ภาวิต จิตรกร การทำหน้าที่ CEO ยุคใหม่, แผนพัฒนาคน และแผนธุรกิจของ GMM Music

จะมีสักกี่คนที่เกิดมาแล้ว คิดว่าตัวเองจะได้เป็น CEO ของบริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ คนส่วนใหญ่เกิดขึ้นมากับเป้าหมายง่ายๆ คือ ต้องการหาเงินหารายได้ หรืออาจจะมีเป้าหมายคือ ต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต

ภาวิต จิตรกร ที่ทำหน้าที่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เองก็เช่นเดียวกัน คนที่มองหาความสำเร็จ แต่ไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะต้องคุมบริษัทโฆษณาข้ามชาติ ก่อนจะมาหัวเรือใหญ่ของ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค

ด้วยนิสัยชอบชนะไม่ชอบแพ้ ภาวิต เป็นกรรมการผู้จัดการของ Ogilvy & Mather ในวัย 34 ซึ่งถือว่าน้อยมาก และยังสามารถสร้างชื่อเสียง คว้ารางวัลและมีรายได้เติบโตขึ้น จนตัดสินใจย้ายมารับตำแหน่ง CMO ที่ GMM Grammy และขึ้นสู่ตำแหน่ง CEO ของ GMM Music

ดังนั้นเป้าหมายการทำงานคือ การพิสูจน์ตัวเองและทำให้ทุกคนจดจำตัวบริษัท นั่นคือผลงาน โดยไม่ต้องจดจำตัวบุคคล

สิ่งที่เรียนรู้จากการเป็น CEO ของ GMM Music

  1. เราอยู่ในธุรกิจของเถ้าแก่ เราไม่ใช่คนสร้าง แต่เป็นนักธุรกิจมืออาชีพที่มาบริหารงาน สร้างการเติบโตและส่งผ่านบริษัทไปยังรุ่นต่อไป และการทำงานของเรากับเถ้าแก่ไม่จำเป็นต้องมืออาชีพ เน้นบรรลุเป้าหมายเป็นหลัก
  2. ตัวสีแดง หรือ กำไร-ขาดทุน คือสิ่งที่สำคัญ เพราะ เถ้าแก่ คือ เจ้าของเงินและเจ้าของบริษัท
  3. พาวเวอร์พอยท์ (PPT) ไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับ CEO ในการทำงานให้ดูตรรกะและโอกาสสู่ความสำเร็จเป็นหลัก

เช่น ในธุรกิจ Showbiz อย่าง คอนเสิร์ต ที่เดิมจะเน้นหาสปอนเซอร์เป็นหลัก คือเป็นแบบ B2B หากโดนตัดสปอนเซอร์ คือ ขาดทุนทันที แต่ในยุคของภาวิต จะปรับโมเดลธุรกิจเป็น B2C คือ เน้นขายบัตร ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา คอนเสิร์ตทุกครั้งบัตรขายหมดตลอด

นอกจากนี้ ในฐานะที่เป็น CEO ยุคใหม่ ได้ฝากข้อคิดไว้

  1. เป็น CEO ต้องมีจุดยืน มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะพาบริษัทและพนักงานไปไหน ต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง
  2. ต้องคิดเสมอว่า ผู้ตาม (พนักงาน) ไม่ได้เลือกเรามา (เถ้าแก่เป็นคนเลือก) ดังนั้นอย่าคิดว่าเขาจะเชื่อหรือตามเรา เราต้องพิสูจน์ตัวเอง เราไม่ใช่เจ้านาย (Bossy) แต่เป็นเพื่อนร่วมงาน
  3. ผู้นำที่ดี ต้องได้รับ Input จากรอบตัวตลอดเวลา ลูกน้องต้องไม่กลัวและกล้าพูดทุกเรื่อง แต่ถ้าผู้นำที่ไม่ดีจะมีแต่คนเงียบ และ คนสอพลอ อยู่รอบตัว

และสุดท้ายคือ จำไว้ว่า คนที่มาหา CEO แปลว่าต้องการ 2 เรื่อง คือ ต้องการคำปรึกษา กับ ต้องการการตัดสินใจ ดังนั้นข้อมูลที่มีอยู่ในมือต้องถูกต้องและครบถ้วน

4 สิ่งที่ผู้นำยุคใหม่ ต้องมีให้กับผู้ตาม

ภาวิต เล่าให้ฟังว่า ในฐานะ CEO ต้องอ่านผู้ติดตามให้ออกว่าเป็นคนแบบไหน และใช้จิตวิทยาในการนำทีมงานด้วยหลักผู้นำ 4 มิติที่ต้องบริหารจัดการให้เป็น เรียกว่า CEO ต้องฝึกฝนตัวเองให้เป็นได้ทั้ง 4 แบบ และเลือกใช้ให้ถูกเวลา มีดังนี้

  1. Directive สั่งแหลกให้ลูกน้องทำ สนุกที่สุดและง่ายที่สุด องค์กรจะขึ้นอยู่กับคนคนเดียวและคนในองค์กรจะไม่พัฒนา แต่เหมาะที่จะใช้กับลกน้องที่ยังเด็กและต้องเรียนรู้อีกมาก
  2. Coaching ใช้วิธีการสอนให้กับลูกน้องที่พอจะทำได้แล้ว เริ่มพัฒนาแล้ว แต่ยังต้องการคำแนะนำอยู่บ้าง
  3. Supportive เปลี่ยนบทบาทของ CEO เป็นผู้คอยสนับสนุนให้กับลูกน้องที่พัฒนาแล้ว หรือค่อนข้างเก่ง ให้สามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง
  4. Mentor เน้นให้แนวคิด ทัศนคติ และมอบหมายงานกับความรับผิดชอบให้กับลูกน้องที่เก่งแล้ว และเป็นวิธีในการรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กร

GMM Grammy คือ People Business

จากมุมมองภาวิต การจะเก็บคนเก่งๆ ไว้กับองค์กร เรื่องเงินทองถือเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือ การให้ความรับผิดชอบ ให้เป็นคนลงมือทำและต้องให้ความสำเร็จ เพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้เกิดขึ้น ดังนั้น ถ้าทำตามขั้นตอน 4 มิติที่กล่าวไปข้างต้น จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาคนอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวทางดังนี้

  1. Focus สร้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง หรือ Specialist ให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจเพลง
  2. Function ที่ชัดเจน ต้องมี Passion และ Creativity ซึ่งบุคลากรลักษณะนี้ต้องพัฒนาในเชิงลึกเป็นหลัก
  3. พัฒนาให้บุคลากรที่มีความสามารถ พร้อมเป็นเถ้าแก่ หากธุรกิจไปได้ดี สามารถแยกออกไปเป็นบริษัทลูก มีความรับผิดชอบ

ต้องยอมรับว่า “คน” ในธุรกิจเพลงที่มีความเชี่ยวชาญหาบุคลากรใหม่ๆ ขึ้นมาทดแทนได้ยากมาก ดังนั้นเป้าหมายในการพัฒนาคนจึงเป็นสิ่งจำเป็น

อีกสิ่งที่สำคัญคือ GMM Grammy ไม่ได้มีสินค้าหลักเป็น “เพลง”​ ต้องผลิตเทปหรือซีดีขายอีกต่อไปแล้ว แต่มีสินค้าหลักคือ “ศิลปิน และ ลิขสิทธิ์” ดังนั้นเพลงเป็นแค่ผลิตผลที่ออกมาจากศิลปินเท่านั้น ดังนั้น GMM Grammy จากนี้ จะพัฒนาศิลปินหน้าใหม่ อีกอย่างน้อย 300 คนในอีก 3-5 ปีข้างหน้า และบริหารจัดการลิขสิทธิ์เพื่อสร้างรายได้ให้เติบโตขึ้น

อนาคตจากนี้ สร้างแผนยุทธศาสตร์ 2 ปีล่วงหน้า

ภาวิต บอกว่า เป้าหมายจากนี้ส่วนตัวจะคุยกับคนให้น้อยลง เจอพนักงานให้น้อยลง และมอบหมายงานกับความรับผิดชอบให้กับระดับหัวหน้างานที่มีความสามารถได้ทำมากขึ้น จากนั้นจะเข้าสู่ Step 2 ของการสร้างองค์กร โดย

  1. ให้เวลากับการทำยุทธศาสตร์อนาคต วางแผนทำงาน 2 ปีล่วงหน้า คือ ปี 2021-2022 เพราะในวงการเพลง วงการบันเทิง ทำแผนล่วงหน้า 1 ปี สั้นเกินไป
  2. พัฒนาบุคลากรใหม่ๆ และเป็นตัวเชื่อมองค์กรไปสู่เถ้าแก่รุ่นใหม่
  3. ให้เวลากับพันธมิตรทางธุรกิจมากขึ้น เพื่อค้นหาทั้งคนเก่ง ศิลปินใหม่ ผู้ร่วมทุน หรือความร่วมมือใหม่ๆข

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา