อย่าผูกติดจีน เศรษฐกิจจีนเริ่มอ่อนแอ ไทยกำลังได้รับผลกระทบตาม
KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าภาพรวมเศรษฐกิจจีนปีนี้และระยะต่อไปกำลังเผชิญความท้าทายมาก จะไม่เติบโตแข็งแกร่งเหมือนทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจที่โตช้าดังกล่าวมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งเรื่องความเสี่ยงด้านอสังหาริมทรัพย์ การส่งออกที่ถูกกดดันจากปัจจัยภายนอก และอัตราว่างงานที่เพิ่มมากขึ้น
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน กระจุกตัวแค่เฉพาะภาคบริการเท่านั้น
1) เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา “ค้าปลีก” จีน ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 12% แต่ไม่ได้ฟื้นตัวดีมาก เนื่องจากการเติบโตดังกล่าวมาจากผลของฐานในปีที่แล้ว ที่การเติบโตต่ำลงมาจากผลกระทบของการปิดเมือง หากเทียบยอดค้าปลีกกับสองปีก่อนที่ยังไม่กลับมาปิดเมืองอีกรอบ (ปี 2021) พบว่าอัตราการเติบโตอยู่ที่ 2.6% ต่อปีเท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่า ภาคการบริโภคในส่วนของสินค้าไม่ได้ฟื้นตัวดีมากเทียบระดับปกติในอดีต
2) การผลิตในภาคอุตสาหกรรม ตัวเลขการผลิตจีนเดือนพฤษภาคมเติบโต 3.5% เทียบกับปีก่อนหน้า หากเทียบสองปีก่อน การเติบโตของการผลิตชะลอตัวเหลือเพียง 2.1% ต่อปี สะท้อนการฟื้นตัวไม่ได้แข็งแกร่งอย่างที่คาด
3) ดัชนีการลงทุน ตัวเลขการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเริ่มชะลอตัวแม้เทียบกับฐานที่ต่ำจากปีที่แล้ว การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว
4) ภาคบริการ เป็นภาคเศรษฐกิจเดียวของจีนที่มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนโดยดัชนี PMI (Purchasing Manager Index) ภาคบริการมีแนวโน้มขยายตัวสวนทางภาคการผลิตที่เริ่มชะลอลง เช่น จำนวนการบินภายในประเทศเริ่มกลับมาอยู่ในระดับปกติ การบินต่างประเทศก็ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องด้วย
ความเปราะบางเชิงโครงสร้างเริ่มส่งผลกระทบ
1) ความเสี่ยงภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนกำลังประสบปัญหา
ปัญหามาจากความเสี่ยงที่โครงการอสังหาฯ หลายแห่งไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างจนเสร็จสิ้นได้ เนื่องจากหลายบริษัทกำลังประสบปัญหาด้านสภาพคล่องและประสบปัญหาล้มละลาย ไม่สามารถชำระหนี้สินได้ ปัญหานี้เป็นประเด็นมาตั้งแต่ปี 2015 แล้ว
สาเหตุสำคัญมาจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในจีนมีการใช้รายรับจากยอด pre-sale หรือยอดขายก่อนที่โครงการจะสำเร็จ นำมาใช้จ่ายในโปรเจคอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ดังนั้น เมื่อยอด pre-sale จีนชะลอตัวลงจากปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ จึงส่งผลให้โครงการอสังหาฯ ที่กำลังสร้างอยู่จำเป็นต้องชะงักลง กระทบต่อความสามารถในการดำเนินงานและการชำระหนี้จากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์
2) ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเริ่มสั่นคลอน
ความเสี่ยงจากอสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของครัวเรือน โดยเฉพาะผู้ผ่อนบ้านในโครงการที่มีความเสี่ยงไม่ส่งมอบตามสัญญา อัตราการออมในครัวเรือนมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง ชี้ให้เห็นว่าครัวเรือนมีการลดสัดส่วนของการบริโภคและเพิ่มสัดส่วนการออมมากขึ้น
3) ภาคการส่งออกกำลังถูกกดดัน
ตัวเลขส่งออกจีนหลายเดือนที่ผ่านมาหดตัวลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้วจากการชะลอตัวของอุปสงค์โลก การส่งออกที่หดตัวลงยังเป็นผลมาจากการแยกกัน (decoupling) ระหว่างเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกมากขึ้น การส่งออกของจีนไปตลาดสหรัฐฯ หดตัวในอัตราที่สูงกว่าตลาดอื่นค่อนข้างมาก
4) อัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้น
กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนเริ่มกลับมาหลังจีนเปิดเมือง แต่ตลาดแรงงานในจีนยังอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างซบเซาโดยเฉพาะแรงงานในกลุ่มอายุระหว่าง 16-24 ปีที่เผชิญกับอัตราว่างงานสูงถึง 20.4% ในเดือนเมษายน
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมหลักที่รองรับการจ้างงานกลุ่มแรงงานจบใหม่ ส่วนมากเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ หรืออุตสาหกรรมที่เผชิญนโยบายภาครัฐควบคุมธุรกิจมากขึ้น เช่น ภาคเทคโนโลยี ภาคการศึกษา ทำให้แรงงานกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบทางลบมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอ ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าจีนจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมามากขึ้นและช่วยทำให้เศรษฐกิจจีนสามารถฟื้นตัวต่อเนื่องได้ KKP Research เชื่อว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าด้วยการอัดฉีดสภาพคล่อง การลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก จะรักษาสภาพคล่องให้เอกชนเท่านั้น แต่ไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนที่จะเพิ่มขึ้นอย่างในอดีตได้
ไทยเตรียมรับมือผลกระทบที่ตามมา
เศรษฐกิจจีนที่เติบโตช้าลงอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก จากการที่เศรษฐกิจไทยพึ่งพาจีนในสัดส่วนที่สูง แม้นักท่องเที่ยวจากจีนจะทยอยกลับมา แต่ยังฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดและยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงปี 2019 อยู่ค่อนข้างมาก หากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวต่อเนื่อง อาจส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ประมาณ 5 ล้านคน
แม้การส่งออกของไทยไปจีนจะฟื้นตัวได้ดีเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่สินค้าส่งออกไปจีนที่ฟื้นตัวได้ดีมีเพียงแค่กลุ่มผลไม้เป็นหลัก สะท้อนการฟื้นตัวของจีนกระจุกตัวแค่ภาคอุปโภคบริโภค ส่วนส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยยับซบเซาตามการะลอตัวของภาคการลงทุนและส่งออกของจีน
ที่มา – KKPFG
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา