โอกาสมีอยู่ทุกที่! บริษัทยูเครนสร้างโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในเชอร์โนบิล

แม้ว่าพื้นที่รอบๆ โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลในประเทศยูเครนจะมีค่ารังสีที่ยังรุนแรงอยู่ แต่พื้นที่รกร้างแห่งนี้กลับเป็นโอกาสใหม่ของผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แถมรัฐบาลยูเครนยังสนับสนุนด้วย

ภาพจาก Shutterstock

แผนการของประเทศยูเครนที่พยายามจะลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากประเทศรัสเซียเพื่อผลิตไฟฟ้า ซึ่งภายในปี 2020 ประเทศยูเครนจะมีพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกถึง 11% ส่วนข้อมูลจาก Bloomberg ปี 2017 ที่ผ่านมามีไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกจ่ายไฟเข้าระบบของประเทศยูเครนอยู่ 1,200 เมกะวัตต์

ล่าสุดมี Rodina Energy Group บริษัทในยูเครนร่วมทุนกับทางบริษัทในประเทศเยอรมันคือ Enerparc ได้ร่วมทุนสร้างโซลาร์ฟาร์มในพื้นที่ของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลแห่งนี้ โรงไฟฟ้าแห่งนี้จ่ายไฟเข้าระบบที่ 1 เมกะวัตต์ และตัวแผงโซลาร์เซลล์ห่างจากเตาปฏิกรณ์ที่เกิดระเบิดเพียงแค่ 100 เมตรเท่านั้น

ไอเดียคือพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์

นักธุรกิจชาวยูเครนอย่าง Yevgen Variagin ได้กล่าวว่าเขามองว่าพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ซึ่งไม่สามารถทำอะไรได้สักอย่างเช่นเดียวกับพื้นที่รอบๆ โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลนี้ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ให้เกิดมูลค่าได้ โดยเขาเองก็เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลเมื่อสมัยโรงไฟฟ้าเกิดกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลในปี 1986

แถมรัฐบาลยูเครนสนับสนุนพัฒนาพื้นที่รอบๆ เชอร์โนบิล

พื้นที่ว่างเปล่ารอบๆ โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล 1,000 ตารางไมล์ รัฐบาลยูเครนเปิดโอกาสให้กับบริษัทผลิตไฟฟ้าทั่วโลกเข้ามาสร้างโซลาร์ฟาร์ม ราคาไฟฟ้าล่าสุดที่รัฐบาลรับซื้ออยู่ประมาณ 5.79 บาท ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวนี้มีสายส่งไฟฟ้าที่เหมาะสำหรับโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว ล่าสุดมีบริษัทในฝรั่งเศสอย่าง Engie หรือแม้แต่บริษัทจีนอย่าง China National Complete Engineering สนใจที่จะลงทุนในพื้นที่นี้เช่นกัน

รัฐบาลยูเครนตั้งเป้าจะผลิตไฟฟ้าในพื้นที่รอบๆ โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลให้ได้ประมาณ 1,200 เมกะวัตต์ เพียงพอสำหรับบ้านเรือน 2 แสนหลังคาเรือน

โอกาสมีอยู่ทุกที่

ภายในอนาคตเราอาจได้เห็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไปอยู่ตามพื้นที่รกร้างว่างเปล่าอีกเยอะมาก อย่างที่ประเทศไทยล่าสุด SCG ได้ทำทุ่นโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ หรือแม้แต่บริษัทอื่นๆ ก็นำพื้นที่เช่นเหมืองเก่ามาทำเป็นโรงไฟฟ้า ซึ่งความต้องการพื้นที่สำหรับโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ถือว่าเยอะมาก และเป็นโอกาสใหม่ๆ สำหรับพื้นที่รกร้างอีกด้วย

Note: สามารถดูรูปแบบใหญ่ๆ ได้จากที่มา

ที่มาBloomberg, RT

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา