จีนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ แก้ปัญหาใหญ่ 3 เรื่อง ตลาดหุ้น การใช้จ่ายในครัวเรือน และอสังหาริมทรัพย์

จีนประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ แก้ปัญหาทุกด้านทั้งตลาดหุ้น การใช้จ่ายภายในครัวเรือน และแก้ปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์

China economy

ผู้ว่าธนาคารกลางจีนแถลงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนครั้งใหม่ 3 มาตรการหลัก ดังนี้

1. มาตรการหนุนตลาดหุ้นจำนวนเงิน 8 แสนล้านหยวนผ่าน 2 โครงการ คือ

(1) Swap Facility 5 แสนล้านหยวน ธนาคารกลางจีนจะให้สภาพคล่องพิเศษเพื่อนำมาซื้อหุ้นแก่บริษัทหลักทัพย์ กองทุน และบริษัทประกันภัยผ่านการนำทรัพย์สินมาค้ำประกัน

(2) Special re-lending program 3 แสนล้านหยวน โดยจะให้สภาพคล่องสำหรับบริษัทจดทะเบียนและผู้ถือหุ้นรายใหญ่เพื่อนำไปซื้อหุ้นคืน

2. ธนาคารกลางจีนปรับลดดอกเบี้ยมากกว่าคาดการณ์ เพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจผ่านการปรับลดต้นทุนการกู้ยืม รวมถึงปรับลดสัดส่วนเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบประมาณ 1 ล้านล้านหยวน และส่งสัญญาณปรับลดเพิ่มในช่วงที่เหลือของปี 67

3. มาตรการหนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ผ่าน 3 เรื่อง

(1) การปรับลดเงินดาวน์ขั้นต่ำสำหรับการซื้อบ้านหลังที่ 2 จาก 25% มาอยู่ที่ 15%

(2) การปรับลดดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีอยู่เดิม ลงเฉลี่ย 0.5% ช่วยลดภาระหนี้ให้ 50 ล้านครัวเรือน คิดเป็นมูลค่า 1.5 แสนล้านหยวนต่อปี (0.1% ของ GDP)

(3) เพิ่มสัดส่วนการกู้ยืมโครงการ Re-lending สำหรับซื้อบ้านที่สร้างเสร็จแล้วและนำไปปรับปรุงเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับให้เช่าเป็น 100% จาก 60%

ตลาดทุนและตลาดเงินตอบรับเชิงบวกต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน วันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นจีน CSI300 ปรับเพิ่มขึ้น 4.3% อยู่ที่ 3,351.91 ขณะที่เงินหยวนแข็งค่าขึ้น 0.3% อยู่ที่ 7.0318 หยวนต่อดอลลาร์

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนสะท้อนความกังวลของผู้ดำเนินนโยบายต่อเศรษฐกิจจีนที่ส่งสัญญาณชะลอตัว ขณะที่ผลต่อเศรษฐกิจยังไม่ชัดเจน

ปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจจีนคือความเชื่อมั่นอยู่ในระดับต่ำ แต่มาตรการล่าสุดยังขาดมาตรการที่จะช่วยปัจจัยหนุนการบริโภคได้โดยตรง มาตรการทางการคลังขนาดใหญ่อาจต้องทำควบคู่ด้วย

ขนาดของมาตรการยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับปัญหาเศรษฐกิจที่จีนเผชิญอยู่ ซึ่งในปี 2551 ทางการจีนกระตุ้นเศรษฐกิจถึง 4 ล้านล้านหยวนหรือคิดเป็น 15% ของ GDP จีน ในขณะที่แพคเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบนี้เฉพาะที่เป็นตัวเงินคิดเป็น 3.3% ของ GDP

ที่มา Kasikorn Research

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา