หวาดระแวง รัฐมนตรีต่างประเทศจีนเตือนนอร์เวย์ อย่าให้รางวัลโนเบลแก่ผู้ประท้วงฮ่องกง

Wang Yi รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนออกตัวแรงเต็มที่ เห็นค้านนอร์เวย์ หากคิดจะให้รางวัลโนเบลแก่ผู้ประท้วงชาวฮ่องกง ทั้งที่รัฐบาลนอร์เวย์ยังไม่มีความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับรางวัลด้านนี้ กลายเป็นว่าผู้มีอำนาจของรัฐบาลจีนหวาดระแวงมากเกินไป 

Chinese Foreign Minister Wang Yi addresses reporters as U.S. Secretary of State John Kerry listens at the Ministry of Foreign Affairs in Beijing, China, following a bilateral meeting on May 16, 2015. [State Department Photo/Public Domain]
หลังจากที่ Wang Yi รัฐมนตรีต่างประเทศจีนมีทริปทางการทูตเยือนต่างประเทศครั้งแรกหลังโควิด-19 ระบาดหนัก Wang Yi เยือนอิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ รวมถึงนอร์เวย์ การเยือนประเทศต่างๆ ในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดขึ้นหลังสหรัฐฯ มีทริปเยือนยุโรป ส่วนการเยือนของจีนถือว่าเป็นการเยือนฉลองครบรอบ 45 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและเหล่าประเทศ EU 

 

นอกจากนี้ นอร์เวย์ยังเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจอาร์กติกซึ่งมีทั้งหมด 8 ประเทศ อาทิ แคนาดา สหรัฐฯ รัสเซีย ไอซ์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน และฟินแลนด์ ภูมิภาคอาร์กติกที่พรั่งพร้อมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ น้ำมัน ก๊าซ และปลา ก่อนหน้านี้ในปี 2018 จีนเพิ่งจะปล่อยนโยบายอาร์กติก (Arctic policy) ผ่านสมุดปกขาว เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าจีนสนใจอาร์ติกและให้ความสำคัญที่จะพัฒนาด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจในอนาคต (เรียกชื่อว่า Polar Silk Road) 

ประเด็นที่จีนไม่เห็นด้วยถ้านอร์เวย์จะให้รางวัลสันติภาพแก่ผู้ประท้วงชาวฮ่องกงนี้ Wang Yi กล่าวว่า จีนไม่ต้องการเห็นใครที่มีท่าทีเกี่ยวข้องกับการเมืองได้รับรางวัลโนเบล โดยบอกว่า ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต จีนยืนยันหนักแน่นมาตลอดในความพยายามที่จะไม่ให้ใครก็ตามใช้รางวัลโนเบลเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของจีน 

ความสัมพันธ์ระหว่างนอร์เวย์และจีนนั้นปั่นป่วนนับตั้งแต่ปี 2010 ที่นอร์เวย์ให้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพแก่ Liu Xiaobo ซึ่งเป็นชาวจีนคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ขณะที่พำนักอยู่ในจีน Liu Xiaobo เป็นนักเขียนชาวจีน วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีน เป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน เป็นนักปรัชญา เป็นคนที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองในจีน รณรงค์ให้ปิดฉากการปกครองแบบพรรคเดียวของจีนเสียที 

การประท้วงต่อต้าน ไม่ให้จับกุมคุมขัง liu Xiaobo ภาพจาก Wikimedia

Liu ออกมาสนับสนุนการประท้วงเทียนอันเหมินในปี 1989 ถูกจับกุมคุมขังครั้งแรกในปี 1989 – 1991 จากนั้นก็ถูกคุมขังอีกครั้งในปี 1995 – 1996 และคุมขังอีกครั้งในปี 1996 – 1999 เขาถูกต้องสงสัยว่าพยายามจะล้มล้างอำนาจรัฐ เขาเป็นประธาน Independet Chinese PEN Center (PEN สมาคมนักเขียนที่ก่อตั้งในลอนดอนเพื่อให้การสนับสนุนนักเขียนทั่วโลก) ปี 2003 – 2007 เขายังเป็นประธาน Minzhu Zhongguo (นิตยสารด้านประชาธิปไตยจีน) ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1990  

ปี 2008 Liu ยังคงถูกคุมขังอีกครั้งหลังเป็นตัวตั้งตัวตี Charter 08 (Manifesto หรือคำแถลงการณ์ คำประกาศเจตจำนงที่เหล่าปัญญาชนและผู้เคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวจีน 303 คนออกประกาศในวันครบรอบวันสิทธิมนุษยชน 60 ปี ต่อต้านสหภาพโซเวียต เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจีน) และยังถูกข้อหาล้มล้างอำนาจรัฐบาลจีนด้วย ครั้งนี้ ถูกจับกุมคุมขัง 11 ปีนับตั้งแต่ปี 2008 จากนั้นก็เสียชีวิตด้วยมะเร็งปอดในปี 2017

ปี 2010 เขาได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ สำหรับการต่อสู้ที่ปราศจากการใช้ความรุนแรงเพื่อสิทธิมนุษยชนในจีน Liu Xiaobo เป็นชาวจีนคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ เป็นคนที่ 3 ที่ได้รับรางวัลในคุกรองจาก Carl von Ossietzky ชาวเยอรมันคนแรก และ Aung San Suu Kyi ชาวเมียนมาคนที่ 2 (ปัจจุบันเป็นนักการเมืองไปแล้ว) 

นอกจากนี้ Liu ยังเป็นคนที่ 2 ที่ปฏิเสธการรับรางวัลโนเบลต่อจาก Ossietzky ที่เสียชีวิตในโรงพยาบาลหลังถูกคุมขัง เช่นเดียวกับ Liu เสียชีวิตที่โรงพยาบาลเช่นกัน

ช่วงที่เขาได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ กระทรวงต่างประเทศจีนก็ออกมาประณาม Liu Xiaobao และตราหน้าเขาว่าเป็นอาชญากร ไม่สมควรได้รับรางวัลดังกล่าว

Liu Xiaobo เคยกล่าวไว้เมื่อปี 2010 การปฏิรูปการเมืองจีน ควรจะมีลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย สามารถควบคุมได้ มีการทำงานร่วมกัน เป็นการสื่อสารสองทางจากบนลงล่าง จากล่างขึ้นบน วิธีนี้จะเป็นหนทางที่สูญเสียต้นทุนน้อยที่สุดและประสบผลสำเร็จได้ ผมรู้หลักการความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดี มันต้องเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย เป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สามารถควบคุมได้ ย่อมดีกว่าความปั่นป่วนวุ่นวาย ยากแก่การควบคุม

รัฐบาลที่แย่ก็ยังดีกว่าความปั่นป่วนที่เกิดจากภาวะอนาธิปไตย ดังนั้น ผมไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่เป็นเผด็จการ ผูกขาดอำนาจ ไม่ได้หมายความว่า ต้องการโค่นล้มอำนาจรัฐบาล การเห็นค้าน การไม่เห็นด้วย ไม่ได้หมายความว่า ต้องการโค่นล้ม

แม้ครั้งนี้ รัฐบาลนอร์เวย์จะไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับรางวัลดังกล่าว แต่จีนก็ปรามไว้ก่อนแล้ว พร้อมระงับความสัมพันธ์ด้วยการชะลอการเจรจาทางการค้าไว้ 

ที่มา – Quartz, Reuters, The Straits Times, Wikipedia

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา