คุณลุงวิลาศ จากคนสุราษฎร์ สู่ เมืองล้านนา ชีวิตพลิกผัน เพราะ “ดอกไม้

ดอกไม้ที่ประดับประดาอยู่บนจานอาหาร ใครจะคิดว่า ความสวยงามที่เราเห็น จะสามารถพลิกชีวิตให้คนๆหนึ่ง นำไปต่อยอดสร้างธุรกิจส่วนตัว ให้บริการด้านอาหารเพื่อสุขภาพ ที่มีวัตถุหลักมาจากดอกไม้ จนกลายเป็น “โอมากาเสะดอกไม้” สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนที่ต้องการหันไปทำธุรกิจส่วนตัวด้านการเกษตร มอบทั้งความสุขบนจานอาหาร และ ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้คนที่แวะเวียนไปดื่มด่ำกับบรรยากาศ ที่บ้านพัก วสุนธารา จ.เชียงใหม่

 

สีสันของดอกไม้มากมาย หลากหลายสายพันธุ์ ถูกวางเรียงอย่างสวยงาม ลงบนจานอย่างพิถีพิถัน ไม่ต่างจากร้านอาหารหรูๆ ที่นำดอกไม้มาตกแต่งจาน แต่ความสวยงามของดอกไม้ทั้งหมดนี้ ถูกจัดเสิร์ฟโดย วิลาศ จุลกัลป์  เจ้าของร้านบ้านวสุนธารา เชียงใหม่ เพื่อเตรียมรับรองลูกค้าที่ตั้งใจจองคิวมาเพื่อรับประทานอาหาร ซึ่งวัตถุดิบส่วนใหญ่ทำมาจากดอกไม้ที่คุณลุงวิลาศปลูกเอง

จากน้ำเสียงที่ออกสำเนียงปักษ์ใต้ สู่คนเมืองล้านนา 

สำเนียงและเสียงที่เราได้พูดคุยกับคุณลุงวิลาศ บ่งบอกว่า คุณลุงวิลาศ ไม่ใช่คนพื้นเมืองล้านนา จ.เชียงใหม่ คุณลุงวิลาศยิ้ม ก่อนเล่าว่า “ผมเป็นคนสุราษฎร์” อดีตเคยทำงานเป็นล่ามแปลภาษา เมื่อย้อนไปสมัยทำงานตอนนั้นตั้งใจอยากมีผืนดินเล็กๆไว้ปลูกผัก เลี้ยงปลา และพอดีก็มีเพื่อนแนะนำว่ามีที่ดินแถวจังหวัดเชียงใหม่ขาย ซึ่งส่วนตัว อยากมีที่ดินที่จังหวัดเชียงใหม่อยู่แล้ว เพราะที่นี้บรรยากาศดี จึงตัดสินลาออกจากงานประจำมาลงหลักปักฐานอยู่ที่เชียงใหม่ 

คุณลุงวิลาศยังเล่าว่า ตอนนั้นยังไม่ได้มีความคิดว่าจะต้องมาเปิดธุรกิจอะไร แค่ปลูกผัก ปลูกข้าว ไว้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว เป็นความสุขเล็กของคนแก่ก็พอแล้ว แต่เมื่อผลผลิตมากขึ้น ก็มานั่งคิดว่า “เด็กๆเราเคยนำดอกเข็มสีแดงๆมาดูดน้ำหวาน” จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการคิดเมนูอาหารจากวัตถุดอกไม้ 

รังสรรค์ดอกไม้ที่ปลูกให้กลายเป็นเมนูอาหาร

อาหารแต่ละจานถูกรังสรรค์โดยฝีมือ ของคุณลุงวิลาศ ทั้งหมด โดยในทุกเช้าคุณลุงวิลาศจะออกไปเก็บดอกไม้ และ พืชผัก ในสวนหลังบ้าน คุณลุงเล่าว่า ที่ต้องออกไปเก็บแต่เช้าเพราะ ดอกไม้ที่ผ่านน้ำค้างยังมีความสด มือ เท้าของเราก็จะได้สัมผัสกลิ่นอายดิน กลิ่นหญ้า กลิ่นดอกไม้ เหมือนเพิ่มพลังให้เราในทุกเช้า เป็นบรรยากาศที่เมืองหลวงก็หาแบบนี้ไม่ได้ 

เมนูเมี่ยงคำบุปผาหรือเมี่ยงคำดอกไม้ กลายเป็น อาหารขึ้นชื่อที่ลูกค้ามาเยือนที่แห่งนี้ต้องสั่งเป็นประจำ และ เมนูข้าวยำดอกไม้ ซึ่งลูกค้าหลายคนมักสงสัยและถามคุณลุงว่า ดอกไม้ที่วางอยู่บนจาน ตกแต่งเพื่อความสวยงามเหมือนร้านอาหารทั่วไปหรือไม่ คุณลุงก็จะตอบน้ำเสียงคนปักษ์ใต้ว่า “ทุกอย่างที่วางอยู่บนจานสามารถรับประทานได้หมด เพราะ ความตั้งใจของคนทำอาหารคือลุง “ดอกไม้คือส่วนประกอบหลักของเมนูอาหาร” ไม่ใช่เพียงไว้เพื่อตกแต่งจาก นั้นคือเป้าหมายในการทำ “โอมากาเสะดอกไม้” 

อย่างเมนูที่ต้องมีวัตถุดิบที่ต้องใช้กะทิเป็นส่วนประกอบ คุณลุงวิลาศ ก็ไปสอยมะพร้าวเพื่อมาขูดและคั้นน้ำกะทิเอง ทั้งของคาวและของหวาน ล้วนแล้วผ่านขั้นตอนของคุณลุงทั้งสิ้น 

ความสุขของชีวิตที่ไม่ต้องดิ้นรน

“ผมอยากให้ลูกค้าที่มาที่นี่ได้เสพบรรยากาศ เสพความสุข” จากที่ต้นไม้ ดอกไม้ พันธุ์ไม้ต่างๆโดยรอบ รวมไปถึงจากเมนูอาหารที่ผมทำและเสิร์ฟ เพราะผมรู้สึกว่า เมื่อผมความสุขแล้ว ก็อยากให้คนที่มาที่นี่ได้รับความสุขกลับไปด้วย มันเกิดจากความตั้งใจของเราที่ไม่ต้องดิ้นรน ให้เวลากับตัวเองได้พักผ่อน และ ผ่อนคลาย ผมว่านี้ละคือความสุขที่มนุษย์โหยหา 

แนวคิดธุรกิจ “เน้นทำอาหารเสริฟ์ให้เพื่อน มากกว่า การทำธุรกิจ”

คุณลุงเล่าว่า ความตั้งใจคือ ที่นี่ไม่ใช่เป็นร้านอาหารแต่เป็นที่นี่คือ ที่ที่จะให้คนรู้จักเป็นเพื่อน เป็นญาติมานั่งรับประทานอาหาร เหมือนกับบ้านญาติ บ้านเพื่อน ซึ่งเป็นเหตุผลที่ผมต้องรับลูกค้าวันละโต๊ะ เพราะผมสามารถที่จะดูแลลูกค้าได้เต็มที่ ให้ผมได้มีเวลานั่งคุยกับลูกค้า มีเวลาทำอาหารสร้างสรรค์หรือตกแต่งอาหารแต่ละจานแต่ละจานให้ลูกค้าประทับใจ

นอกจากลูกค้าที่มาจะอิ่มท้องแล้ว สิ่งที่เป็นของแถมที่มากกว่าอาหาร คือ บรรยากาศ คอนเซ็ปท์ของที่คือ “นั่งกินนอนกิน”  ร้านโดยทั่วไปไม่มีใครรู้หรอกว่าร้านนี้ใครเป็นเจ้าของ หรือใครเป็นพ่อครัว พออิ่มแล้วจ่ายเงินจบ แต่ที่นี่ไม่ใช่ที่นี่เราจะมาพูดมา    

“อธิบายอาหารแต่ละอย่างว่า อาหารกินแล้วมันดียังไงมันเป็นแบบไหนช่วงนี้มันต้องกินแบบนี้ ให้เขาได้เรียนรู้ว่าที่มาที่ไปของตั้งต้นของอาหารของวัตถุดิบมาจากไหน ผมจะให้ความรู้เขาไปด้วย

“ถามว่ามีอาชีพอะไรที่นั่งๆนอนๆอยู่ที่บ้านและมีคนเอาเงินมาให้ เข้าสวนเก็บดอกไม้มันมีอาชีพอะไรที่มันมีความสุขมากกว่านี้อีกหรือ คือผมมองตรงนี้ว่าเราโชคดีที่สุดแล้ว” 

เป็นคุณครูด้านการเกษตร 

“คนเราเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด” คุณลุงวิลาศเอ่ยประโยคสั้นๆ ก่อนจะบอกว่า ตัวผมเองก็เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ลองผิด ลองถูก ซึ่งการเรียนรู้เราต้องเรียนรู้ไปตลอดชีวิต อย่างผมเป็นเกษตรกร ปลูกผัก ปลูกพืช ปลูกดอกไม้ สิ่งเหล่านี้และความรู้ต่างๆเราศึกษาหาความรู้เอง อันนี้ดี อันนี้ไม่ดี ก็ลองปรับ ลองแก้ไขกันไป 

“ลูกค้าที่มาที่นี่นอกจากจะรับประทานอาหารแล้ว บางคนมาเรียนรู้เรื่องการทำเกษตร ไม่ได้มารับประทานอาหาร ผมก็เต็มใจที่จะถ่ายทอดเรื่องราว ความรู้ต่างๆที่มี เพราะส่วนตัวผมมองว่า มันคือความสุขอย่างหนึ่งนะ” 

ตลอดการพูดคุยกับคุณลุงวิลาศ เราสัมผัสได้ถึงความสุขและความตั้งใจในการทำอาหาร ผ่านรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ และความพิถีพิถันในการจัดเรียงอาหารแต่ละเมนู  คุณลุงวิลาศกล่าวทิ้งท้ายก่อนจบบทสนทนาว่า 

“ความสุขของผมคือการได้เห็นรอยยิ้มของลูกค้าที่ได้รับประทานอาหารที่ดี มีคุณภาพ ผมไม่ได้หวังว่าจะต้องได้รายได้มากมายจากการทำอาหาร แต่สิ่งที่ผมทำคือผมอยากให้ทุกคนที่มาที่นี่ได้รับความสุขกลับไป” 

หากต้องการไปรับประทานอาหารที่ทำมาจากดอกไม้ หรือ อยากเสพบรรยากาศธรรมชาติ แบบสโลว์ไลฟ์ แนะนำติดต่อไปที่คุณลุงวิลาศ แต่ขอบอกว่า “จะไปที่นี้ต้องจองคิวล่วงหน้า” เพราะคุณลุงวิลาศ เป็นทั้งเชฟและดูแลลูกค้าเองทั้งหมด https://www.facebook.com/wasuntharaeaterfarm

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา