จีนทุบสถิติญี่ปุ่น ลงทุนสูงที่สุดกับธุรกิจรถยนต์ในประเทศไทยปี 2022 โค่นญี่ปุ่นในรอบ 28 ปี ไทยกลายเป็นสนามแข่งของ 2 ประเทศขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าเริ่มได้รับความนิยม
Toyota Motor เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่นมายาวนานหลังจากเพิ่งจัดงานฉลองครบรอบ 60 ปีนับตั้งแต่เริ่มเข้ามาทำธุกิจรถยนต์ในประเทศไทย ธุรกิจของ Toyota ทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ลงทุนในไทยสูงที่สุดด้วยเม็ดเงินมหาศาลทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของภูมิภาค
จากข้อมูลขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นหรือ JETRO เผยว่า Toyota Motor และบริษัทในเครือได้จ้างงานในไทย 275,000 ตำแหน่ง โดยคาดการณ์ว่ารายได้จาก Toyota นับเป็น 4% ของ GDP ของไทยและเงินที่บริษัทนำมาลงทุนคิดเป็น 32% ของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ของไทยในช่วงต้นปี 2022
แม้จะทำธุรกิจในไทยมานานแต่ปัจจุบัน Toyota มีคู่แข่งใหม่อย่างบริษัทจีนที่เข้ามาลงทุนกับธุรกิจรถยนต์ในไทยอย่างมหาศาล เมื่อปีที่แล้ว BYD บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าของจีนได้เข้ามาลงทุนซื้อที่ดิน 700 ไร่ในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดระยองเพื่อเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2024 การซื้อที่ดินของ BYD ทำให้จีนกลายเป็นชาติที่ลงทุนในไทยมากที่สุดในปี 2022 แซงหน้าญี่ปุ่นที่ครองแชมป์มาตั้งแต่ปี 1994
แม้ว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจะมีสัดส่วนไม่ถึง 1% จากยอดขายรถยนต์ใหม่ในไทย แต่บริษัทของจีนกลับครองตลาดรถยนต์ประเภทนี้ โดน Great Wall Motor ครองส่วนแบ่ง 45% ในช่วงไตรมาส 1-3 ของปี 2022 จากการขายรถยนต์ Good Cat ตามมาด้วยบริษัท SAIC Motor ที่มีส่วนแบ่ง 24% จากการขายรถยนต์ยี่ห้อ MG
นอกจากนี้ บริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สัญชาติไต้หวันอย่าง Foxconn ก็มีแผนว่าจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยในปี 2024 เช่นเดียวกับ BYD ด้วย
สาเหตุที่ไทยเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจจากทั้งญี่ปุ่น จีน และไต้หวันเพราะมีระบบซัพพลายเชนที่ง่ายสำหรับบริษัทใหม่ที่จะเข้ามาทำธุรกิจรถยนต์ รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลยังสนับสนุนให้เกิดการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า โดยในปี 2020 รัฐบาลไทยยังประกาศแผนเพิ่มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ถึง 30% ของรถยนต์ที่ผลิตทั้งหมดภายในปี 2030
Hajima Yamamoto นักวิเคราะห์ตลาดรถยนต์จากสถาบันวิจัย Nomura Research Institute มองว่าการแข่งขันระหว่างญี่ปุ่นและจีนในตลาดรถยนต์ของไทยจะเข้มข้นขึ้นอีกเมื่อความขัดแย้งทางเศรษญกิจของจีนและสหรัฐอเมริกาตึงเครียดมากขึ้น
การที่จีนเริ่มเข้ามาในตลาดรถยนต์ของไทยทำให้บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์อย่าง Denso ที่ดำเนินการอยู่แล้วในประเทศไทยมีโอกาศทำธุรกิจกับบริษัทจีนที่เข้ามาใหม่แม้ว่าบริษัทรถยนต์ของญี่ปุ่นที่เป็นลูกค้าอยู่ก่อนจะซบเซาลง โดย Denso กำลังเตรียมพร้อมกับการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริดจากเดิมที่ผลิตชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันและก๊าซเป็นหลัก
บริษัทรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นรายอื่นอย่าง Sony และ Honda ก็ยังคงมีแผนการขยายการผลิตในไทย โดย Sony มีแผนขยายการผลิต 70% ในโรงงานในกรุงเทพฯ และจะเพิ่มจำนวนพนักงานเป็น 3 เท่าภายในปี 2024 ขณะที่ Honda มีแผนผลิตรถยนต์ SUV ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าในปีนี้และจะค่อย ๆ เพิ่มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นหากความต้องการสูงขึ้น
รถยนต์ไฟฟ้าในไทยทั้งจาก Toyata, BMW, Volvo และ Tesla มีราคามากกว่า 1 ล้านบาทซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง รวมทั้งยังมีสถานีชาร์ตแบตไม่มากและอยู่ห่างไกล ประกอบกับอุปสรรคทางด้านธุรกิจที่ไทยมีประชากรน้อยกว่าตลาดคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินโดนีเซียและมีผู้สูงอายุมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากสิงคโปร์ ทำให้ตลาดรถยนต์ของไทยเป็นที่น่ากังวลและทำให้บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าต้องทำธุรกิจอย่างระมัดระวังในช่วงเริ่มต้นนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงดึงดูดความสนใจจากบริษัทญี่ปุ่นและจีนได้และจะเป็นตลาดที่มีการแข่งขันเข้มข้นขึ้นในอนาคต
ที่มา – Nikkei Asia 1, Nikkei Asia 2
อ่านเพิ่มเติม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา