เปิดใจ ฌอง กาสแกร็ง CEO Longchamp กับภารกิจพาธุรกิจครอบครัวแข่งขันในตลาด Luxury

Longchamp คือแบรนด์เครื่องหนังชั้นนำจากฝรั่งเศส มีกระเป๋ารุ่น Le Pliage เป็นสินค้าที่ผู้หญิงเกือบทุกคนรู้จัก หรืออยากซื้อมาใช้งานเป็นกระเป๋าสามัญประจำบ้านสักครั้ง

ยิ่งกระเป๋ารุ่น Le Pliage Filet ถูกใช้โดยนางเอกซีรีส์ Emily in Paris ยิ่งทำให้ Longchamp ถูกพูดถึงมากขึ้นไปอีก แต่กว่า Longchamp จะเดินทางมาถึงจุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแบรนด์ต้องฝ่าวิกฤตต่าง ๆ มาตลอด 74 ปี

มาทำความรู้จัก Longchamp ให้มากขึ้น พร้อมภาพรวมกลยุทธ์ปั้นแบรนด์ให้แข่งขันในตลาดสินค้า Luxury กับ ฌอง กาสแกร็ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้บริหารรุ่นที่ 3 ของ Longchamp กันครับ

longchamp

เริ่มต้นจากธุรกิจ เครื่องหนังหุ้มไปป์ ในปี 1948

ฌอง กาสแกร็ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Longchamp เล่าให้ฟังว่า แบรนด์เริ่มต้นธุรกิจในปี 1948 ผ่านการผลิต และจำหน่ายเครื่องหนังหุ้มไปป์ ก่อนปรับมาจำหน่ายกระเป๋า และสินค้าอื่น ๆ เช่นเสื้อผ้า, รองเท้า, แว่นตา และเครื่องประดับต่าง ๆ สำหรับสุภาพสตรี และสุภาพบุรุษ อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

“Longchamp เป็นธุรกิจครอบครัว และเราดำเนินมาในรูปแบบนี้จนถึงปัจจุบัน ซึ่งตอนนี้ดำเนินมาถึงรุ่นที่ 2 และ 3 โดยมีลูกของผู้ก่อตั้งเป็นประธานกรรมการ ส่วนฝั่งบริหารจะเป็นหลาน เช่น ฝ่ายกำกับงานศิลป์ หรือตัวผมเองที่เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร”

นอกจากความเป็นธุรกิจครอบครัว แบรนด์ Longchamp ยังใช้โรงงานผลิตหลักในฝรั่งเศสที่เดินเครื่องมาตั้งแต่ปี 1959 แต่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั่วโลกมากขึ้น จึงขยายโรงงานในฝรั่งเศสเพิ่มเติม และมีการสร้างโรงงานในต่างประเทศอีก 2 จนปัจจุบันมีโรงงานผลิตมากกว่า 10 แห่ง ผ่านพนักงาน 3,200 คนทั่วโลก

30 ปี กับกระเป๋าสร้างชื่อรุ่น Le Pliage

เมื่อนึกถึงแบรนด์ Longchamp สินค้าที่มักจะเป็นคำตอบแรกของทุกคนคือ กระเป๋าถือทรงถุงชื่อรุ่นว่า Le Pliage เพราะเมื่องมองเห็นก็รู้ว่าเป็นกระเป๋าแบรนด์ Longchamp ทันที แต่รู้หรือไม่ว่ากระเป๋ารุ่นดังกล่าวผลิตมามากกว่า 30 ปี มีให้เลือกหลากหลายขนาด และสีสัน

“ต้นกำเนิดของกระเป๋า Le Pliage มาจากแรงบันดาลใจที่ต้องการออกแบบกระเป๋าให้ใช้ในชีวิตประจำวันได้ทุกโอกาส ใช้ได้ไม่เบื่อ ที่สำคัญเราทำทุกอย่างเอง และกระเป๋าใบนี้มีความรักโลก ผ่านการใช้ไนลอนแบบพิเศษ ดังนั้นนอกจากใช้ได้ทุกที่ ยังช่วยแก้ปัญหาเรื่องโลกร้อนได้”

ล่าสุด เปิดตัวกระเป๋ารุ่น Le Pliage Re-Play ที่นำชิ้นส่วนไนลอนเหลือใช้สีต่าง ๆ มาเย็บติดกันใหม่ มีจุดเด่นเรื่องสีสันหลากหลาย และตอบโจทย์เรื่องการรักโลกด้วยการนำของเหลือกลับมาใช้ใหม่ โดยรุ่นดังกล่าวจะจัดจำหน่ายผ่าน PP Group ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทย

โควิด-19 กระทบเยอะ แต่ตอนนี้ดีขึ้นแล้ว

ฌอง กาสแกร็ง มองว่า ภาพรวมการทำตลาดในระดับโลกของ Longchamp เริ่มดีขึ้น หลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การผลิตสินค้าของบริษัทต้องหยุด รวมถึงภาพรวมตลาดสินค้าหรูที่หดตัวอย่างมีนัยสำคัญ แต่ปัจจุบันทุกอย่างเกือบกลับมาปกติแล้ว

“Longchamp กลับมามีตัวเลขเติบโตกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2019 หรือช่วงก่อนโรคโควิด-19 ระบาด และหากเจาะไปที่ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มียอดสั่งซื้อมากที่สุดในเอเชียแปซิฟิก ส่วนสงครามที่เกิดขึ้นยังไม่กระทบธุรกิจมากนัก”

อย่างไรก็ตามสถานการณ์เศรษฐโลกที่ยังไม่ปกติ เช่น ปัญหาเรื่องค่าเงิน และภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ Longchamp ต้องประสบปัญหาเรื่องต้นทุนวัตถุดิบ และอาจต้องขึ้นราคาสินค้าในอนาคต แต่บริษัทจะอาศัยบทเรียนจากการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต

เสริมแกร่งตลาด APAC ด้วยการเปิดสาขาเวียดนาม

เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของตลาดเอเชียแปซิฟิก Longchamp เตรียมเปิดสาขาในประเทศเวียดนามเพิ่ม ถือเป็นครั้งแรกในการทำตลาดที่นั้น และช่วยเพิ่มยอดขายในกลุ่มประเทศจีน กับอาเซียนให้แข็งแกร่งจนหลายเป็นหนึ่งในประเทศหลักในการทำธุรกิจ

“ตอนนี้ฝรั่งเศส, จีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือประเทศหลักในการสร้างรายได้ของ Longchamp โดยหากนับทั้งเอเชียจะคิดเป็นสัดส่วน 28% ของยอดขายทั้งหมด ยิ่งในยุโปรเราสาขาค่อนข้างเยอะ ทำให้บริษัทจะเร่งขยายสาขาในเอเชียแปซิฟิกมากกว่า เช่น จีนจะเปิดเพิ่มอีก 5-6 สาขา/ปี”

หากเจาะไปที่พฤติกรรมของลูกค้า Longchamp จะพบว่า ลูกค้าในกลุ่มยุโรปจะชื่นชอบกระเป๋าขนาดใหญ่ ใช้งานได้หลากหลายโอกาส และใส่ของได้เยอะ ส่วนในเอเชียจะชื่นชอบกระเป๋าใบเล็กที่คล่องตัวกว่า ที่สำคัญ Longchamp ยังเป็นแบรนด์หรูที่เป็นที่ต้องการของลูกค้าในภูมิภาคนี้เช่นเดิม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา