เพื่อเป็นการรองรับการเติบโตของตลาดค้าปลีก และออนไลน์ เซ็นทรัล รีเทลได้ร่วมมือกับเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทยพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าเป็นโลจิสติกส์แคมปัสย่านบางพลี มูลค่ารวมกว่า 2,000 ล้านบาท
รวบ 5 คลังสินค้ามารวมที่เดียว
เมื่อไม่นานมานี้เซ็นทรัล รีเทล (CRC) ได้ประกาศความเคลื่อนไหวสำคัญด้วยการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต และสร้างความมั่นใจให้กับพาร์ทเนอร์ที่ร่วมลงทุน
ทั้งนี้ได้มีการดึงเอาธุรกิจค้าปลีกในเครือทั้งหมดมาอยู่ภายในเซ็นทรัล รีเทล ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล, ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน, ซูเปอร์สปอร์ต, บีทูเอส, ออฟฟิศเมท, ร้านค้าในกลุ่มเซ็นทรัล มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป (CMG) และรวมไปถึงเพาเวอร์บาย
นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวที่ร้อนแรงไม่แพ้กันก็คือ การเผยโฉมโปรเจ็คต์ศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่ย่านบางพลี มีมูลค่ารวมกว่า 2,000 ล้านบาท (ที่ดิน และระบบ) พร้อมเปิดทำการเต็มรูปแบบช่วงเดือนสิงหาคม 2020 มีสัญญาเช่าทั้งหมด 15 ปี
งานนี้เซ็นทรัล รีเทลได้ร่วมมือกับบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม พัฒนาศูนย์กระจายสินค้า Omnichannel ขนาดใหญ่ พื้นที่กว่า 75,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ภายในโครงการเฟรเซอร์สพร็อพเพอร์ตี้โลจิสติกส์เซ็นเตอร์ (บางพลี)ยกระดับคลังสินค้าเป็นโลจิสติกส์แคมปัสระดับเวิลด์คลาส
ทั้งนี้ภายในโครงการแห่งเดียวกันนี้มีศูนย์กระจายสินค้าแบบ Build-to-Suit ของเพาเวอร์บาย พื้นที่รวมกว่า 30,000 ตารางเมตร ซึ่งเฟรเซอร์สได้พัฒนาขึ้นและได้มีการส่งมอบอาคารเป็นที่เรียบร้อยในปี 2561
ก่อนหน้าที่จะมีศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่นี้ กลุ่มเซ็นทรัลได้มีศูนย์กระจายสินค้าทั้งหมด 5 แห่ง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ระแวกเดียวกัน เป็นการเช่าพื้นที่เอา มีพื้นที่รวมกัน 50,000 ตารางเมตร แต่เรื่อง Capacity รองรับได้ไม่เท่าแห่งใหม่
หลังจากที่พัฒนาศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่ ก็จะยุบทั้ง 5 แห่งมารวมที่เดียว รวมสินค้าจากธุรกิจในเครือมาที่เดียวเพื่อรองรับ Omnichannel ในการจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้า
คลังสินค้าที่มาพร้อมเทคโนโลยี
เฟรเซอร์สฯ ได้นำเสนอโซลูชั่นในการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าแบบ Build-to-Suit โดยให้ความสำคัญกับการออกแบบอาคารที่จะช่วยเสริมศักยภาพของงานด้านโลจิสติกส์ และการกระจายสินค้า
ซึ่งจะช่วยให้สามารถควบคุมต้นทุนด้านโลจิสติกส์ได้มากขึ้น อีกทั้งอาคารนี้ยังออกแบบให้เป็นอาคารอนุรักษ์พลังงานด้วย
โสภณ ราชรักษา ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า
“บริษัทเชื่อว่าศูนย์กระจายสินค้านี้จะช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและเสริมความแข็งแกร่งให้กับเซ็นทรัล รีเทล ทั้งในเรื่องทำเลที่ตั้งที่เป็นทำเลยุทธศาสตร์ และช่วยเสริมศักยภาพการดำเนินงาน และควบคุมต้นทุนด้านโลจิสติกส์ การวางระบบจัดการภายในอาคารที่คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ”
ได้ออกแบบให้เป็นอาคารอนุรักษ์พลังงาน ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เต็มพื้นที่หลังคาโครงการ และอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการรับรองมาตรฐานอาคารเขียว หรือ LEED
ตลอดจนการออกแบบอาคารให้มีความยืดหยุนต่อการใช้งานพร้อมรองรับการเติบโตทางธุรกิจ พร้อมด้วยโซนจัดเก็บสินค้าที่มีความสูงมากกว่า 25 เมตร พร้อมความสามารถในการรับน้ำหนักได้มากถึง 10 ตันต่อตารางเมตร เพื่อรองรับการติดตั้งระบบจัดเก็บสินค้าอัตโนมัติ (Automated Storage and Retrieval Systems หรือ ASRS) รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่าง ๆ ในอนาคต ได้ตามความต้องการ
ช่วยเพิ่มสปีดในการส่งสินค้า
หัวใจสำคัญของการสร้างศูนย์กระจายสินค้าแห่งนี้ ก็คือการตอบโจทย์กลยุทธ์ Omnichannel ของเซ็นทรัล รีเทลที่ได้ให้ความสำคัญมาหลายปีแล้ว อีกทั้งธุรกิจออนไลน์ก็มีการเติบโตมากขึ้น
นั่นคือประสบการณ์การช้อปปิ้งของลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งเรื่องการสั่งสินค้า การจัดส่งสินค้า การมีศูนย์กระจายสินค้าจะทำให้มีการส่งสินค้าเร็วขึ้น ช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีมากขึ้นนั่นเอง
ทางด้าน ดร. ปิยะพงษ์ ธัญญศรีสังข์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด บอกว่า
“ศูนย์กระจายสินค้า Omnichannel แห่งนี้จะเป็นอีกหนึ่งในส่วนสำคัญในการส่งมอบบริการที่สร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของการซื้อขายผ่านช่องทาง Omnichannel ในทุกกลุ่มธุรกิจค้าปลีกของเซ็นทรัล รีเทล”
โดยยอดขายจาก Omnichannel ของเซ็นทรัล รีเทลมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในทุกปี
ปี 2560 กลุ่มแฟชั่นเติบโต 16% กลุ่มฮาร์ดไลน์เติบโต 28% และกลุ่มฟู้ดเติบโต 48%
ปี 2561 กลุ่มแฟชั่นเติบโต 72% กลุ่มฮาร์ดไลน์เติบโต 75% และกลุ่มฟู้ดเติบโต 31%
ช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 (วันที่ 31 มีนาคม 2562) กลุ่มแฟชั่นเติบโต 104% กลุ่มฮาร์ดไลน์เติบโต 50% และกลุ่มฟู้ดเติบโต 26%
“ในอดีตถ้าสั่งสินค้าออนไลน์ในพื้นที่กรุงเทพฯ กว่าจะได้สินค้าต้องใช้เวลา 2-3 วัน แต่ถ้ามีคลังสินค้าทำให้การจัดการดีขึ้น ถ้าลูกค้าสั่งสินค้าก่อนบ่ายสอง ก็จะได้สินค้าภายในช่วงเย็นวันนั้นเลย”
จะเห็นว่านอกจากเรื่องราคา สินค้าแล้ว เรื่องระยะเวลา ความเร็วก็เป้นสิ่งสำคัญในการแข่งขัน ทำให้กลุ่มเซ็นทรัลต้องลุกขึ้นมาบริหารจัดการเรื่องโลจิสติกส์เอง หลังจากที่ใช้ผู้เล่นอื่นมาช่วยบริหารจัดการเป็นเวลานาน คาดว่าจะช่วยสร้างการเติบโตได้มากขึ้นหลังจากที่ศูนย์กระจายสินค้าเปิดเต็มตัวในปีหน้า
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา