รถไฟฟ้าความเร็วสูง พลังงานแม่เหล็กจีน เชื่อมกว่างโจว-เซินเจิ้น-ฮ่องกง
ทางการจีนประกาศแผนพัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเทคโนโลยีพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าหรือ Maglev เชื่อมต่อเมืองใหญ่ในเขต Greater Bay Area (GBA) หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษปากแม่น้ำไข่มุก ระหว่างเมืองกว่างโจว เข้ากับเมืองเซินเจิ้น และไปจนถึงฮ่องกง
ในเชิงหลักการ รถไฟ Maglev จะทำงานด้วยเทคโนโลยีแม่เหล็กไฟฟ้า ผลักให้รถไฟลอยตัวเหนือราง ทำความเร็วโดยไม่มีแรงเสียดทาน จึงทำให้รถไฟสามารถทำความเร็วได้สูงถึง 600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มากกว่ารถไฟฟ้าหัวกระสุนทั่วไป ในหลักหลายร้อยกิโลเมตรต่อชั่วโมง
นั่นจะทำให้การเชื่อมต่อระหว่าง 3 ศูนย์กลางเศรษฐกิจแถบปากแม่น้ำไข่มุก (กว่างโจว-เซินเจิ้น-ฮ่องกง) บนเส้นทางความยาวประมาณ 140 กิโลเมตร
- พูดง่ายๆ คือระยะทางจากกรุงเทพไปพัทยา ด้วยรถไฟ Maglev จะสามารถเดินทางได้อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเพียง 20 นาทีเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกจีนมีแผนจะสร้างเส้นทางรถไฟ Maglev เชื่อมต่อกว่างโจว-เซินเจิ้นด้วยระยะทาง 110 กิโลเมตรก่อน
รถไฟความเร็วสูงไม่ใช่แค่เรื่องการขนส่งที่เร็วขึ้น แต่เชื่อมต่อเมืองต่างๆ เพื่อสร้างเขตเศรษฐกิจแห่งอนาคต
สิ่งสำคัญคือ รถไฟฟ้าความเร็วสูงไม่ได้หมายถึงแค่การขนส่งและการเดินทางที่เร็วขึ้น หรือความก้าวหน้าในเทคโนโลยีระบบรางเท่านั้น เพราะมันคือการเชื่อมต่อระหว่างเมืองแห่งอนาคต 3 เมืองเพื่อผนึกกำลังเป็นขุมพลังทางเศรษฐกิจใหม่ของจีน
- ทำไมอนาคตของเศรษฐกิจจีน อาจอยู่ที่ “เซินเจิ้น” ไม่ใช่ “ฮ่องกง”
- Greater Bay Area แผนใหม่จีน ดันฮ่องกง-กวางตุ้ง เป็นศูนย์กลางทางการเงินแห่งใหม่ เตรียมโค่นสิงคโปร์
เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลจีนมอง “รถไฟ Maglev” เป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ที่จะสร้าง Greater Bay Area ให้เป็น ศูนย์กลางเทคโนโลยีระดับสูงระดับมหานคร (Megalopolis) ตามแผนพัฒนา 5 ปี ที่ประกาศออกมาตั้งแต่ปี 2019
รถไฟ Maglev เชื่อมเมืองกว่างโจว เมืองหลวงของมณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ของจีน เข้ากับเมืองเซินเจิ้น เมืองในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไปจนถึงฮ่องกง เขตปกครองพิเศษของจีนที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการเงินของโลก ที่ตั้งอยู่ห่างกัน ให้เชื่อมต่อกันอย่างไร้รอยต่อเสมือนเป็นหน่วยเดียวกัน
นอกจากจิ๊กซอว์ชื่อ Maglev แล้ว จีนยังมีการให้นโยบายจูงใจทางภาษี นโยบายดึงดูดแรงงานทักษะสูง แผนการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และมาตรการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้อยู่อาศัย เพื่อผลักดัน Greater Bay Area อีกด้วย
ที่มา – Bloomberg (1) (2), China Daily HK
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา