สำนักข่าว Xinhua รายงานเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า จีนกำลังเดินหน้ารับมือกับความเปลี่ยนแปลงในเรื่องประชากรในวัยแรงงานที่กำลังหดตัว ด้วยการรื้อกฎหมายที่มีอยู่เดิม ปรับปรุงให้ทันยุค ทันสมัยมากขึ้น ซึ่งปกติแล้ว จีนมีอายุเกษียณที่ต่ำที่สุดในโลก (ชาย 60 ปี หญิง 55 ปี)
มีรายงานว่า ในปี 2021 อายุคาดเฉลี่ย (Life expectancy) ของจีนเพิ่มขึ้นมาเป็น 78 ปี เพิ่มจากเดิมในช่วงปี 1960 คืออายุ 44 ปี และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นทะลุ 80 ปีในช่วงปี 2050
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ไม่เพียงส่งผลโดยตรงคือ ยืดอายุเวลาทำงานให้ยาวนานขึ้น แต่นัยสำคัญของมันคือการยืดเวลาจ่ายเงินบำนาญให้ทอดยาวออกไปอีก เนื่องจากจีนกำลังประสบปัญหากองทุนบำนาญขาดแคลนในหลายจังหวัด
นโยบายนี้ช่วยลดแรงกดดันในการหาเงินมาอุดในส่วนที่ขาดได้ ขณะเดียวกัน รัฐก็มีแรงงานที่เป็นเสมือนกำลังสำรองเพิ่มขึ้นไปอีก เนื่องจากรู้งานอยู่แล้ว ไม่ต้องสอนงานเพิ่ม แค่ยืดเวลาการทำงานก็สามารถแก้ปัญหาใหญ่ๆ ได้อย่างน้อย 2 เรื่องที่กล่าวมาอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันมันก็ช่วยรักษาเสถียรภาพของผลิตภาพ (Productivity) ให้ไม่แกว่งได้ในระยะยาว
มีการคาดการณ์ว่า ประชากรจีนอายุ 60 ปีขึ้นไป จะเพิ่มขึ้นจาก 280 ล้านคนเป็นกว่า 400 ล้านคนภายในปี 2035
ปัจจุบัน จังหวัดที่อยู่ในเขตอำนาจศาลระดับมณฑลของจีน 11 แห่ง จาก 31 แห่ง กำลังประสบปัญหาขาดดุลงบประมาณบำนาญ
ขณะเดียวกัน สถาบันศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ที่ดำเนินการโดยรัฐก็คาดการณ์ว่า หากไม่มีการปฏิรูปใดๆ เงินในระบบบำนาญของจีนจะหมดลงภายในปี 2035 (ภายใน 10 ปีเศษๆ) ซึ่งจีนก็กำลังเจริญรอยตามญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่ประชาชนจะรับเงินบำนาญได้ ในวัย 65 ปี และ 63 ปีตามลำดับ
ที่มา – CNA
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา