อ่านโอกาสจากแชทคอมเมิร์ซ 1 แสนล้าน ผ่านสายตา “สยามเอาท์เลต” หลังติดเครื่อง 7 เดือนโต 40 เท่า

ถึงจะไม่มีความปลอดภัย และใช้แค่ความเชื่อใจในการซื้อขาย แต่ แชทคอมเมิร์ซ หรือการซื้อขายผ่านเฟสบุ๊ก, อินสตาแกรม และไลน์ ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ามีมูลค่ารวมกว่า 1 แสนล้านบาท ผ่านผู้ค้าหลัก 2 แสนราย ทำให้การสร้างรายได้กับกลุ่มผู้ค้าเหล่านี้จึงมีความเป็นไปได้สูง

ไม่ต้องขายสินค้าก็โตไปกับอีคอมเมิร์ซได้

แต่ถึงจะเติบโตเร็วแค่ไหน พ่อค้าแม่ค้าแชทคอมเมิร์ซก็มีปัญหาที่ทุกรายต้องเจอ คือการไม่มีเวลาแพ็ค และส่งสินค้า ทำให้เกิดบริการฟูลฟิวเมนต์ หรือการรับเป็นผู้จัดการคลังสินค้า, แพ็คสินค้า และส่งสินค้าขึ้น หนึ่งในนั้นคือ Siam Outlet ที่เปิดให้บริการมาเพียง 7 เดือน แต่สร้างการเติบโต 40 เท่า ผ่านรายได้เดือนละ 5 แสนบาท และปีนี้จะปิดที่ 3 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมี e – Logit เบอร์หนึ่งด้านฟูลฟิวเมนต์จากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนแล้ว และยังมีทั้งกองทุน, แองเจิล รวมถึงบริษัทขนสั่งดั้งเดิมให้ความสนใจลงทุนเพิ่ม

ชญาภัค สหัชอติเรกลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยาม เอาท์เลต จำกัด เล่าว่า การซื้อสินค้าบนช่องทางอีคอมเมิร์ซของไทยทำผ่านช่องทางแชทคอมเมิร์ซถึง 51% อ้างอิงจากผลสำรวจของบริษัทวิจัย PWC เพราะคนไทยชอบพูดคุยกับเจ้าของร้าน ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า ต่างกับสหรัฐอเมริกา และยุโรป ที่ซื้อสินค้าผ่านระบบตะกร้ามากกว่า จนเมื่อ 2 ปีก่อนมีร้านค้าออนไลน์จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 5 แสนราย แต่แทบทุกร้านเจอปัญหาเดียวกันคือ ไม่มีเวลาแพ็คของ ดังนั้นใครเข้าไปแก้ปัญหาได้ ก็จะโตไปกับค้าออนไลน์เช่นกัน

4siam-outlet_013
ชญาภัค สหัชอติเรกลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยาม เอาท์เลต จำกัด

โอกาสเปิดกว้างหลังซัพพลายไม่พอ

“สยามเอาท์เลตเริ่มต้นธุรกิจในพื้นที่ขนาด 100 ตร.ม. ภายในคลังสินค้าของไทเกอร์โลจิสติก และมี 320 เชลฟ์ในการวางสินค้า ซึ่งตอนนี้เรามียอดส่งสินค้า 10,000 ชิ้น/เดือน มีสินค้าวางอยู่ทั้งหมด 20,000 ชิ้น และมีร้านค้าใช้บริการของบริษัท 80 ร้าน ตั้งแต่เสื้อผ้า, รองเท้า รวมถึงอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ แต่ถึงมากขนาดนี้ก็ยังไม่พอกับร้านค้าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยอยู่ดี และยังมีโอกาสอีก 3 – 4 ปีกว่าตลาดจะเต็ม แต่ตอนนี้ก็เริ่มมีผู้เล่นโลจิสติกดั้งเดิมเข้ามามากขึ้น และการแข่งขันราคาก็เล่นกันในระดับบาท สองบาทแล้ว ดังนั้นจะเข้ามาต้องวางแผนดีๆ”

สำหรับ Siam Outlet ให้บริการตั้งแต่การรับสินค้าจากพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์มาเก็บที่คลัง, เตรียมสินค้าแพ็คใส่กล่อง, ให้เช่าพื้นที่เก็บสินค้า ราคา 200 บาท/ชั้นวางสินค้า และบริการจัดส่งผ่านช่องทางต่างๆ คิดค่าบริการแพ็คสินค้า 13 บาท/ชิ้น ถัดไปชิ้นละ 5 บาท รวมถึงรับเป็นศูนย์คืนสินค้าได้  ซึ่งในปี 2560 จะขยายคลังสินค้าเป็น 1,000 ตร.ม. รวมถึงสร้างจุดรับฝากส่งสินค้าบริเวณปั้มน้ำมัน และตามคอนโดมีเนียมต่างๆ 100 จุดทั่วประเทศ ผ่านเงินลงทุน 20 ล้านบาท เพื่อตอบโจทย์พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ต้องการส่งสินค้าทันที

8siam-outlet_454

เปิดตลาดญี่ปุ่นผ่านการ Cross – Border

ขณะเดียวกัน การมีทุนญี่ปุ่นเข้ามาร่วมลงทุนกับบริษัท ทำให้จากนี้จะทดลองนำเข้าสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาเก็บไว้ในคลังสินค้า พร้อมจำหน่ายในตลาดทั่วไป หรือการทำ Cross – Boarder โดยสินค้าที่จะเข้ามาก่อน คือเครื่องสำอาง นอกจากนี้เตรียมส่งสินค้าไปจำหน่ายที่ประเทศญี่ปุ่นเช่นกัน โดยอยู่ระหว่างคุยกับกรมส่งเสริมการส่งออก เพื่อดึงกลุ่มสินค้าโอท็อปเข้ามาร่วมทำตลาดกับบริษัท และมองว่าในอนาคต รายได้จากฝั่งธุรกิจนำเข้า – ส่งออก จะเป็นสัดส่วนรายได้ที่สำคัญ

“แม้ตอนนี้บริการฟูลฟิวเมนต์ในประเทศไทยยังไม่มีใครเป็นเจ้าตลาด เพราะถ้าให้ 7 รายมีลูกค้าในมือรายละ 1,000 ร้าน ก็ได้แค่ 7,000 เทียบไม่ได้กับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ 2 แสนราย แต่สยามเอาท์เลตก็ทำแค่ธุรกิจนี้ไม่ได้ เพราะกลุ่มโลจิสติกดั้งเดิมมาแล้ว ดังนั้นการหาช่องทางใหม่ๆ จึงเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งการส่งออก – นำเข้าก็มีโอกาสเป็นไปได้ โดยปี 2560 เราคิดว่ารายได้น่าจะอยู่ที่ 10 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจฟูลฟิวเมนต์ และพยายามระดมทุนเข้ามาเพิ่ม เพื่อเข้าสู่ Series A หลังตอนนี้บริษัทอยู่ในช่วง Seed”

15siam-outlet_344

สรุป

ฟูลฟิวเมนต์ตอนนี้คงเติบโตได้อีกไกล แต่หากใครเข้ามาตอนนี้อาจช้าเกินไป เพราะพ่อค้า แม่ค้าออนไลน์ที่เติบโต และมีรายได้พอที่จะเช่าใช้ระบบนี้คงมีไม่ถึง 2 แสนรายแน่นอน ประกอบกับหลังจากนี้อาจมียักษ์ใหญ่จากต่างประเทศเข้ามา และมีโอกาสสูงที่จะใช้วิธีทุ่มตลาด ดังนั้นผู้ใดสนใจจะเข้ามาต้องศึกษากันดีๆ ก่อน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา