เศรษฐกิจจีนเติบโตอ่อนแอที่สุดในรอบกว่า 30 ปี: ภาคอสังหาฯ ยังแย่ ความเชื่อมั่นยังไม่ฟื้นตัว

เศรษฐกิจจีนเติบโตอ่อนแอที่สุดในรอบกว่า 30 ปี

ปี 2023 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนเติบโตอ่อนแอที่สุดในรอบกว่า 30 ปี หลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ การบริโภคที่ซบเซาและเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน โดยผู้เชี่ยวชาญนับสิบรายที่ให้สัมภาษณ์ผ่าน AFP คาดการณ์ว่า GDP จีนน่าจะโตอยู่ที่ 5.2% ซึ่งก็ถือว่าเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ช่วง 1990 เป็นต้นมา

Xi Jinping

การเติบโตทางเศรษฐกิจดังกล่าวถือว่าดีขึ้นกว่าปี 2022 ที่ผ่านมาราว 3% แม้ว่าช่วงนั้นธุรกิจต่างๆ จะได้รับผลกระทบจากโควิดระบาดอย่างหนักจนต้องมีการใช้มาตรการควบคุมโรคระบาดเข้มข้นเพื่อควบคุมไวรัสก็ตาม แต่หลังจากที่โรคระบาดกลายเป็นโรคท้องถิ่นและจีนเริ่มปลดล็อคมาตรการเข้มงวดเหล่านี้แล้ว จีนก็เติบโตตามเป้าที่วางไว้ที่ร้อยละ 5

แม้การเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติในจีน จะทำให้เศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัวขึ้น แต่เนื่องจากขาดความเชื่อมั่นในครัวเรือนและภาคธุรกิจจึงส่งผลต่อการบริโภคไปด้วย อีกทั้งวิกฤตจากภาคอสังหาริมทรัพย์และการว่างงานจำนวนมากของคนหนุ่มสาวและเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงทั่วโลกจึงส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้าน Jing Liu ประธานด้านเศรษฐศาสตร์จาก HSBC ระบุว่า ความท้าทายหลักในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนยังคงเป็นภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งภาคอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นหนึ่งในสี่อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนมาเนิ่นนานแล้ว

เศรษฐกิจจีนที่เติบโตอย่างน่าตื่นตาตื่นใจในสองทศวรรษที่ผ่านมา แต่ปัญหาทางการเงินจากบริษัทขนาดใหญ่อย่าง Evergrande และ Country Garden ก็ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้มีกำลังซื้อขาดความไว้วางใจ ซึ่งบริษัทเหล่านี้ก็ยังมีโครงการที่ยังพัฒนาคั่งค้างอยู่และทำให้ราคาตกต่ำลงด้วย

Harry Murphy Cruise นักเศรษฐศาสตร์จาก Moody ระบุว่า การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์นี้จะมีราคาขายที่ลดลงตลอดปี 2024 และจะค่อยๆ กลับมาดีขึ้นในปี 2025 ขณะที่ Helen Qiao จาก Asia Economic Research แห่ง Bank of America กล่าวว่า ตลาดแรงงานมีแรงเฉื่อย หนุ่มสาวมากกว่า 1 ใน 5 ในช่วงวัย 16 ปีถึง 24 ปีในจีนว่างงานในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จากนั้นก็มีการระงับการรายงานการว่างงานของจีน

การฟื้นตัวภาคธุรกิจของจีนมีลักษณะไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่ฟื้นตัวมากในภาคบริการ เช่น ร้านอาหาร คมนาคม และท่องเที่ยว แต่ระดับการใช้จ่ายยังต่ำกว่าช่วงปี 2019 ก่อนโควิดระบาด ที่ฟื้นตัวมากคือภาคยานยนต์ การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เช่น แบรนด์ BYD เป็นต้น

ขณะที่ภาคการส่งออกที่ถือเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีนนั้น ลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2016 ส่วนหนึ่งมาจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์กับสหรัฐอเมริกาและการที่ชาติตะวันตกหลายประเทศพากันลดการพึ่งพาจีน ลดการลงทุนในจีนลง โดยเน้นกระจายซัพพลายเชนไปยังประเทศต่างๆ มากขึ้น ซึ่งปีนี้ World Bank คาดการณ์ว่าจีนจะมีเศรษฐกิจเติบโตอยู่ที่ 4.5% ส่วนอัตราเฉลี่ยที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจคาดการณ์ คาดว่าจีนจะมีเศรษฐกิจเติบโตอยู่ที่ 4.7% โดยจีนน่าจะประกาศเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ในเดือนมีนาคมนี้

ที่มา – Japan Today

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา