เชฟรอนร่วมแชร์วิสัยทัศน์การพัฒนาเทคโนโลยี CCS การดักจับและกักเก็บคาร์บอน ก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำในอนาคต

เป้าหมายการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ เป็นเป้าหมายและภารกิจร่วมกันของทั่วโลก ทำให้ภาคธุรกิจจำนวนมากเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อช่วยในเรื่องนี้อย่างเข้มข้น บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เป็นหนึ่งในบริษัทด้านพลังงานที่มุ่งมั่นในการจัดหาพลังงานที่สะอาดขึ้น ควบคู่ไปกับการสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานและขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจไปพร้อมกัน 

เทคโนโลยี ตัวแปรสำคัญสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ 

หนึ่งในเทคโนโลยีที่มีการนำเสนอในงาน Future Energy Asia คือ เทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการกักเก็บคาร์บอน หรือ CCS (Carbon capture and storage) ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดในอนาคต  

ปัณวรรธน์ นิลกิจศรานนท์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายวิศวกรรมโครงสร้าง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในฐานะตัวแทนธุรกิจภาคพลังงาน ได้ขึ้นเวทีร่วมกับผู้นำจากหลากหลายอุตสาหกรรมของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีส่วนเกี่ยวข้องในภารกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งอาเซียน (ERIA) สมาคมก๊าซธรรมชาติและพลังงานแห่งเอเชีย (ANGEA) กลุ่มธนาคารโลก ไปจนถึงบริษัทในภาคอุตสาหกรรมพลังงาน เพื่อพูดคุยและแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ถึงโอกาส และแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยี CCS ในเอเชีย ซึ่งจะมีส่วนเกี่ยวข้องถึงการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำ 

การเปลี่ยนผ่านทางพลังงานสู่อนาคต 

เชฟรอน เชื่อมั่นว่า ทิศทางของโลกคือการมองหาพลังงานที่สะอาดขึ้นเพื่อส่งมอบพลังงานคาร์บอนต่ำอย่างปลอดภัยให้กับโลกที่กำลังเติบโต รวมถึงการลดความเข้มข้นของคาร์บอนในการผลิตพลังงานในปัจจุบัน และพัฒนาธุรกิจใหม่สำหรับพลังงานคาร์บอนต่ำ โดยเชฟรอน คอร์ปอเรชั่น ได้จัดตั้งหน่วยงาน Chevron New Energies (CNE) ในปี 2564 เพื่อเร่งพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เช่น CCS พลังงานไฮโดรเจน และเชื้อเพลิงหมุนเวียน ด้วยแผนการลงทุนกว่า 10 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วงปี 2564 – 2571 

สำหรับสถานการณ์พลังงานในปัจจุบัน ขณะที่พลังงานทางเลือกยังอยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดในราคาที่เหมาะสม พลังงานฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติ ยังคงจำเป็นและเป็นทางเชื่อมไปสู่ยุคพลังงานสะอาด ดังนั้น เชฟรอน จึงมุ่งมั่นในการลดการปล่อยคาร์บอนจากการปฏิบัติงาน ผ่านกลยุทธ์ต่างๆ ทำให้สามารถลดปริมาณความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนได้ 15% ใน 24 เดือนที่ผ่านมาจากแหล่งผลิตปิโตรเลียมของเชฟรอนในอ่าวไทย

พัฒนาเทคโนโลยี CCS นำไปสู่การใช้งานจริงในไทยและเอเชีย 

ในงาน Future Energy Asia มีการหารือเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยี CCS ไปสู่การใช้งานในวงกว้าง โดยเชฟรอนได้ทำงานร่วมกับบริษัทผู้ร่วมทุนในการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยี CCS ในอ่าวไทย โดยได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญจากเชฟรอน คอร์ปอเรชั่น ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำ CCS จากทั่วโลก อาทิ โครงการกอร์กอนในประเทศออสเตรเลีย และโครงการเควสท์ในแคนาดา  

ปัณวรรธน์ กล่าวว่า ภูมิภาคนี้มีศักยภาพสูงในการพัฒนาเทคโนโลยี CCS ด้วยการสนับสนุนจากโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้วและความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมตั้งแต่ Upstream ถึง Downstream การมีทั้งโครงสร้างพื้นฐาน องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญที่สามารถนำมาสู่การพัฒนาแนวทางการกักเก็บคาร์บอนไว้ในชั้นหินใต้ดิน โดยไม่ปล่อยกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ เป็นจุดแข็ง ที่จะช่วยให้โครงการ CCS ขยายตัวได้ในระดับภูมิภาค 

อีกทั้งการพัฒนาเทคโนโลยี CCS ที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และต้องการการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรต่างๆ เพื่อผลักดันนโยบายและการลงทุนที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้เทคโนโลยีเติบโตและมีโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนในระยะยาว โดยเชฟรอนพร้อมที่จะนำองค์ความรู้ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญที่ได้จากการประยุกต์ใช้ในหลากหลายประเทศทั่วโลกมายังภูมิภาคนี้ 

นำเสนอโมเดล IOC เพิ่มประสิทธิภาพทำงาน 24 ชั่วโมง 

นอกจากนี้ เชฟรอนได้นำเสนอนวัตกรรม “การจัดตั้งศูนย์ควบคุมการปฏิบัติงานของแท่นผลิต” หรือ Integrated Operations Center” หรือ IOC ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในไทยที่มีการสร้าง Control Room ของแหล่งผลิตกลางอ่าวไทยทั้ง 3 แห่ง คือ เบญจมาศ ไพลินเหนือ และไพลินใต้ มารวมไว้ที่สำนักงานกรุงเทพฯ ทำให้สามารถควบคุมและสั่งการระบบการผลิตซึ่งห่างออกไปกว่า 300 กิโลเมตรได้ โดยพนักงานที่ศูนย์ฯ สามารถทำงานร่วมกับพนักงานนอกชายฝั่งได้แบบ real-time ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งช่วยลดการเดินทางและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด โดยโมเดลนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต่อไปในอนาคต  

เป็นอีกครั้งที่ เทคโนโลยี มีบทบาทสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการปฏิบัติงาน เพื่อขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ โดยนอกจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCS ไปจนถึงจัดตั้งศูนย์ IOC แล้ว เชฟรอนมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างพลังงานอย่างยั่งยืน อาทิ โครงการรื้อถอนส่วนบนของแท่นหลุมผลิตมาใช้ประโยชน์ใหม่ครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ 7,560 ตัน ไปจนถึงพัฒนาโครงการนำร่องในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ควบคู่พลังงานลมเพื่อเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดควบคู่กันไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา