดเขาได้กล่าวว่าจะพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและมองว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก
สำหรับมูลค่าการส่งออกไวน์ของออสเตรเลียไปยังจีนนั้นคิดเป็นสัดส่วน 37% มูลค่ามากถึง 2,900 ล้านเหรียญออสเตรเลีย หรือเกือบๆ 65,000 ล้านบาท
ที่มา – Yahoo Finance, SBS
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา