ชาวจีนแย่งซื้อบ้านใกล้โรงเรียนดัง หวังโควตาส่งลูกเข้าเรียน ราคาบ้านเก่าทะลุ 25 ล้านบาท

พ่อแม่ชาวจีนที่ต้องการให้ลูกมีที่เรียนที่ดีพากันแย่งซื้อบ้านใกล้โรงเรียนดังเพื่อชิงสิทธิ์ส่งลูกเข้าเรียน ดันราคาร้อนแรง ขนาดอพาร์ทเมนท์อายุมากกว่า 60 ปี ยังมีราคาถึง 26 ล้านบาท

ซื้อบ้าน เท่ากับซื้ออนาคตให้ลูก

จำนวนประชากรของจีนที่มีมหาศาลหมายถึงนักเรียน 18 ล้านคนต่อปี ที่สมัครเข้าโรงเรียนประถมศึกษา และมีเพียง 20% เท่านั้นที่ศึกษาต่อจนจบมหาวิทยาลัย

ตามกฎหมายของจีนในบางพื้นที่ การเช่าบ้านไม่สามารถส่งลูกเข้าโรงเรียนได้ ต้องมีบ้านในชื่อของตัวเองล่วงหน้าหลายปีเท่านั้น การที่ผู้ปกครองพากันแย่งซื้อบ้านในเขตที่มีโรงเรียนชื่อดัง ทำให้ที่ดินและอสังหาในพื้นที่นั้นมีราคาสูงมาก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้

บริเวณรอบๆ โรงเรียนประถม Zhongguancun หมายเลข 3 กลางกรุงปักกิ่งมีราคาสูงขึ้นถึง 31% จากปีที่แล้ว ซึ่งโรงเรียนนี้ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโรงเรียนที่ดีที่สุดในเมือง

สถานการณ์ในเซี่ยงไฮ้ก็หนักไม่ต่างกัน ด้วยราคาเฉลี่ยของที่ดินและอสังหาในเขตโรงเรียนดังหลายเขต เพิ่มขึ้นถึง 20% ต่อปี นายหน้าอสังหาสามารถเรียกราคาอพาร์ทเมนท์ที่มีสองห้องนอนที่ 115 ล้านบาทได้อย่างง่ายดาย

Chen Sheng ประธานของ China Real Estate Academy กล่าวว่าบ้านในเขตโรงเรียนดังถูกมองเป็น “สินทรัพย์ที่ได้รับการยอมรับอย่างทั่วถึงไปแล้ว” โดยเสริมว่าบ้านเหล่านี้มีความต้องการในตลาดสูง จึงเป็นน่าสนใจในการลงทุน

รัฐบาลเข้าแทรกแซงราคาบ้าน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทางการจีนพยายามควบคุมราคาอสังหาไม่ให้โตเร็วเกินไปมาโดยตลอด และบ้านในเขตโรงเรียนดังก็เป็นปัญหาใหญ่เช่นเดียวกัน

ทางรัฐบาลออกนโยบายในแต่ละเขตแตกต่างกันออกไป ตัวอย่างเช่น การจ่ายภาษีในเขตนั้นก่อน 5 ปีถึงจะซื้อบ้านได้ หรือ การปรับกฎให้โรงเรียนมีโควตาสำหรับผู้สมัครในเขตน้อยลง ต้องให้ผู้สมัครสอบเข้าได้เองมากขึ้น หรือแม้แต่ให้โรงเรียนมัธยมปลายชื่อดังต้องมีโควต้ารับนักเรียนจากโรงเรียนมัธยมต้นที่ไม่ดังอีกด้วย

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเองก็เล็งเห็นปัญหาส่วนนี้เช่นเดียวกัน กล่าวว่าราคาบ้านในเขตโรงเรียนดังสูงเกินไป และสัญญาว่ารัฐจะต้องแก้ปัญหาด้านความไม่เท่าเทียมในการศึกษาให้ได้

Chen Jie ศาสตราจารย์ด้านการวิจัยอสังหาริมทรัพย์จาก Shanghai Jiao Tong University อธิบายว่า “การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ได้มีเป้าหมายในการควบคุมราคาตลาดอย่างเดียว แต่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาอีกด้วย เป็นการทดลองมอบโอกาสที่เท่าเทียมกันมากขึ้นให้แก่นักเรียนที่มาจากภูมิหลังที่ต่างกันทางรายได้และสังคม”

สรุป

เมื่อผู้ปกครองสมัยใหม่มีรายได้มากขึ้น อยากให้ลูกมีการศึกษาที่ดีขึ้น แต่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่ “ดีพอ” กลับมีจำนวนไม่พอสำหรับพ่อแม่ชาวจีน การแข่งขันจึงเริ่มตั้งแต่การซื้อบ้านและบางครั้ง ก่อนจะมีลูกด้วยซ้ำ

ส่วนตัวคิดว่า เมื่อความไม่เท่าเทียมลดลง ทุกคนก็จะได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกันมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องแก้ไข

ที่มา – Bloomberg 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา