คนที่ไปเยือนประเทศจีนในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา คงสังเกตเห็นปรากฏการณ์ “จักรยานเช่า” หลากสีสันหลากยี่ห้อ ที่วางเรียงรายกันอยู่บนฟุตบาทแทบทุกจุดในเมืองใหญ่ จนกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่ประเทศจีนมีไม่ซ้ำกับใคร
แรกเริ่มเดิมที มีบริษัทสตาร์ตอัพหน้าใหม่ๆ กระโจนเข้าสู่วงการจักรยานเช่าหรือ Bike Sharing กันเป็นจำนวนมาก และทุ่มงบการตลาดอย่างหนักเพื่อช่วงชิงฐานผู้ใช้งาน อย่างไรก็ตาม เวลาผ่านไปไม่นาน ผู้เล่นรายเล็กที่สายป่านไม่ยาวพอก็เริ่มล้มหายตายจากไป โดยผู้เล่นรายล่าสุดที่ประกาศล้มละลายคือ Bluegogo ค่ายจักรยานสีฟ้า ผู้เล่นอันดับสามของตลาดจีน
การล้มละลายของ Bluegogo ทำให้สมรภูมิจักรยานเช่าในจีนเหลือเพียงสองรายใหญ่คือ เบอร์หนึ่ง Ofo (สีเหลือง) และเบอร์สอง Mobike (สีส้ม) เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่ดุเดือดระหว่างยักษ์ใหญ่ทั้งสองราย อาจเป็นแค่สงครามเล็กๆ ที่ไม่เกิดผลอะไรมากนัก เพราะมีโอกาสสูงที่ผู้ถือหุ้นของทั้ง Ofo และ Mobike จะบีบให้ทั้งสองบริษัทต้องควบรวมกันแทน
และผู้ถือหุ้นที่ว่าก็ไม่ใช่ใครอื่น เป็นบริษัทหน้าเดิมๆ ที่เราคุ้นชื่อกันดีอย่าง Alibaba (ลงทุนใน Ofo) และ Tencent (ลงทุนใน Mobike) เป็นมวยคู่เดิมแต่เปลี่ยนสมรภูมินั่นเอง
B.A.T. มาเฟียใหญ่ของวงการไอทีจีน
วงการไอทีจีนมีคำว่า B.A.T ซึ่งหมายถึงยักษ์ใหญ่ของวงการไอทีสามรายคือ Baidu, Alibaba, Tencent ซึ่งประสบความสำเร็จจากธุรกิจยุคก่อนหน้านี้ สะสมทุน ความมั่งคั่ง และอิทธิพลได้เยอะพอ จนสามารถใช้กลไกทางการเงินเข้ามาซื้อหุ้นในสตาร์ตอัพหน้าใหม่ๆ ที่ (อาจจะ) ผงาดขึ้นมากลายเป็นคู่แข่งของตนเองได้
ปัจจัยนี้ถือเป็นดาบสองคม ในแง่หนึ่ง เงินจำนวนมหาศาลของ B.A.T. ย่อมทำให้สตาร์ตอัพจีนรุ่นใหม่ๆ ระดมทุนได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น มีทรัพยากรไปทดลองสินค้าและบริการใหม่ๆ ออกสู่ตลาดได้อย่างทันท่วงที และเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนวงการไอทีจีนให้ก้าวขึ้นสู่ระดับโลก
แต่ในทางกลับกัน ความใหญ่โตของ B.A.T ที่หาคู่แข่งมาเทียบเคียงได้ยาก ก็เป็นการปิดกั้นนวัตกรรมในระยะยาวเช่นกัน เพราะโอกาสที่สตาร์ตอัพจะเติบโตขึ้นมาเป็นคู่แข่งของ B.A.T. นับวันยิ่งน้อยลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากยักษ์ใหญ่เหล่านี้จะชิงไปลงทุนในบริษัทที่มีศักยภาพ และซื้อกิจการตัดหน้าก่อนจะกลายมาเป็นคู่แข่ง
ในรอบหลายปีที่ผ่านมา จึงแทบไม่มีสตาร์ตอัพจีนดาวรุ่งรายไหนเลย ที่ B.A.T ไม่มีเอี่ยวด้วย เรียกได้ว่าถ้ามีบริษัทไหนโดดเด่นขึ้นมา ย่อมต้องมี B.A.T สักบริษัทเข้ามาถือหุ้นไว้ก่อนแล้ว และเมื่อธุรกิจของยักษ์ใหญ่เริ่มขยายตัว การทับไลน์กันก็เกิดขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ความเป็นคู่แข่งระหว่าง Alibaba (ที่มี Alipay) และ Tencent (ที่มี WeChat Pay) เริ่มรุ่นแรงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่ปีให้หลัง และการลงทุนในสตาร์ตอัพย่อมกลายเป็น “สงครามตัวแทน” ระหว่างสองค่ายใหญ่นี้
จากคู่แข่งสู่การควบรวม จากแท็กซี่สู่จักรยาน
กรณีของบริการแชร์จักรยาน ไม่ใช่ครั้งแรกที่กลายเป็นสงครามตัวแทนของ Alibaba และ Tencent เพราเหตุการณ์นี้เคยเกิดกับบริการเรียกรถแท็กซี่มาก่อนแล้ว
Didi Chuxing บริษัทเรียกรถแท็กซี่รายใหญ่ที่สุดของจีน เกิดจากการควบรวมกันของสองบริษัทคือ Didi Dache และ Kuaidi Dache ในปี 2015 จนกลายเป็นบริษัท Didi Kuaidi (จากนั้นจึงเปลี่ยนชื่อเป็น Didi Chuxing ทีหลัง)
Didi Dache ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก Tencent ส่วน Kuaidi Dache รับเงินจาก Alibaba ในช่วงแรกทั้งสองบริษัทใช้เงินต่อสู้กันอย่างดุเดือด จนกระทั่งทั้งสองฝ่ายตระหนักว่าสู้กันไปก็มีแต่ตายทั้งคู่ จึงตัดสินใจยุติศึกและหันมาควบรวมกันแทน การควบรวมกันทำให้ Didi Chuxing มีขนาดที่ใหญ่พอจนสามารถเอาชนะคู่แข่งต่างชาติอย่าง Uber China ได้สำเร็จ (Uber China รับเงินลงทุนจาก Baidu ด้วย ทำให้ภายหลังเมื่อ Didi Chuxing ซื้อธุรกิจของ Uber China แล้ว กลายเป็นบริษัทจีนรายเดียวที่มี B.A.T. มาลงทุนครบทั้งสามราย)
สถานการณ์แบบเดียวกันกำลังจะเกิดขึ้นกับวงการจักรยาน
สงครามร่างทรง Tencent vs Alibaba
ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เกิดกระแสข่าวลือในจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า Ofo และ Mobike จะควบรวมกัน ถึงแม้โฆษกของทั้งสองบริษัทจะออกมาปฏิเสธ แต่นักลงทุนและกองทุน VC หลายรายที่ลงทุนในทั้งสองบริษัท ต่างก็ออกมาสนับสนุนแนวคิดนี้
Wang Gang นักลงทุนของ Ofo และ Jenny Zeng นักลงทุนใน Mobike ต่างเคยผ่านประสบการณ์ควบรวมมาแล้ว เพราะ Gang เคยลงทุนใน Didi ในขณะที่ Zeng ลงทุนกับ Uber China ซึ่งทั้งสองก็กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า เหตุการณ์ย่อมซ้ำรอยเดิม ตอนจบจะเหมือนหนังฮอลลีวู้ด คู่แข่งทั้งสองรายจะกลายมาเป็นพวกเดียวกัน
ตัวเร่งปฏิกริยาที่จะช่วยให้ Ofo และ Mobike ควบรวมกันง่ายขึ้น มาจากเหตุการณ์ล่าสุดที่ Ant Financial บริษัทลูกของ Alibaba เข้าไปลงทุนใน Hellobike บริษัทแชร์จักรยานรายเล็กที่เน้นหัวเมืองขนาดเล็ก แทนที่จะเป็นเมืองใหญ่
การลงทุนของ Ant Financial ทำให้ Ofo และ Mobike ต้องหันมามองดู Hellobike ว่าจะกลายมาเป็นคู่แข่งหน้าใหม่หรือไม่ (โดยเฉพาะ Ofo ที่มีนักลงทุนรายเดียวกันซะด้วย) และอาจต้องหันมาจับมือกันเพื่อสกัดการเติบโตของคู่แข่งรายนี้
หลังการลงทุนของ Ant Financial ทำให้ Pony Ma ผู้ก่อตั้ง Tencent ถึงกับต้องออกมาโพสต์ลงโซเชียล (WeChat ของบริษัทตัวเอง) แซะ Alibaba ว่ามาลงทุนในบริษัทจักรยาน เพียงเพื่อเป็นช่องทางให้คนมาใช้แอพจ่ายเงินผ่านมือถือของตัวเองเยอะๆ เท่านั้น ไม่ได้หวังผลกำไรตอบแทนอะไรมากนักหรอก
หลังจากนั้นไม่นาน Jack Ma แห่ง Alibaba ก็ให้สัมภาษณ์กับสื่อจีน ตอบกลับว่า Tencent อยากให้ Ofo และ Mobike ควบรวมกัน แต่ Alibaba ไม่สนใจทำดีลด้วยเหตุผลว่าควบรวมเพื่อผูกขาด หรือทำกำไรระยะสั้น
สงครามนี้จะจบอย่างไร เราคงได้รู้ตอนจบกันในอีกไม่นานนัก แต่ไม่ว่าใครจะชนะ ผู้ได้ประโยชน์สูงสุดย่อมไม่ใช่บริษัทจักรยานสักราย แต่เป็น Tencent และ Alibaba อยู่ดี
ข้อมุลบางส่วนจาก Wall Street Journal
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา