ถึงจะยกเลิกนโยบายมีลูกคนเดียว แต่ใช่ว่าคนจีนจะมีลูกเพิ่ม เพราะปัญหาโรงเรียนอนุบาลน้อย และแพง

รัฐบาลจีนยกเลิกนโยบายมีลูกคนเดียว หรือ One-Child Policy ที่ใช้มากว่า 3 ทศวรรษ มาเกือบ 3 ปีแล้ว เพื่อเพิ่มประชากรให้กลับมาสู่ภาวะปกติ แต่มันไม่ง่ายเลย หลังต้นตอของปัญหาอย่าง “โรงเรียนอนุบาล” ยังไม่ถูกแก้ไข

ภาพ pixnio.com

อัตราการเกิดเพิ่มขึ้นจริง แต่คงแค่สั้นๆ

ก่อนหน้านี้นโยบายมีลูกคนเดียวเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2522 เพื่อหยุดการเพิ่มจำนวนประชากร เพราะตอนนั้นชาวจีนชื่นชอบการมีลูกจำนวนมากๆ แต่สุดท้ายแล้วนโยบายดังกล่าวก็ต้องหยุดลงในปี 2558 หลังการใช้วิธีลดจำนวนประชากรแบบนี้ส่งผลให้ภาพรวมประชากรบิดเบือนจากที่ควรจะเป็น จนประชากรวัยแรงงานขาดหาย

ในทางกลับกันคนที่มีอายุมากกว่า 65 ปี หรือผู้สูงอายุกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยคิดเป็น 10% ของประชากรทั้งประเทศกว่า 1,300 ล้านคนแล้ว ที่สำคัญการยกเลิกนโยบายดังกล่าวจึงเพิ่มจำนวนเด็กเกิดใหม่ได้เพียงสั้นๆ เช่นในปี 2560 คาดการณ์ว่าจะมีเด็กเกิดใหม่ถึง 20.23 ล้านคน และในปี 2562 จะลดลงเหลือ 16.41 ล้านคน

นั่นก็เพราะปัญหาจริงๆ ของการมีลูกเพิ่มไม่ใช่นโยบาย แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการศึกษา โดยเฉพาะโรงเรียนอนุบาลที่ไม่เพียงพอ แถมยังมีราคาค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ซึ่งพอผู้ปกครองเห็นปัญหานี้ยังมีอยู่ การจะตัดสินใจมีลูกเพิ่มก็ยากกว่าเดิมแน่นอน เพราะแค่คนเดียวก็ส่งลูกเรียนจนเลือดตาแทบกระเด็นแล้ว

ภาพ pxhere.com

เปิดตัวเลขค่าใช้จ่ายโรงเรียนอนุบาลในจีน

สำหรับค่าใช้จ่ายโรงเรียนอนุบาลในจีน ถ้าเป็นของรัฐบาลอยู่ที่ 500 หยวน/เดือน (ราว 2,500 บาท) ส่วนของเอกชนอยู่ที่ 2,500 หยวน/เดือน (ราว 12,000 บาท) แต่รายได้เฉลี่ยสามีภรรยาในจีน เช่นที่กรุงปักกิ่งจะรวมกันที่ 10,000 หยวน/เดือน (ราว 50,000 บาท) ดังนั้นหากเรียนโรงเรียนเอกชนจะมีค่าใช้จ่ายถึง 1 ใน 4 ของรายรับ

ถ้านับเป็นจำนวน โรงเรียนอนุบาลรัฐในจีนจะมีราว 86,000 แห่ง ส่วนเอกชนมี 1.5 แสนแห่ง ซึ่งถ้าเจาะไปที่ของรัฐอย่างเดียวมันไม่พอกับจำนวนประชากรเด็กวัยอนุบาลที่มีกว่า 44.13 ล้านคนทั่วประเทศแน่ๆ และถึงจะส่งไปเรียนโรงเอกชนก็แพงเกินไป แถมกำหนดให้คนบ้านใกล้เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในโซนเมืองที่มีค่าที่สูงกว่าชานเมืองถึงเท่าตัว

ส่วนความแตกต่างของโรงเรียนอนุบาลเอกชน กับรัฐบาลก็คล้ายกับไทย คือเอกชนย่อมมีการดูแลที่ดีกว่า เพราะในโรงเรียนรัฐมีการบริหารจัดการไม่ดี เช่นในหนึ่งชั้นเรียนมีครู 3 คนเพื่อรองรับนักเรียน 40 คน โดยการจะนำลูกเข้าโรงเรียนอนุบาลได้ บุตรหลานต้องมีอายุ 3 ปีขึ้นไป แต่กว่าจะเอาเข้าได้การแข่งขันก็สูงมาก

ภาพ pixabay.com

ต้องแก้ปัญหาจนถึงระดับคุณครู

ปัจจุบันอาชีพครูในโรงเรียนอนุบาลของรัฐบาลได้รับค่าตอบแทนที่ต่ำมาก บางคนได้เพียง 3,500 หยวน/เดือน (ราว 17,000 บาท) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรายได้ในกรุงปักกิ่งเสียอีก แถมอาชีพนี้ยังแบกรับความกดดันจำนวนมาก เพราะต้องรับผิดชอบลูกคนอื่น ทำให้ไม่มีใครอยากมาเป็น จนการขยายโรงเรียนอนุบาลรัฐบาลก็ยากกว่าเดิม

ทั้งนี้จำนวนคุณครูของโรงเรียนอนุบาลรัฐบาลเพิ่มเพียง 8.6% ในปี 2559 เป็น 2.49 ล้านคน เมื่อมันน้อยขนาดนี้จึงไม่แปลกที่ผู้ปกครองจะมีการติดสินบนคุณครูให้ดูแลบุตรหลานให้เป็นอย่างดี หรือไม่ก็พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกเข้าไปเรียนโรงเรียนอนุบาลให้ได้

ดังนั้นเมื่อคุณครูมีน้อย โรงเรียนรัฐบาลก็ไม่พอ ส่วนโรงเรียนเอกชนก็มีราคาสูงเกินไป ทำให้ถึงรัฐบาลจีนจะพยายามกระตุ้นให้สามีภรรยาในประเทศมีลูกกันมากขึ้น ครอบครัวเหล่านั้นก็คงไม่ยอม และถึงรัฐบาลจีนจะมาสนับสนุนเพื่อลดราคาโรงเรียนเอกชนให้ถูกลง ก็จะเป็นการบิดเบือนราคา และแก้ปัญหาประชากรได้ไม่สิ้นสุดเสียที

สรุป

เห็นปัญหานี้แล้วก็อยากให้ย้อนกลับมามองประเทศไทย เพราะระบบการศึกษาของเราก็มีปัญหาไม่ต่างกัน แถมเรื่องประชากรที่เริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุก็เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นในอนาคตก็คงเห็นรัฐบาลเริ่มเข้ามาแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนเรื่องราคา หรือเดินหน้านโยบายต่างๆ แต่สุดท้ายแล้วเชื่อว่า ปัญหาก็ถูกแก้ที่ปลายเหตุอยู่ดี

อ้างอิง // Nikkei Asian Review

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา