จีนกำลังตัดสินใจจำกัดการส่งออก “แร่หายาก” ให้กับสหรัฐ ถ้าหากยังบีบจีนในด้านเทคโนโลยีต่อไป

เจ้าหน้าที่คณะกรรมการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน กำลังตัดสินใจที่อาจจำกัดการส่งออกแร่หายากให้กับสหรัฐ และอาจใช้เป็นเครื่องมือต่อรองกับสหรัฐ ในเกมสงครามการค้าอีกด้วย

Mining Mine เหมืองแร่
ภาพประกอบบทความจาก Shutterstock

คณะกรรมการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน หรือ NDRC อาจตัดสินใจใช้ไม้แข็งกับสหรัฐอเมริกา ด้วยการจำกัดการส่งออกแร่หายาก หรือ Rare Earth ถ้าหากรัฐบาลสหรัฐฯ ยังบีบจีนไม่เลิก โดยเฉพาะหลังจากการแบนอุปกรณ์โทรคมนาคมที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Huawei ได้รับผลกระทบทันทีเนื่องจากบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐต้องทำตามคำสั่งบริหารนี้ ทำให้ไม่สามารถเป็น Supplier ในอนาคตได้

หนังสือพิมพ์ Global Times สื่อภาษาอังกฤษควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ออกบทบรรณาธิการว่า จีนอาจไม่ส่งออกแร่หายากให้ ถ้าหากสหรัฐยังคบบีบจีนต่อไป และยังได้อ้างถึงคำพูดของเจ้าหน้าที่ NDRC ว่า “ถ้าหากมีประเทศไหนที่ใช้แร่หายากในจีนสำหรับการผลิตสินค้าและยังจำกัดการพัฒนา (เทคโนโลยี) ในจีน ชาวจีนไม่มีความสุขกับเรื่องนี้แน่นอน” และเจ้าหน้าที่ของ NDRC อาจใช้เรื่องนี้เป็นข้อต่อรองกับสหรัฐฯ

ก่อนหน้านี้หนังสือพิมพ์ Global Times ก็เคยตีพิมพ์บทบรรณาธิการว่า จีนสามารถใช้แร่หายากเป็นเครื่องต่อรองทางการค้ากับสหรัฐได้ และยังได้กล่าวว่าไม่มีใครเป็นผู้ชนะในเกมสงครามการค้านี้ด้วย

ปัจจุบันสหรัฐฯ ได้นำเข้าแร่หายากจากประเทศจีนในช่วงปี 2014 ถึง 2017 เป็นสัดส่วนสูงถึง 80% โดยแร่หายากประกอบด้วยแร่ 17 ชนิด ใช้ในอุปกรณ์ต่างๆ ตั้งแต่ทั้งในโทรศัพท์มือถือ กังหันลม รถยนต์ไฟฟ้า เรดาร์ มิสไซล์ ฯลฯ และจะกระทบบริษัทของสหรัฐทันทีไม่ว่าจะเป็น Apple และ Qualcomm รวมไปถึง Raytheon ผู้ผลิตอาวุธรายใหญ่ของสหรัฐ ฯลฯ

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กับ หลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีของจีน และเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจที่ประธานาธิบดีจีนไว้ใจมากคนหนึ่ง ได้ไปเยี่ยมโรงงานผลิตแร่หายาก JL MAG Rare-Earth ที่เมืองก้านโจว ซึ่งเป็นหนึ่งเมืองที่ผลิตแร่หายาก ซึ่งส่งสัญญาณไปสหรัฐว่าจีนอาจเอาจริงในเรื่องนี้

การงดส่งออกแร่หายากไปยังประเทศอื่น ไม่ใช่กรณีใหม่ของจีน เพราะจีนเคยงดส่งออกแร่หายากให้กับญี่ปุ่นมาแล้วในปี 2010 ซึ่งมีกรณีข้อพิพาทพื้นที่ทางทะเลระหว่างกัน ขณะเดียวกันถ้าหากสหรัฐนำเข้าจากประเทศอื่นๆ เช่น ออสเตรเลีย มาเลเซีย ฯลฯ ก็จะมีปริมาณที่ไม่เพียงพออยู่ดี

ที่มาGlobal Times, Business Insider, BBC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ