เด็กกำพร้า เด็กถูกทิ้งชาวจีน กำลังถูกแขวนซ้ำแล้ว ซ้ำอีก
ล่าสุด จีนสั่งยุติชาวต่างชาตินำเด็กชาวจีนไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม คำสั่งนี้แขวนชีวิตเด็กจีนนับร้อยไว้บนความไม่แน่นอนทันที
อยู่ๆ ก็มีคำสั่งแบนกระทันหันจากจีน ไม่ให้ชาวต่างชาตินำเด็กชาวจีนไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม เมื่อย้อนดูแหล่งข่าวจากจีน พบว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทาง South China Morning Post รายงานว่า จีนได้ยกเลิกโครงการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการแล้ว
โครงการนี้ช่วยให้เด็กกำพร้าชาวจีนและเด็กที่ถูกทอดทิ้งหาบ้านใหม่ในต่างประเทศได้หลายหมื่นราย เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากมีผู้สื่อข่าวสอบถาม Mao Ning โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา โดยอ้างถึงกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับแจ้งจากกระทรวงกิจการพลเรือน ประเทศจีน ว่าจีนจะยุติให้มีการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมจากจีน
ทาง Mao Ning ชี้แจงว่า รัฐบาลจีนได้ปรับนโยบายรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมข้ามพรมแดน (cross-border adoption policy) โดยนับจากนี้ไป จะให้รับเลี้ยงบุตรบุญธรรมจากญาติที่มาจากสายเลือดเดียวกัน จากรุ่นเดียวกันและเป็นเครือญาติทางสายเลือดระดับสามเท่านั้น
จากนี้ไป จีนจะไม่ส่งเด็กชาวจีนให้ไปรับการเลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรมในต่างประเทศ
จีนมองว่า นโยบายนี้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพันธะสัญญาระหว่างประเทศ จีนแสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลและครอบครัวในต่างประเทศที่ต้องการรับเด็กชาวจีนไปรับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม นี่คือเรื่องที่เป็นเจตนาที่ดี เป็นความรัก เป็นความเมตตาที่ต่างประเทศแสดงให้เห็น
อย่างไรก็ดี แม้นักข่าวจะถามต่อว่า การที่เด็กจีนถูกนำไปอุปการะเลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรมในต่างประเทศ เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น เราจะเห็นข่าวการกลับมาตามหาพ่อแม่ของพวกเขาที่จีนเพิ่มขึ้น การยุติโครงการดังกล่าวจะเป็นการขัดขวางความพยายามของเด็กจีนที่ต้องการตามหาครอบครัวเดิมไปด้วยหรือไม่ เรื่องนี้โฆษกฯ ไม่ตอบคำถามแต่ให้ไปติดต่อเจ้าหน้าที่ด้านนี้โดยตรงเพื่อซักถามรายละเอียดเพิ่มเติม
เปิดประเทศให้รับเลี้ยงเด็ก ช่วงเดียวกับที่มีเด็กถูกทิ้งจำนวนมาก เพราะนโยบายลูกคนเดียว
นโยบายอนุมัติให้นำเด็กจีนไปเลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรมนั้น เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงปี 1985 และในช่วงปี 1992 ก็มีกฎหมายออกมาอย่างเป็นทางการเพื่อกำหนดให้มีกระบวนการในการให้ครอบครัวชาวต่างประเทศนำเด็กจีนไปเลี้ยงดูได้อย่างชัดเจน
มีรายงานว่ามีการนำเด็กจีนไปเลี้ยงดูหลายหมื่นรายแต่ไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่ทางสำนักข่าว AP รายงานว่า ตัวเลขของเด็กจีนที่ถูกครอบครัวชาวอเมริกันรับไปเลี้ยงดูอยู่ที่ 82,674 ราย
CNN รายงานว่า มีเด็กกว่า 1.6 แสนรายที่ถูกรับเลี้ยงจากทั่วโลก นับตั้งแต่จีนเปิดให้มีการรับเลี้ยงเด็กไปเลี้ยงอย่างเป็นทางการในปี 1992 โดยช่วงปี 1999-2023 ครอบครัวชาวอเมริกันรับเด็กไปเลี้ยงจำนวน 82,674 ราย ครอบครัวชาวอเมริกันคิดเป็นสัดส่วน 29% จากครอบครัวต่างประเทศทั้งหมด (อ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงต่างประเทศ สหรัฐฯ ตรงกับที่ AP รายงาน)
สัดส่วนของเด็กชาวจีนที่ครอบครัวชาวสหรัฐฯ รับมาเลี้ยงคือ 82,674 ราย แบ่งเป็นเพศชาย 15.82% เพศหญิง 84.18%
การยุติโครงการรับเลี้ยงเด็กจีนไปเป็นบุตรบุญธรรมของครอบครัวชาวต่างประเทศเริ่มขึ้นในช่วงโควิดระบาด หลังจากนั้นก็กลับมาดำเนินการใหม่สำหรับเด็กที่ได้รับอนุมัติก่อนปี 2020 และนี่เป็นครั้งแรกที่โฆษกต่างประเทศประกาศการระงับให้รับเลี้ยงบุตรบุญธรรมชาวจีนครั้งแรกผ่านสื่อ ล่าสุด ยังไม่มีความชัดเจนว่าเด็กจีนที่ว่านั้นครอบคลุมไปยังฮ่องกงหรือมาเก๊าหรือไม่
การเปิดให้มีการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมชาวจีนเกิดขึ้นในช่วงที่จีนเริ่มประเทศ แต่ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันที่มีเด็กถูกทิ้งเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็เป็นผลพวงจากนโยบายลูกคนเดียวของจีน (One-child policy) ที่ออกมาในช่วงปี 1979
มีข้อมูลจาก Jiang Quanbo จาก Xi’an Jiaotong University ประเมินว่ามีเด็กผู้หญิงชาวจีนประมาณ 20 ล้านคนสูญหายไปในช่วงปี 1980 ถึง 2010
ขณะที่กระทรวงกิจการพลเรือนของจีนเอง รายงานว่า จำนวนเด็กที่ถูกทอดทิ้งและเด็กกำพร้าที่อยู่ในสถานสงเคราะห์เพิ่มขึ้นจาก 5,000-6,000 รายในช่วงปลายทศวรรษ 1980 เป็น 50,000 คน ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21
นอกจากนี้ ยังมีการปราบปรามการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมแบบผิดกฎหมายที่มีเพิ่มขึ้น โดยในช่วงปี 2007 ก็เริ่มมีกฎเข้มงวดในกระบวนการรับเลี้ยงบุตรชาวจีนจากต่างประเทศมากขึ้น มีทั้งกำหนดอายุ จำกัดจำนวนการนำเด็กไปเลี้ยง และให้รับเลี้ยงเฉพาะคู่รักที่เป็นเพศตรงข้ามกัน ก็คือคู่รักหญิง-ชายเท่านั้น
จำนวนการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมจากต่างประเทศลดลงต่อเนื่อง นับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 2010 เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่พุ่งแรง ขณะเดียวกันอัตราการเกิดของประชากรจีนก็ลดลงด้วย แต่ก็เป็นช่วงเดียวกันกับที่มีการคร่ำเคร่งเรื่องกฎในการรับเด็กจีนไปเลี้ยงมากขึ้นด้วย
ที่มา – South China Morning Post, MFA China, CNN
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา