เมื่อ EV ในจีนโตได้ด้วยราคาต่ำ 3 แสนบาท แล้ว EV แบรนด์ไทยที่เปิดราคาเหยียบล้านจะเวิร์กหรือไม่

กระแสรถยนต์ไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle (EV) ยังถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง แต่อาจได้ยินแค่ฝั่งสหรัฐอเมริกา หรือค่ายรถยุโรป แต่จริงๆ แล้วตลาดจีนนั้นเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ว่าได้ และความต้องการ EV ที่นั่นก็สูงมาก

ภาพจาก Flickr ของ Frank Hebbert

แบรนด์ท้องถิ่นยังครองตลาด ผ่านกลยุทธ์ราคาถูก

ต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า การจำหน่าย EV ในประเทศจีนแค่ที่เดียวก็มากกว่าประเทศอื่นๆ รวมกันแล้ว เพราะรัฐบาลที่นี่มีนโยบายลดการใช้งานมลพิษภายในประเทศ จึงให้การสนับสนุนกับผู้ผลิต EV ท้องถิ่นให้ทำราคาได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นได้ ผ่านการใส่เงินไปให้ผู้ผลิตหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่หากเป็นผู้ผลิต EV จากต่างชาติ เช่น Tesla หรือ Nissan จะไม่ได้สิทธิประโยชน์ดังกล่าว  และถ้าอยากรับสิทธิประโยชน์จริงๆ ก็ต้อง Joint Venture กับผู้ผลิตท้องถิ่น ทำให้ตลาด EV ในประเทศจีนถูกครองด้วยผู้ผลิตท้องถิ่น ด้วยราคาที่ถูกแสนถูก

ขณะเดียวกันการใส่เงินเข้าไปในระบบเพื่อทำให้ EV มีราคาถูก ก็ทำให้ยอดจำหน่ายแบตเตอร์รี่ไฟฟ้า และระบบ Plug-in Hybrid เพิ่มขึ้นถึง 60% ในประเทศจีน และมีรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบนี้กว่า 402,000 คันวิ่งอยู่ในประเทศ และภายในปี 2563 น่าจะมีรถ EV วิ่งในประเทศจีนกว่า 5 ล้านคัน ถ้าการสนับสนุนยังเป็นเช่นนี้อยู่ และเหตุนี้เองทำให้ยักษ์ผู้ผลิตรถยนต์จากต่างชาติอยากเข้ามาในตลาดนี้มาก แต่ถึงจะเข้ามาอย่างไร ก็ยังติดเรื่องมาตรการ Joint Venture กับผู้ผลิตรถยนต์ในจีน จึงจะได้ราคาที่ถูกลง เพื่อแข่งขันกับผู้ผลิตท้องถิ่นได้

ภาพจากเว็บไซต์ cheryinternational.com

ผู้บริโภคในจีนขอแค่ EV ขับไปไหนมาไหนได้ก็พอ

สำหรับราคา EV ในประเทศจีนนั้น รุ่นที่ถูกที่สุดคือ eQ ของยี่ห้อ Chery เพราะมีราคาเพียง 60,000 หยวน (ราว 3 แสนบาท) มีลักษณะเป็นรถยนต์นั่งสองประตู แต่ราคาข้างต้นคือราคาที่ภาครัฐให้การสนับสนุนแล้ว ถ้ายังไม่ได้เงินก้อนนี้ราคาจะอยู่ที่ 1 แสนหยวน (ราว 5.1 แสนบาท) แตกต่างกับรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์อื่น เช่น GM กับรุ่น Bolt ที่มีราคาอยู่ที่ 30,000 ดอลลาร์ (ราว 1 ล้านบาท) โดย Dawei Zhang ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ EVBuy ดีลเลอร์จำหน่าย EV ในประเทศจีน เล่าให้ฟังว่า ความต้องการของคนจีนมีแค่ราคาถูก และขับไปไหนมาไหนได้ก็พอ

“EV เป็นแค่ยานพาหนะ เพื่อโดยสารไปไหนมาไหนได้ ไม่ได้มีไว้โชว์คนอื่น หรือมีไว้เพื่อเป็นรถครอบครัว รวมถึงไม่ต้องมีเทคโนโลยีล้ำสมัยมาก แค่ขับได้ระยะทางประมาณหนึ่งก็เพียงพอ และมันก็ไม่แปลกที่ Chery รุ่น eQ จะจำหน่ายได้มากที่สุดในประเทศ ขณะเดียวกันการที่คนจีนเลือกมาซื้อรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้ายังมาจากเหตุผลเรื่องการขอเลขทะเบียนที่ง่ายกว่ารถยนต์ขับเคลื่อนด้วยวิธีสันดาป เพราะที่ประเทศจีนมีการคุมเข้มเรื่องจำนวนรถยนต์ประเภทดังกล่าว เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และยกระดับสู่ประเทศที่ไร้มลพิษ”

ภาพจากเว็บไซต์ veraauto.co.th

แล้ว Vera แบรนด์ไทย ราคาเหยียบล้านจะเวิร์กไหม

เมื่อวันที่ 13 ม.ค. มีรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าสัญชาติไทยออกมาจำหน่ายในตลาด ผ่านแบรนด์ Vera โดยตั้งราคาไว้ที่ 9.45 แสนบาท ถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับรถบ้านขนาดเล็กในท้องตลาด แม้จะขับได้ไกลถึง 180 กม. ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง หรือคิดเป็นอัตราสิ้นเปลืองที่ 0.5-0.7 บาท/กม. แต่การแลกมาด้วยราคาที่ค่อนข้างสูง ทำให้โอกาสที่จะจำหน่ายในประเทศไทยค่อนข้างยาก ประกอบกับการเป็นแบรนด์ใหม่ในตลาด ทำให้ต้องสร้างความน่าเชื่อถือในตลาดอีกนาน และในอนาคตหากต้นทุนเรื่องแบตเตอร์รี่ต่ำลง ก็อาจมีคู่แข่งจากประเทศจีนเข้ามาแข่งขันก็ได้

ทั้งนี้ Carlos Ghosn ประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Nissan Motor มองว่า ผู้ซื้อรถ EV ในประเทศจีนนั้นต้องการราคาไม่เกิน 8,000 ดอลลาร์ (ราว 2.8 แสนบาท) ทำให้การทำตลาดรุ่น Leaf ของบริษัทที่มีราคาสูงกว่านั้นไม่สามารถเจาะเข้าไปได้ ดังนั้นคำกล่าวข้างต้นอาจนำมาเปรียบเทียบกับการทำตลาดในประเทศไทยได้ เพราะส่วนใหญ่แล้วผู้ซื้อรถบ้านคันหนึ่งก็ต้องการราคาราว 5 – 7 แสนบาท แต่หากขยับขึ้นไปเหยียบล้านบาท โอกาสที่พวกเขาจะตัดสินใจซื้อรถที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่นกลุ่ม C Segmet (Altis, Civic) หรือ PPV เพื่อใช้เป็นรถครอบครัวไปเลยน่าจะง่ายกว่า

สรุป

EV หรือรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าจะต้องมาแน่นอน แต่ปัจจัยเรื่องต้นทุนเทคโนโลยีทำให้สิ่งนี้ยังไม่บูมในตลาดไทยเท่าไหร่นัก แต่เชื่อว่าถ้าราคาต่ำลง และมีการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างชัดเจน น่าจะทำให้รถยนต์ประเภทนี้เป็นที่นิยม และลดมลพิษในเมืองได้เป็นอย่างดี ถึงอย่างไรก็ลืมเรื่องระบบขนส่งสาธารณะที่ต้องยกระดับขึ้น เพื่อช่วยเหลือเรื่องมลพิษเช่นเดียวกัน

อ้างอิง // China’s anti-Teslas: cheap models drive electric car boom

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา