ทางรอดโรงหนัง บทเรียนจากเกาหลีใต้ ให้เกมเมอร์เช่าพื้นที่เล่นเกม จอใหญ่-เสียงดีกว่าเล่นที่บ้าน

โรงภาพยนตร์ในเกาหลีใต้หาทางรอดจากวิกฤตโควิด-19 เปิดให้เกมเมอร์เช่าโรงภาพยนตร์เล่นเกม ชูจุดเด่นจอใหญ่กว่า เสียงดีกว่าเล่มเกมที่บ้าน

ในปี 2020 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ธุรกิจโรงภาพยนตร์ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตที่เป็นผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โรงภาพยนตร์ถูกสั่งปิด ไม่มีคนดู เพราะความไม่มั่นใจ หรือแม้แต่สาเหตุสำคัญอย่างการไม่มีหนังใหม่ ที่เป็นเหมือนแม่เหล็กดึงดูดให้คนเข้าโรงภาพยนตร์ เพราะอย่าลืมว่ากระบวนการถ่ายทำก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เช่นกัน

หรือหนังดังระดับแม่เหล็กบางเรื่องที่พอจะดึงดูดคนดูได้ เลือกที่จะเข้าฉายในสตรีมมิ่งพร้อมๆ กับการฉายในโรงภาพยนตร์ ก็ยิ่งเป็นการแย่งคนดูจำนวนมากที่ไม่อยากเข้าโรงหนังในช่วงนี้

ทำให้ในปี 2020 ที่ผ่านมา รายได้จากการขายตั๋วของโรงภาพยนตร์ทั่วโลก ลดลงกว่า 71%  อยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.61 แสนล้านบาท จากที่ปี 2019 โรงภาพยนตร์ทั่วโลกมีรายได้จากการขายตั๋วกว่า 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.27 ล้านล้านบาท

เฉพาะในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวธุรกิจโรงภาพยนตร์อาการหนักไม่แพ้ประเทศอื่นๆ จน AMC เครือโรงภาพยนตร์รายใหญ่ที่สุดของโลก ต้องปิดโรงภาพยนตร์ไปหลายแห่ง และเสี่ยงอยู่ในภาวะ “เสี่ยงล้มละลาย” เพราะไม่มีคนดู

แน่นอนว่าโรงภาพยนตร์คงไม่สามารถอยู่เฉยๆ รอให้สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จนคนกลับเข้ามาดูหนังในโรงภาพยนตร์แบบเดิม เพราะกว่าจะถึงเวลานั้นโรงภาพยนตร์เองคงไม่ได้มีสายป่านที่ยาวมากพอจะประคับประคองสถานการณ์เอาไว้ได้ สิ่งที่ควรทำมากที่สุดคือการปรับตัว หาวิธีสร้างรายได้จากโรงภาพยนตร์ที่ไม่มีคนดู

เครือโรงภาพยนตร์เกาหลีใต้ปรับตัว ให้เกมเมอร์เช่าเล่นเกม

ที่ประเทศเกาหลีใต้ CGV เครือโรงภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ปรับตัวสู้กับวิกฤตโรงภาพยนตร์ ในเมื่อไม่มีหนังใหม่ ไม่มีใครเข้ามาดูหนัง จึงเปลี่ยนโรงภาพยนตร์ที่ว่างอยู่ไปเป็นสถานที่สำหรับเล่นเกมจับกลุ่มเกมเมอร์ในประเทศที่ต้องการประสบการณ์การเล่นเกมที่แปลกใหม่

สำหรับราคาการเช่าโรงภาพยนตร์ของ CGV เพื่อเล่นเกม มีค่าบริการอยู่ที่ 90-135 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,600-4,000 บาท ต่อระยะเวลา 2 ชั่วโมง โดยผู้เช่าจะต้องนำเครื่องเล่นเกม แผ่นเกม และจอยคอนโทรลมาเอง โรงภาพยนตร์ไม่ได้เตรียมไว้ให้

เล่นเกมที่บ้านก็ได้ ทำไมต้องเสียเงินเช่าโรงภาพยนตร์

สาเหตุที่ทำให้ CGV ตัดสินใจเปิดให้เช่าโรงภาพยนตร์สำหรับการเล่นเกม เป็นเพราะความจริงแล้ว หนังที่เราดูกับเกมที่เราเล่นกันอยู่ในทุกวันนี้ มีลักษณะบางอย่างเหมือนกัน

นั่นคือการเล่าเรื่องราว ทั้งหนังและเกมต่างมีการกำหนดเส้นเรื่อง และเล่าเรื่องราวที่เหมือนกัน ดังนั้นแล้วหากเราดูหนังในโรงภาพยนตร์ได้ ทำไมเราจะเล่นเกมในโรงภาพยนตร์ไม่ได้ เพราะอย่าลืมว่าการเล่นเกมในยุคนี้มีภาพกราฟฟิกที่สวยงาม มีเสียงประกอบเพื่อเล่าเรื่องเช่นเดียวกับการชมภาพยนตร์ ซึ่งโรงภาพยนตร์เองก็ตอบโจทย์ทั้งในเรื่องคุณภาพของภาพ และเสียงที่ดีกว่าการเล่นเกมที่บ้าน

กลุ่มลูกค้าที่เช่าโรงภาพยนตร์เพื่อเล่นเกมมีทั้งคู่รัก และกลุ่มครอบครัว แต่โดยส่วนใหญ่ลูกค้าหลักที่สนใจใช้บริการจะเป็นผู้ชายอายุ 30-40 ปีมากที่สุด และนับตั้งแต่ต้นปี 2021 นี้ โรงภาพยนตร์ CGV เปิดเผยว่ามีผู้เช่าโรงภาพยนตร์เพื่อเล่นเกมไปแล้วกว่า 130 ครั้ง แม้จะเพิ่มเปิดบริการมาไม่นานเท่านั้น

ให้เกมเมอร์เช่า เป็นทางรอดจริงหรือ?

แม้การให้เช่าโรงภาพยนตร์เพื่อเล่นเกมจะดูเหมือนเป็นทางออกสำคัญของโรงภาพยนตร์ แต่อย่าลืมว่ารายได้จากการให้เช่าโรงภาพยนตร์เพื่อเล่นเกมคงไม่สามารถทดแทนโรงภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยผู้ชมในช่วงเวลาปกติได้ เพราะตามปกติแล้วโรงภาพยนตร์ของ CGV ส่วนใหญ่จะมีขนาด 100-200 ที่นั่ง ซึ่งสามารถทำเงินได้ประมาณ 600-1,200 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ​ 18,000-36,000 บาท ต่อการฉาย 1 รอบ แม้จะอยู่ในช่วงการใช้มาตรการ Social Distancing ก็ตาม

นอกจากเงินค่าตั๋วที่ขายได้แล้ว โรงภาพยนตร์ยังมีรายได้อีกทางหนึ่ง นั่นคือรายได้จากการขายอาหาร เครื่องดื่ม และป็อปคอร์น ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้กับโรงภาพยนตร์เพิ่มเติมอีกทางหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตามการปรับตัวของโรงภาพยนตร์ในประเทศเกาหลีใต้ก็นับว่ามีความน่าใจเป็นอย่างมาก เพราะอย่าลืมว่าคงไม่มีธุรกิจใดที่สามารถอยู่เฉยๆ ในยุคที่เกิดวิกฤตเช่นนี้ได้ การปรับตัวจึงเป็นเหมือนการต่อลมหายใจให้กับธุรกิจโรงภาพยนตร์ เพื่อรอวันฟื้นตัว และรอคนกลับเข้ามาดูหนังอีกครั้ง ในยุคที่สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นแล้ว

นอกจากนี้ในอนาคตโรงภาพยนตร์ยังต้องสู้กับบริการสตรีมมิ่ง ที่เป็นทางออกสำคัญของค่ายหนัง ที่เลือกเอาหนังไปฉายพร้อมๆ กับโรงภาพยนตร์ ในอนาคตหากคนดูเคยชินกับการดูหนังผ่านระบบสตรีมมิ่ง ธุรกิจโรงภาพยนตร์ก็จะเป็นฝ่ายได้รับความเดือดร้อน และต้องหาวิธีปรับตัวอีกครั้งเช่นกัน

ข้อมูลจาก BBC, Variety, Latimes

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา