“จีน-เมริกา” หนังสืออธิบายความสัมพันธ์มหาอำนาจโลก อ่านจบ รู้ครบทุกสงคราม

“จีน-เมริกา จากสงครามการค้า สู่สงครามเทคโนโลยี ถึงสงครามเย็น 2.0″ โดยอาร์ม ตั้งนิรันดร เปิดมาด้วยชื่อสงคราม 3 รูปแบบทั้งด้านการค้า เทคโนโลยี และสงครามเย็นเวอร์ชั่นใหม่ 

อาร์มแบ่งความรู้ออกเป็น 3 ฐาน ถ้าผู้นำคนไหนไม่เข้าใจประเด็นเหล่านี้ การคิดก่อการจะผงาดบนเวทีโลกได้อาจจะยากไปเสียหน่อย เผลอๆ เห็นภาพไม่ครบ ไม่ชัดเจน ก็นำพาประเทศชาติล้าหลังตกรถไฟขบวนสุดท้ายได้ไม่ยาก

3 ประเด็นที่สำคัญที่ต้องอ่านให้ขาดคือ ความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร ความเลื่อนไหลของเทคโนโลยี และความสำคัญของภูมิรัฐศาสตร์

“จีน-เมริกา” ขยายภาพให้คนที่ตามประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่ทัน ได้เข้าใจและเห็นภาพรวมของการเดินหมาก แก้เกมในเวทีโลกระหว่างจีนและสหรัฐฯ ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น 

เทคโนโลยี 5G สำคัญอย่างไร หัวเว่ย ทำไมจึงสร้างปัญหา ระบบแอนดรอยด์กับหัวเว่ยทำไมสานสัมพันธ์ต่อไปไม่ได้ คำตอบถูกรวบมาให้อ่านได้เข้าใจง่ายๆ แม้ยังเปิดอ่านเนื้อหาไปไม่ทันจบเล่มด้วยซ้ำ

สงครามการค้าและการโต้ตอบกันไปมาด้วยนโยบายขึ้นภาษีแบบหมัดต่อหมัด ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ทำไมยืดเยื้อ และเกมนี้จะอยู่ไปอีกยาวไหม กระทบผู้บริโภคแบบประชาชนอย่างเราๆ อย่างไร อาร์มเขียนให้คนอ่านได้ครบทุกประเด็นแบบไม่ต้องหาอ่านข้อมูลเสริมจากที่ไหน

ใครไม่เข้าใจเรื่อง แร่ Rare Earth ว่าเป็นไพ่ตายสำคัญสำหรับผู้ถือไพ่ในการต่อรองอย่างไร ทำไมทิ้งไพ่ใบนี้แล้วจะบาดเจ็บทั้งคู่ทั้งสหรัฐฯ ทั้งจีน? เราจะเห็นข่าวเรื่องแร่ผ่านตามาบ้างในช่วงที่มีการขู่กันไปมาของทั้งสองฝ่ายว่าจะขึ้นภาษีตอบโต้กัน 

ทำไม จีนยุคใหม่จึงเปลี่ยนไป สาเหตุสำคัญเกิดจากปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน ทั้งบริบทโลก วิสัยทัศน์ผู้นำ และท่าที บทบาทคู่ปรับอย่างสหรัฐฯ ด้วย

การเดินเกมของจีนยุคใหม่ไม่เหมือนเก่าอีกต่อไป มีเหตุ มีผล มีชั้นเชิง เผลอๆ จะมีแนวโน้มไปทางเสรีนิยมและประนีประนอมมากกว่าทรัมป์ที่ดูสุดโต่ง บุ่มบ่าม คาดเดายาก เพราะคาแรคเตอร์ของผู้นำนั้นสำคัญ และทรัมป์เลือกแล้วว่าจะเป็นคนแบบนี้ เดินเกมนี้ในเวทีโลก เราจะเข้าใจมากขึ้นว่าทรัมป์ทำไมจึงเป็นคนเช่นนี้

ประเทศไทยส่งออกและนำเข้าจากจีนและสหรัฐฯ มหาศาล เลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายนี้บ้างไม่มากก็น้อย แน่นอน ใครที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งจีนและสหรัฐฯ ยิ่งสมควรอ่าน หนังสือเล่มนี้ไม่ได้มีเพียงความคิดเห็นและบทวิเคราะห์ที่มาจากอาร์มฯ เท่านั้น แต่ยังรวมบทวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญรายอื่นๆ เพื่อให้เราเห็นภาพและเข้าใจความสัมพันธ์ทั้งสองฝ่ายชัดเจนขึ้น

Presidnet Xi Jinping Meets Visiting Armenian President Serzh Sargsyan
Chinese President Xi Jinping (L) meets Armenian President Serzh Sargsyan (R) at the Great Hall of the People on March 25, 2015 in Beijing, China. (Photo by Feng Li – Pool/Getty Images)

เป็นไปได้หรือไม่ที่สถานะ “ตาอยู่” จะตกอยู่ในมือของไทย? ในวิกฤติย่อมมีโอกาส ความสัมพันธ์ทั้งสองฝ่ายนี้ อาจทำให้เราดำเนินนโยบายที่สามารถสานประโยชน์จากทั้งสองฝั่งได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นการทำสัญญาระยะยาวจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพื่อป้องกันความผันผวนจากความไม่แน่นอนของทรัมป์ที่มีอาการขึ้นๆ ลงๆ ตลอดเวลา 

ไปจนถึงการหาโอกาสใหม่ๆ หาจังหวะในการสอดแทรกเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานที่กำลังแบ่งเป็นสองแกนที่มีความสัมพันธ์ทั้งรักทั้งชังตลบอบอวลอยู่ 

Donald Trump
ภาพจาก Shutterstock

นอกจากนี้ “จีน-เมริกา” ยังมีเรื่องความยิ่งใหญ่ของหัวเว่ย คือการลงทุนอย่างหนักจากการวิจัยและพัฒนา (R&D) จนทำให้เติบโตและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ ระแวงจีนในด้านเทคโนโลยีขึ้นมาได้ ทั้งที่เมื่อก่อนมองจีนเป็นเพียงโรงงานโลกเท่านั้น 

ตลอดจนประเด็นเรื่องจีนเปลี่ยนชื่อ “เส้นทางสายไหม” จาก One Belt One Road กลายเป็น Belt and Road Initiative ไปจนถึงเรื่องรถไฟไทย-จีน กับประเด็นที่ไทยยอมลงทุน 100% เพราะอะไร ไปจนถึงความโปร่งใสที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินเพราะเข้าถึงข้อมูลยากนี่ก็เป็นปัญหาที่ทำให้ประชาชนตรวจสอบได้ไม่ง่าย

ทั้งหมดทั้งมวลที่ว่านี้ แม้กระทั่งประเด็น Brexit ก็กระทบกับจีนพอสมควร เพราะอะไร “จีน-เมริกา จากสงครามการค้า สู่สงครามเทคโนโลยี ถึงสงครามเย็น 2.0” ตอบหมดทุกโจทย์แล้ว 

ถือเป็นหนังสือสามัญประจำบ้านที่คนสนใจจีนควรอ่าน คนสนใจอเมริกาก็ควรอ่าน คนที่อยากเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยิ่งต้องอ่าน แม้แต่คนที่ไม่สนใจทั้งจีนและอเมริกาก็ควรอ่าน เพราะมันจะทำให้คุณเข้าใจเกมการเมืองระหว่างประเทศที่กระทบชีวิตคุณได้บ้างไม่มากก็น้อย ใครจะไปรู้ว่าอนาคตเราจะต้องใช้โทรศัพท์สองเครื่อง สองระบบ เพราะแกนอำนาจของโลกกำลังค่อยๆ แบ่งขั้วอีกครั้ง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา