จีนเริ่มทำสงครามการค้ากับออสเตรเลีย โดยงดนำเข้าเนื้อวัวจากผู้ผลิต 4 ราย นอกจากนี้ยังเพิ่มภาษีนำเข้าข้าวบาร์เลย์ หลังจากแสดงความไม่พอใจเรื่องออสเตรเลียสนับสนุนหาแหล่งที่มาของ COVID-19
จีนเริ่มงดการนำเข้าเนื้อวัวจากผู้แปรรูป 4 รายของออสเตรเลีย รวมไปถึงการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรอย่าง ข้าวบาร์เลย์ เป็น 80% หลังจากที่ออสเตรเลียเรียกร้องให้มีการสืบสวนต้นกำเนิดของ COVID-19 ในประเทศจีน ทำให้ความบาดหมางระหว่าง 2 ประเทศที่เป็นคู่ค้าทางเศรษฐกิจมานาน เพิ่มสูงขึ้นทันที
Simon Birmingham รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ออสเตรเลีย ได้กล่าวว่า จีนได้ประกาศว่าจะงดนำเข้าเนื้อสัตว์จากออสเตรเลีย จากความกังวลในเรื่องมาตรฐานด้านสุขอนามัย แต่อย่างไรก็ดีเขายังได้กล่าวว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาทางเทคนิคและกำลังหาทางแก้ไขกันทั้ง 2 ฝ่ายอยู่
ปริมาณเนื้อวัวที่ส่งออกของออสเตรเลียจากผู้แปรรูป 4 รายคิดเป็น 35% ของปริมาณทั้งหมดส่งออกไปที่ประเทศจีน ขณะที่ออสเตรเลียส่งออกเนื้อวัวไปยังจีน คิดเป็นปริมาณ 30% จากปริมาณการส่งออกทั้งหมด
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการงดนำเข้าเนื้อสัตว์นั้น จีนเองก็ได้ประกาศว่าขึ้นภาษีนำเข้าข้าวบาร์เลย์อีก 80% ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ออสเตรเลียแสดงความกังวลทันทีว่า ราคาของข้าวบาร์เลย์ที่ส่งออกไปนั้นถือว่าเป็นราคาที่แข่งขันได้กับประเทศอื่นๆ และไม่มีการอุดหนุนราคาจากรัฐบาลแต่อย่างใดด้วย
เหตุการณ์ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่ออสเตรเลีย เรียกร้องให้มีการสอบสวนหาต้นกำเนิดของ COVID-19 ที่มีจุดเริ่มต้นจากในประเทศจีน และสนับสนุนการเรียกร้องของสหภาพยุโรปให้มีการสอบสวนอิสระอีกด้านด้วย
Ben Lyons อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าของจีน จากมหาวิทยาลัย Southern Queensland กล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นนี้กับ ABC ว่า “จีนกำลังเล่นเกมทางการทูตกับออสเตรเลียอยู่” แถมยังมีความย้อนแย้งเล็กๆ เพราะว่าจีนเองก็ได้ลงทุนในบริษัทแปรรูปเนื้อสัคว์อย่าง Kilcoy ที่มีโรงงานผลิตในออสเตรเลีย รวมไปถึงที่จีน และยังเชื่อว่าออสเตรเลียมีแต้มต่อในการต่อรองครั้งนี้มากกว่าฝั่งของจีนเอง
สำหรับการงดนำเข้าเนื้อสัตว์จากจีนไม่ใช่ครั้งนี้ครั้งแรก แต่มีมาแล้วในปี 2017 โดยจีนได้แบนการนำเข้าเนื้อสัตว์จาก 6 โรงงานแปรรูปในออสเตรเลีย ก่อนที่ท้ายที่สุดนั้นต่างฝ่ายต่างแก้ปัญหานี้ได้
ออสเตรเลียเองมีจีนเป็นประเทศคู่ค้าหลัก โดยปริมาณการส่งออกสินค้าทุกชนิดไปที่จีนคิดเป็น 38% ของปริมาณส่งออกสินค้าทั้งหมด
ที่มา – SBS News [1], [2], MSN News, 7News
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา