จีน-อินโดนีเซีย เดินหน้าแบ่งปันความรู้และสนับสนุนความมั่นคงทางไซเบอร์ จับมือกันลงนามบันทึกข้อตกลง (MoU) พัฒนาเทคโนโลยีและความมั่นคงทางไซเบอร์ สร้างระบบจัดการอินเทอร์เน็ตโปร่งใส-เป็นประชาธิปไตย และสร้างโลกออนไลน์ที่สงบและมั่นคง
องค์กรไซเบอร์และคริปโตแห่งชาติอินโดนีเซีย (National Cyber and Crypto Agency of Indonesia) และองค์กรการปกครองบนโลกไซเบอร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Cyberspace Administration of China) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงพัฒนาเทคโนโลยีและความมั่นคงทางไซเบอร์ร่วมกันอย่างเป็นทางการในระหว่างที่ Wang Yi สมาชิกรัฐสภาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนเดินทางไปยังประเทศอินโดนีเซียในวันที่ 12 มกราคม 2564 เพื่อแบ่งปันความรู้และสนับสนุนความมั่นคงทางไซเบอร์ไปด้วยกัน
โดยข้อตกลงความมั่นคงทางไซเบอร์จีน-อินโดนี้ ระบุว่า จีนและอินโดนีเซียจะร่วมกันสนับสนุนนโยบายที่เคารพหลักการอธิปไตยบนโลกออนไลน์ ทำงานร่วมกันเพื่อความสำเร็จแห่งพหุภาคี สร้างระบบการจัดการอินเทอร์เน็ตที่เป็นประชาธิปไตย-โปร่งใส สร้างโลกออนไลน์ที่สงบ มั่นคง มีระเบียบ มีความรับผิดชอบ มีความปลอดภัยของข้อมูล และร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโดยรวม
Pratama Persadha ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางไซเบอร์แห่งสถาบันค้นคว้าวิจัยทางไซเบอร์เพื่อการสื่อสารและศูนย์วิจัยความปลอดภัยทางข้อมูลแห่งอินโดนีเซีย (CISSReC) กล่าวว่า จีนเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับในด้านการพัฒนาเทคโนโลยี 5G จากนานาชาติ การทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างจีน-อินโดในครั้งนี้เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องและเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้อินโดนีเซียเป็นประเทศที่เป็นอธิปไตยและเป็นกลางถึงแม้ในอนาคตอาจได้รับแรงกดดันจากอเมริกาก็ไม่ได้เป็นปัญหาตราบใดที่ข้อตกลงนี้ส่งผลดีต่อประชาชน
Onno W Purbo ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีของอินโดนีเซีย ระบุว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศอิสระ สามารถทำงานกับใครก็ได้ อินโดนีเซียต้องการและพยายามที่จะพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศไปพร้อมๆ กับประเทศอื่นโดยไม่พึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากจนเกินไปไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ยุโรป หรือจีน
อินโดเนียเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย GDP มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ การบรรลุข้อตกลง MoU ของจีน-อินโดในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นระหว่างสองประเทศในเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์และข้อกำหนดในการเปิดกว้างทางการสื่อสารระหว่างกันภายใต้เงื่อนไขที่ทั้งสองประเทศไม่มีการเปิดช่องให้เกิดการรั่วไหลของข้อมูลภายในประเทศระหว่างกัน
การร่วมมือของจีน-อินโดในครั้งนี้อาจนำไปสู่การทำข้อตกลงเพิ่มเติมระหว่างจีนกับประเทศในกลุ่มอาเซียนอื่นๆ หลังจากเห็นประโยชน์จากการร่วมมือกันระหว่างสองประเทศสอดคล้องกับความต้องการของจีนที่อยากเข้าร่วมความร่วมมือแบบพหุภาคเพิ่มมากขึ้น
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา