เศรษฐกิจจีนไตรมาส 3 เติบโตช้าลงอยู่ที่ 4.9% ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เป็นเช่นนี้มีหลายเรื่อง นับตั้งแต่เรื่องนโยบายจัดการโควิดระบาดไม่จบ การขาดแคลนพลังงาน ไปจนถึงความเสี่ยงจากแรงกดดันจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ส่งผลให้ GDP ของจีนอยู่ที่ 4.9%
เศรษฐกิจของจีนเติบโตชะลอลงนี้ เกิดขึ้นหลังจากจีนใช้มาตรการ zero-tolerance COVID หรือมาตรการจัดการโควิดให้เป็นศูนย์ด้วย สิ่งที่รัฐบาลจีนทำเพื่อรับมือกับการระบาดของโควิดและเพื่อคุมตัวเลขการติดโควิดให้กลายเป็นศูนย์นี้ มีทั้งการปิดพรมแดน การปล่อยให้คนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศน้อยลงเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อในประเทศไม่ให้มีการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น
นี่คือมาตรการที่จีนทำนับตั้งแต่มีการระบาดครั้งแรก หลังจากคุมโควิดระบาดได้แล้ว จีนยังเดินหน้าใช้นโยบาย zero-tolerance เพื่อจัดการกับโควิดต่อไป ทำให้ผู้คนเริ่มต่อต้านมาตรการดังกล่าวเพราะต้องการให้มีการเดินทางบ้าง อีกทั้งช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ผู้คนนับร้อยที่อาศัยอยู่ใน Yangzhou ต่างออกมาประท้วงหลังมีการล็อคดาวน์พรมแดนยาวนาน 3 สัปดาห์
กอปรกับระบบเดลิเวอรี่ของรัฐบาลมีปัญหา ทำให้คนออกมาประท้วงเพราะไม่ได้รับอาหาร ไม่ได้รับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและสิ่งของจำเป็นจากรัฐบาล แม้สุดท้ายอาหารจะส่งถึงมือชาวบ้านในเมืองนั้นแต่ผักที่ได้ก็กลายเป็นผักเน่า ผู้คนโกรธแค้นที่ระบบเดลิเวอรี่ของรัฐมีปัญหา รวมทั้งล็อคดาวน์อันยาวนานเกินไป
GDP ของจีนไตรมาส 2 เติบโตอยู่ที่ 7.9% แต่ไตรมาส 3 นี้เติบโตชะลอลงอยู่ที่ 4.9% ไม่ได้มาจากนโยบายล็อคดาวน์ที่เข้มข้นมากเกินไปเท่านั้น แต่ยังเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตหนี้ของ Evergrande ด้วยที่สร้างปัญหาและทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนได้รับแรงกดดันจากความเสี่ยงด้านการชำระหนี้ไปด้วย
ภาพรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนทั้งหมดสะท้อนความอ่อนแอลง ซึ่งรวมถึงภาคการผลิตและการใช้จ่ายของผู้บริโภคด้วย ปัจจัยที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์กังวลในระยะใกล้นี้คือ ราคาถ่านหินที่เพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลต่อบริษัทจัดหาพลังงานไฟฟ้าไปด้วย สัปดาห์ที่ผ่านมาจีนประกาสดัชนีราคาผู้ผลิต (ppi) สำหรับสินค้าผลิตในเดือนกันยายนมีราคาสูงขึ้น 10.7% เทียบจากปีก่อนหน้า เป็นราคาที่สูงที่สุดในรอบ 25 ปี
รัฐบาลจีนคาดว่าเศรษฐกิจจีนปี 2021 นี้จะเติบโตอยู่ที่ 6% ขณะที่ IMF คาดว่าจะอยู่ที่ 8% ส่วน ADB คาดว่าน่าจะโตที่ 8.1% เศรษฐกิจจีนขยายตัว 9.8% ครั้งแรกในรอบ 9 เดือนโดยมีปัจจัยด้านการค้าทั้งการส่งออกและการนำเข้าเป็นตัวขับเคลื่อนทำให้มีอัตราที่เพิ่มขึ้นราว 23% ภาคบริการเติบโตราว 19.3% สำนักงานสถิติระบุว่า GDP เติบโต 0.2% ในไตรมาส 3 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
อย่างไรก็ดี Fu Lingxuan โฆษกสำนักงานสถิติของจีนระบุว่า พลังงานขาดแคลนชั่วคราวและส่งผลกระทบในระดับที่จีนควบคุมได้ ภาคอสังหาริมทรัพย์ล้วนได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของบริษัท ทั้งเรื่องก่อสร้าง การทำสัญญา วัสดุก่อสร้าง ไปจนถึงเครื่องเรือนตกแต่งบ้านก็ได้รับผลกระทบด้วย
ที่มา – The Diplomat, Nikkei Asia
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา