นี่คือยุคที่สินค้าราคาถูกจากจีนกำลังหลั่งไหลท่วมท้นตลาดโลกโดยเฉพาะในอาเซียน
อย่างที่เคยกล่าวถึงไปแล้วก่อนหน้านี้ว่าอาเซียนมีตลาดอีคอมเมิร์ซที่มีขนาดใหญ่และยังมีระดับการเติบโตที่รวดเร็ว จึงเป็นช่องทางที่จีนจะปล่อยสินค้าออกมาขายได้ง่าย เพราะเศรษฐกิจจีนเองก็ชะลอตัว กำลังซื้อลดลง การผลิตก็ล้นจนต้องระบายออก ลำพังแค่พึ่งพาการบริโภคภายในประเทศไม่เพียงพออีกต่อไป
ไม่ใช่แค่ไทยเท่านั้นที่ประสบปัญหาถูกสินค้าราคาถูกจากจีนตีตลาด แต่เป็นหลายประเทศในแถบอาเซียน นี่เป็นเกมวัดกึ๋นผู้นำ ว่าจะนำพาประเทศก้าวข้ามความท้าทายนี้ไปได้อย่างไรโดยไม่ถูกจีนกลืน
จะสู้ยังไง เมื่อสินค้าปริมาณมาก คุณภาพไม่ต้องดีมากกำลังหลั่งไหลเข้าประเทศ
แต่คนในประเทศหรือกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ชอบของคุณภาพธรรมดา ราคาต่ำ?
เดินหน้าขึ้นกำแพงภาษี รับมือสินค้าราคาต่ำ
อินโดนีเซีย
รายงานจาก Nikkei Asia ระบุว่า อินโดนีเซียต้องปลดคนงานจากธุรกิจสิ่งทอ เสื้อผ้าและรองเท้าเกือบห้าหมื่นราย โรงงานหลายแห่งต้องปิดตัว ทั้งในเมือง Banten, West Java และ Central Java
วิธีแก้ที่ Zulkifli Hasan รัฐมนตรีการค้าแห่งอินโดนีเซียเตรียมจะรับมือคือ การหาทางเพิ่มภาษีนำเข้า 200% สำหรับสินค้าประเภทผ้าหรือสิ่งทอ รวมไปถึงการกำลังพิจารณาสินค้าประเภทเซรามิก เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องสำอาง และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการนำเข้ามาจำนวนมากด้วย
มาเลเซีย
เดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการรขึ้นภาษีการขายสินค้านำเข้าที่ซื้อออนไลน์ในราคาต่ำกว่า 500 ริงกิตหรือ 108 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 3,800 บาท ซึ่งก่อนหน้านี้สินค้าดังกล่าวได้รับการยกเว้นภาษีการขายและอากรนำเข้าที่มักใช้กับสินค้าราคาแพงกว่า
ไทย
ประเทศไทยก็เริ่มเหมือนกัน ด้วยการคิดภาษี 7% สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท เรื่องนี้ รศ.ดร. อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการด้านการค้าระหว่างประเทศระบุว่า จีดีพีของไทยต้องพึ่งพาการเกี่ยวพันกับจีนกว่า 15% เราต้องการนักท่องเที่ยวจีน เราพึ่งพาตลาดจีน เพื่อส่งออกสินค้าของเรา เราต้องการการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
ไทยส่งออกไปจีนเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา ส่วนตลาดนำเข้าของไทย จีนมาเป็นอันดับ 1 ดังนี้
ประเทศที่ไทยส่งออก 10 อันดับแรก คือ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฮ่องกง มาเลเซีย เวียดนาม อินเดีย กัมพูชา และสิงคโปร์
ประเทศที่ไทยนำเข้า 10 อันดับแรก คือ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และเกาหลีใต้
ถ้าใช้ข้อมูลนำเข้า-ส่งออกจากจีน จะพบว่า เฉพาะการส่งออกจากไทยไปจีนนับตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน ปี 2024 จะพบว่า มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท
ขณะที่นำเข้าจากจีนมูลค่ามากกว่าเป็นเท่าตัว อยู่ที่ระดับ 2 แสนล้านบาทถึง 2.5 แสนล้านบาท ไทยทำการค้าระหว่างประเทศกับจีนอยู่ในลักษณะขาดดุลการค้ามาโดยตลอด นี่ยังไม่นับการปิดตัวจำนวนมากของโรงงานที่สายป่านไม่ยาวพอเพราะได้รับผลกระทบจากจีน ตลอดจนสู้ต้นทุนต่ำอย่างจีนไม่ไหวจนต้องย้ายฐานการผลิตบ้าง
การขึ้นภาษี พระเอกของนานาประเทศ
มาตรการนี้ไม่ได้ทำหน้าที่แค่ป้องกันสินค้าราคาต่ำไหลท่วมประเทศเท่านั้น แต่มันช่วยปกป้องผู้ประกอบการภายในประเทศให้ยังหายใจได้ ไม่ต้องปิดตัว!
สินค้าราคาถูก คุณภาพพอใช้ได้ไปจนถึงคุณภาพใกล้เคียงสินค้าพรีเมียมราคาแพง หรือสินค้าปกติที่ต้นทุนสูงกว่ามันส่งผลประโยชน์ต่อลูกค้าหรือคนทั่วไปในประเทศ แต่มันไม่ได้ช่วยทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยอยู่รอดได้ มันเป็นการกลืนชาติรูปแบบใหม่ผ่านสินค้าราคาถูกที่ต้นทุนต่ำ
ทำอย่างไรให้ไม่ถูกกลืนชาติผ่านสินค้าราคาถูกต้นทุนต่ำ?
มากกว่าการปรับตัว แต่มันเป็นหน้าที่ของรัฐต่างหากที่ต้องสร้างระบบให้คนทำมาหากินตัวเล็กๆ ดำรงอยู่ได้ ถ้าไม่เร่งหาทางแก้ปัญหา สุดท้ายอาชีพทำมาค้าขายที่แท้จริงของคนไทยเองจะค่อยๆ หายไปจากระบบ แน่นอนว่า เวลาอาชีพหนึ่งหายไป มันไม่ได้หายไปอาชีพเดียว แต่มันหายไปทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ห่วงโซ่อุปทานที่พ่อค้าแม่ขายเข้าไปเกี่ยวข้องก็จะโดนหางเร่ไปด้วย
นี่คือสาเหตุที่หลายประเทศพากันขึ้นราคาสินค้านำเข้าที่มีแหล่งต้นตอจากจีนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น อาจจะเป็นฐานการผลิตที่จีนไปแฝงตัวในประเทศที่เรียกภาษีต่ำเพื่อเลี่ยงภาษี ไปจนถึงสินค้าที่จีนผลิตและส่วนประกอบของการผลิตมาจากแหล่งอื่นที่ต้นทุนถูกกว่าแต่ขายโดยจีน
การขยายตัวนอกประเทศของจีนส่งผลให้หลายประเทศงัดหลากมาตรการขึ้นมาเพื่อรับมือ สหรัฐฯ คือตัวละครใหญ่สุดสำหรับฉากการค้าระหว่างประเทศสุดหินนี้ เฉพาะแค่เดือนที่ผ่านมา มีการขึ้นภาษีสูงมากถึง 250% สำหรับสินค้านำเข้าอย่างแผงโซลาเซลล์ที่ผลิตโดยบริษัทจีนที่มาฝังตัวอยู่ในกัมพูชา มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม
ตัวอย่างจากผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนอย่าง BYD หรือ Great Wall Motor ที่มาลงทุนสร้างโรงงานในไทย ไทยก็อนุญาตให้แบรนด์จีนเหล่านี้นำเข้ารถยนต์ปลอดภาษี รวมถึงนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าในโครงการอุดหนุนผู้บริโภทที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าและยังมีข้อเสนอพิเศษให้กับผู้ผลิตและยังลดหย่อนภาษีได้อีก
แน่นอนว่าแรงจูงใจเหล่านี้ส่งผลดีต่อผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจีน แต่ส่งผลให้ต้นทุนในการนำเข้าของแบรนด์อื่นเช่น Honda และบริษัทอื่นๆ ที่ผลิตรถยนต์และส่วนประกอบในไทยล้วนต้องจ่ายภาษีนำเข้าในราคาสูง
สมพล ธนาดำรงศักดิ์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยระบุว่า ผู้ผลิตชิ้นส่วนในท้องถิ่นลดการดำเนินงานลงเหลือเพียง 3 วันต่อสัปดาห์หลังความต้องการลดลง อีกทั้งยอดสั่งซื้อก็ลดลง 40%
ขณะที่ นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะส่งเสริมการลงทุน (BOI) เผยว่า เราดีใจมากที่มีผู้ผลิต EV สัญชาติจีนมาลงทุนในไทย มันสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขามั่นใจในนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าของเรา แต่มันคงจะดีมากถ้าพวกเขาสามารถให้การสนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนของเราโดยใช้ชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตโดยบริษัทไทย
การส่งออกที่นอกเหนือจากโซลาเซลล์อาจจะตกอยู่ในมิติสามเส้าที่เป็นความขัดแย้งระหว่างชาติตะวันตกกับจีนได้ เรื่องนี้ ชนินทร หริ่มเจริญ ผู้อำนวยการกองปกป้องและตอบโต้ทางการค้า เผยว่า ตอนนี้เรามีผลิตภัณฑ์ 58 รายการที่มีความเสี่ยงสูงต่อการใช้มาตรการเพื่อหลบเลี่ยงการทุ่มตลาดและการอุดหนุน
อาทิ เหล็ก น้ำผึ้ง เฟอร์นิเจอร์ และสินค้าเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ผู้ส่งออกของไทยต้องใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นจำนวนมากและลดนำเข้าสินค้าชั้นกลางน้อยลง เรากำลังให้ความรู้แก่นักลงทุนเพื่อให้พวกเขาเข้าใจกฎระเบียบดังกล่าว
ปีที่ผ่านมา โรงงานในไทยกว่า 1,300 แห่งปิดตัวลง มากกว่าปีก่อนหน้า 60% ช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคมมีโรงงานปิดตัวไปแล้ว 500 แห่ง ส่งผลให้คนตกงานจำนวน 15,342 คน
อุตสาหกรรมเหล็กได้รับผลกระทบมากที่สุด ภายใต้การลดราคาที่เป็นผลผลิตจากจีน การผลิตในไทยลดลงถึง 497,000 ตันหรือประมาณ 7% ในปีที่ผ่านมา
- ประเทศไทยต้องเปลี่ยน: เปลี่ยนตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างสินค้าที่จีนส่งออกไม่ได้
- CIMB มองเศรษฐกิจไทย ภาคการผลิตหดตัว ถ้าคุมไม่ดี สินค้าจีนทะลัก ทำโรงงานไทยปิดตัวเพิ่มได้
- รู้จัก Temu อีคอมเมิร์ซจีน ที่ขยี้คู่แข่งด้วยราคา จนอเมริกายังกลัว ตอนนี้เข้าไทยแล้ว
ที่มา – Nikkei Asia, กระทรวงพาณิชย์ (1), (2)
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา