ยานยนต์สหรัฐฯ ระส่ำ! แบรนด์จีนเตรียมยึดหัวหาด ต่อเนื่องจากที่โดนแบรนด์ญี่ปุ่น และเกาหลีแย่งตลาด

ตลาดรถยนต์ในสหรัฐอเมริกากำลังจะเจอศึกใหญ่อีกครั้ง หลังแบรนด์จีนเตรียมส่งรถยนต์ไฟฟ้าหลากรุ่นลงแข่งกับ GM, Ford และแบรนด์อื่น ๆ

คล้ายกับช่วงทศวรรษ 70s ที่แบรนด์ท้องถิ่นในสหรัฐอเมริกาถูกแบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นอย่าง Toyota และ Honda ตีตลาด ส่วนปัจจุบันเจอแบรนด์เกาหลีทั้ง Hyundai และ Kia แย่งส่วนแบ่งในตลาดไป

ภาพรวมตลาดรถยนต์สหรัฐอเมริกาจะกระทบมากแค่ไหน และจีนจะครองตลาดได้เบ็ดเสร็จหรือไม่ Brand Inside ขอสรุปไว้ให้ดังนี้

NIO

เตรียมตัวหลายปีถึงเวลาบุกไปท้าทาย

ปัจจุบันแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนทั้งฝั่งผู้ผลิตดั้งเดิม และสตาร์ตอัพต่างมีบทบาทในระดับโลกมาขึ้น เช่น BYD ผู้ผลิตรถยนต์ดั้งเดิมที่หันมารุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้า สามารถแซงหน้า Tesla ขึ้นเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 1 ของโลก ส่วน Nio ในฐานะสตาร์ตอัพ มีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา และเริ่มขยายตลาดไปยุโรป

เมื่อทุกอย่างพร้อม แบรนด์จีนที่ทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจึงวางแผนบุกสหรัฐอเมริกา หนึ่งในตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยบางแบรนด์เริ่มปูพรมด้วยการสื่อสารการรับรู้ของของแบรนด์ และเปิดโชว์รูมบ้างแล้ว ซึ่งคาดการณ์ว่าการไปบุกตลาดที่นั่น แบรนด์จีนจะอาศัยจุดแข็งที่มีมาตลอดนั่นคือ ราคา

ยิ่งถ้าดูในงาน Shanghai Auto Show จะพบว่า ทุกแบรนด์จีนที่ทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าต่างมีความพร้อมทั้งเรื่องการออกแบบ และการวางกลยุทธ์ราคา เหลือแค่ดูว่าผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาจะตัดสินใจซื้อหรือไม่ เพราะปัญหาเรื่องการเมืองระหว่าง 2 ประเทศยังคุกรุ่น และผู้บริโภคเองเริ่มลดการใช้สินค้าจากจีนทั้งตัดสินใจเอง และถูกบังคับ

จาก Toyota สู่ Hyundai และล่าสุดคือ BYD

ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่แบรนด์รถยนต์ต่างชาติจะเข้าไปบุกสหรัฐอเมริกา แต่หากนับแค่ฝั่งเอเชียที่บุกเข้าไปนั้นล้วนแต่สร้างผลกระทบอย่างหนักหน่วงให้กับ Ford และ GM รวมถึงแบรนด์ท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ทศวรรษที่ 70s แบรนด์ญี่ปุ่นทั้ง Toyota และ Honda ประสบความสำเร็จในสหรัฐอเมริกาอย่างมากผ่านการทำราคาที่ถูก และมีรถที่ประหยัดน้ำมัน

หากย้อนไป 10 ปี แบรนด์เกาหลีทั้ง Hyundai และ Kia เริ่มเข้ามามีบทบาทในตลาดสหรัฐอเมริกามากขึ้นผ่านกลยุทธ์คล้าย ๆ กับญี่ปุ่น แต่งานนี้เข้าไปชิงแชร์ในตลาดรถหรู และ SUV ที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบันด้วย ซึ่งหลังจากนี้จะเป็นทีของ BYD และพรรคพวกแบรนด์จีนอื่น ๆ ที่จะเข้าไปชิงแชร์ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า

เมื่อดูที่ภาพรวมตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในจีนจะพบว่า ปี 2022 มีการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศกว่า 5 ล้านคัน ส่วนในสหรัฐอเมริกาแม้จะทำสถิติใหม่ที่ 8 แสนคัน ในปีเดียวกัน แต่ก็เรียกว่าห่างกับตลาดจีนหลายเท่าตัว ซึ่งที่จีนนั้น แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจากสหรัฐอเมริกาก็ไม่มีที่ยืนเช่นกัน

ใครล่ะจะไม่อยากได้รถยนต์ไฟฟ้าราคาถูก

Bill Russo ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Automobility ที่ปรึกษาด้านรถยนต์จากจีน มองว่า แบรนด์จีนใช้กลยุทธ์ให้คุณสมบัติสูง ในราคาที่คุ้มค่า ซึ่งเป็นเรื่องปกติของสินค้าจากจีนที่เห็นทั่วไป และคงไม่มีใครที่ไม่อยากได้รถยนต์ที่มีประสิทธิภาพ ในราคาที่เอื้อมถึงไม่ยาก

ยิ่ง Tesla และแบรนด์รถยนต์ในสหรัฐอเมริกา เคยให้คำมั่นว่าจะทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่วิ่งได้ไกลในราคาต่ำกว่า 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่สุดท้ายก็ไม่มีออกมาเสียที แถม Bolt EV ของ GM รถยนต์ไฟฟ้าท้องถิ่นที่ราคาถูกที่สุดยังประกาศยุติการทำตลาดในสิ้นปี 2023 ทำให้โอกาสที่แบรนด์จีนจะใช้ราคาเข้าสู้มีมากขึ้นไปอีก

ในทางกลับกัน แบรนด์จีนที่ทำราคาออกมาได้น่าสนใจมีทั้ง Wuling Hong Guang Mini รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก และหนึ่งในรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมที่สุดในจีน ขายในาราคาเพียง 5,000 ดอลลาร์ รวมถึง Seagull ของ BYD ที่วิ่งได้ไกลกว่า 300 กม. ในราคาที่ต่ำกว่า 11,000 ดอลลาร์

การเข้ามายึดหัวหาดคงไม่เกิดขึ้นทันที

อย่างไรก็ตามการเข้ามายึดตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาโดยแบรนด์จีนคงไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ อาจต้องใช้เวลาอีกหลายปี เพราะหลายแบรนด์อาจต้องทดลองตลาดเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภค ก่อนจะเตรียมตัวบุกตลาดด้วยรถยนต์ไฟฟ้าที่ตรงกับความต้องการของคนที่นั่นมากที่สุด

เบื้องต้นมี Polestar แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าของ Geely เจ้าของ Volvo เข้าไปทำตลาดที่สหรัฐอเมริกาแล้ว และ Nio เตรียมเข้าไปทำตลาดในสหรัฐอเมริกาในปี 2025 ส่วน BYD ปัจจุบันมีโรงงานผลิตรถเพื่อการพาณิชย์ที่สหรัฐอเมริกา และคงต้องดูท่าทีในการขยับตัวว่าจะเริ่มบุกรถยนต์ไฟฟ้าเมื่อไร

ดังนั้นการบุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาโดยแบรนด์จีนถ้าจะเต็มรูปแบบจริง ๆ ต้องรอทุกแบรนด์ตั้งโรงงานผลิต คล้ายกับที่แบรนด์ญี่ปุ่น และเกาหลีทำ ที่สำคัญคือต้องลุ้นว่าแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจีนจะสามารถก้าวข้ามปัญหาการเมือง และการไม่ใช้สินค้าจากจีนของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาได้หรือไม่

อ้างอิง // Business Insider, NIO

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา