จีนกำลังจะเตรียมแบนถ่านหินจากออสเตรเลียอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ในปี 2019 ที่ผ่านมาจีนเองก็เคยแบนนำเข้าถ่านหินมาแล้ว ซึ่งทำให้ความร้าวฉานของ 2 ประเทศนี้เพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีก
หน่วยงานศุลกากรของประเทศจีน ได้แจ้งกับรัฐวิสาหกิจของประเทศจีนที่เกียวข้องกับการผลิตไฟฟ้า โรงถลุงเหล็กกล้า ว่าให้หยุดนำเข้าถ่านหินจากออสเตรเลีย ทำให้รัฐบาลออสเตรเลียเตรียมสอบถามเรื่องนี้จากรัฐบาลจีนเพื่อต้องการคำชี้แจงถึงสาเหตุการหยุดนำเข้าถ่านหิน นอกจากนี้ยังเพิ่มความร้าวฉานให้กับ 2 ประเทศนี้มากขึ้นต่อเนื่องจากจีนได้หยุดการนำเข้าสินค้าจากออสเตรเลียไปแล้วและยังหาข้อยุติไม่ได้
- 116 ประเทศหนุน ออสเตรเลีย ยุโรปและพันธมิตร ใช้ทีมสืบสวนอิสระ หาต้นตอ COVID-19
- จีนเริ่มงดนำเข้าเนื้อวัว เพิ่มภาษีนำเข้าบาร์เลย์ 80% หลังออสเตรเลียเรียกร้องสืบหาต้นตอ COVID-19 ในจีน
- ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย จับมือด้าน Supply Chain เตรียมชวนอาเซียนเข้าร่วม ลดการพึ่งพาจากจีน
ไม่ใช่เพียงแค่ถ่านหินเท่านั้น แต่ถ่านโค้กสำหรับการถลุงเหล็ก ศุลกากรของจีนก็ห้ามนำเข้า ทำให้ Scott Morrison นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย ได้กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องสืบหาสาเหตุว่าทำไมจีนถึงห้ามนำเข้าถ่านหิน และถ่านโค๊ก และยังได้กล่าวเสริมเรื่องนี้ว่า “เป็นกรณีที่ไม่ปกติ” ขณะเดียวกันรัฐบาลออสเตรเลียต้องการคำรับรองจากรัฐบาลจีนถึงเรื่องว่าจีนยังทำตามข้อตกลงทางการค้าเสรี ออสเตรเลีย-จีน หรือไม่ รวมไปถึงทำตามกฎการค้าระหว่างประเทศของ WTO
ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้นั้นจีนได้นำเข้าถ่านหินจากออสเตรเลียไปแล้วกว่า 7,300 ล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าในปี 2019 อยู่ราวๆ 8% สำหรับออสเตรเลียเองมีจีนเป็นประเทศคู่ค้าหลัก โดยปริมาณการส่งออกสินค้าทุกชนิดไปที่จีนคิดเป็น 38% ของปริมาณส่งออกสินค้าทั้งหมด
ก่อนหน้านี้ท่าเรือในจีนเคยได้แบนถ่านหินจากออสเตรเลียมาแล้วในปี 2019 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีจีนเองก็ยังต้องการถ่านหินจากออสเตรเลียอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีคุณภาพที่ดีกว่าถ่านหินในประเทศจีนส่วนใหญ่ แม้ว่าจีนจะพยายามเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนที่มากขึ้นก็ตาม
เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จีนได้เริ่มทำสงครามการค้ากับออสเตรเลีย โดยงดนำเข้าเนื้อวัวจากผู้ผลิต 4 ราย นอกจากนี้ยังเพิ่มภาษีนำเข้าข้าวบาร์เลย์ หลังจากจีนแสดงความไม่พอใจเรื่องออสเตรเลียสนับสนุนหาแหล่งที่มาของ COVID-19 ซึ่งทำให้ความร้าวฉานของ 2 ประเทศนี้เพิ่มมากขึ้น จนทำให้จีนเองขู่ว่าจะเลิกอุดหนุนสินค้าจากออสเตรเลีย รวมไปถึงการเลิกส่งนักศึกษาจีนมาที่ออสเตรเลียด้วย
ที่มา – Al Jazeera, Mining.com, The Guardian [1], [2]
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา