Central Retail เดินหน้าสู่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ รวมธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มเซ็นทรัล ในประเทศไทย เวียดนาม และอิตาลีมาเป็นบริษัทเดียว หวังใช้ความเป็นมหาชนสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน
5 ประเด็น หลัง Central Retail เข้าตลาดหลักทรัพย์
เมื่อไม่กี่วันนี้มีข่าวฮือฮาว่า “เซ็นทรัล” ยักษ์ใหญ่ในวงการค้าปลีกได้มีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ โดยได้นำหุ้นของโรบินสันออกจากตลาดหลักทรัพย์ และรวมธุรกิจภายใต้ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (“เซ็นทรัล รีเทล”หรือ “Central Retail”)
ได้เตรียมนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต เพื่อการระดมทุนในการลงทุนต่อไป ทำให้เป็นการแปรสภาพจากบริษัทที่เป็นธุรกิจครอบครัวมาตลอด 72 ปี สู่บริษัทมหาชนเต็มตัว
ทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร เซ็นทรัล รีเทล เผยว่า
“อาณาจักรค้าปลีกของเซ็นทรัล รีเทล เริ่มจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของธุรกิจครอบครัวเมื่อ 72 ปีก่อน ที่ต้องการนำเสนอประสบการณ์ช้อปปิ้งใหม่ๆ ที่สามารถครอบคลุมทุกความต้องการของผู้บริโภค โดยเป็นผู้ริเริ่มการทำห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของไทย ไปจนถึงการทำธุรกิจค้าปลีกแบบ Multi-format ผ่านการเปิดร้านค้าเฉพาะทางและธุรกิจค้าปลีกหลายรูปแบบ และปัจจุบันได้
ต่อยอดจากช่องทางออฟไลน์สู่ Omnichannel เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุม มีการขยายสาขาจนมีห้างสรรพสินค้า และร้านค้าภายใต้แบรนด์ค้าปลีก รวม 1,979 แห่ง ครอบคลุม 51 จังหวัดทั่วประเทศไทย (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562) พร้อมทั้งต่อยอดความสำเร็จสู่ตลาดต่างประเทศ ทั้งในประเทศอิตาลีและเวียดนาม รวม 134 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562)”
ทั้งนี้ Central Retail ได้จัดงานแถลงข่าวพูดถึงที่มาที่ไปของการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ มีประเด็นสำคัญ 5 ประการ ดังนี้
-
บริษัทในตลาดฯ ได้เปรียบมากกว่า
การที่นำเซ็นทรัล รีเทลเข้าตลาดหลักทรัพย์ มีจุดประสงค์ง่ายๆ ก็คือ ต้องการสร้างความน่าเชื่อถือให้บริษัท เพราะในช่วงหลายปีให้หลังมานี้เซ็นทรัลได้บุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น จำเป็นต้องคุยกับพาร์ทเนอร์
ถ้าพูดถึงเหตุผลที่ทำให้เซ็นทรัลตัดสินใจนำเซ็นทรัล รีเทลเข้าตลาดหลักทรัพย์ “ญนน์ โภคทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เซ็นทรัล รีเทล ได้ให้เหตุผลว่า
“ตอนนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย การทำธุรกิจในยุคนี้จำเป็นต้องมีพาร์ทเนอร์ในการสร้างความแข็งแกร่ง แล้วก็เป็นธรรมดาในโลกธุรกิจที่พาร์ทเนอร์อยากจะคุย หรือเจรจากับบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์มากกว่า และการเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ยังดึงดูดทรัพยากรบุคคลได้ดีกว่า มีโอกาสดึงดูดเงินทุนได้มากกว่าด้วย”
-
ปรับโครงสร้างมา 3 ปี เตรียมเข้าตามรุ่นพี่ Centara-CPN
ก่อนที่จะมีการนำเอาเซ็นทรัล รีเทลเข้าตลาดหลักทรัพย์อย่างเต็มตัว ในกลุ่มเซ็นทรัลได้เริ่มมีการปรับโครงสร้างภายในมาก่อนหน้านี้แล้ว เริ่มตั้งแต่ 3 ปีก่อน พร้อมเสริมสิ่งที่แข็งแกร่งเข้าไป สร้างแพลตฟอร์มใหม่ๆ เป็นการปูทางในการเข้าตลาดฯ
ทศได้บอกว่า ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2533 ได้นำเอา “เซ็นทาราโฮเทล แอนด์ รีสอร์ท” บริหารงานเกี่ยวกับโรงแรมในเครือของกลุ่มเซ็นทรัลเข้าตลาดหลักทรัพย์มาแล้ว และในปี 2538 ก็ได้เอา “เซ็นทรัลพัฒนา” หรือ CPN เข้าตลาดหลักทรัพย์ตามมา พบว่าได้รับผลตอบรับดีมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จึงดันให้เซ็นทรัล รีเทลเข้าตลาดฯ ตามรุ่นพี่
-
จัด 3 กลุ่มใหญ่ รวมธุรกิจต่างประเทศ
เซ็นทรัล รีเทลจัดโครงสร้างใหม่ครั้งนี้จะเป็นการรวมธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มเซ็นทรัล ในประเทศไทย เวียดนาม และอิตาลี มาอยู่ภายใต้การดำเนินงานและบริหารของเซ็นทรัล รีเทล
และมีการแบ่งกลุ่มธุรกิจเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกัน ได้แก่
– Multi-category คือ แบ่งได้ 3 ธุรกิจ ได้แก่
- แฟชั่น หรือธุรกิจห้างสรรพสินค้าต่างๆ จำหน่ายสินค้าแฟชั่นเครื่องสำอางและของใช้ในบ้านทั้งแบรนด์จากต่างประเทศ และแบรนด์ทั่วไป ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล, CMG, Supersport, Robinson และ RINASCENTE
- ฮาร์ดไลน์ จำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าตกแต่งบ้าน วัสดุก่อสร้าง และสินค้าตกแต่งและปรับปรุงบ้านแบบดีไอวาย (DIY) ได้แก่ ไทวัสดุ, บ้าน แอนด์ บียอนด์, Power Buy และ NGUYEN KIM ในเวียดนาม
- ฟู้ด จำหน่ายอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค ของสดของแห้ง สินค้าออร์แกนิคที่มีคุณภาพทั้งที่นำเข้าจากต่างประเทศ และจัดซื้อจากในพื้นที่ ได้แก่ Central food Hall, Tops Super Store, Tops Market, Tops Dairy, Tops Plaza, Family Mart, ลานชี มาร์ท และ Big C Go! ในเวียดนาม
– Multi-format มีธุรกิจที่ครอบคลุมทุกแพลตฟอร์มของค้าปลีก ตั้งแต่ Department Store, Specialty Store, Brand Shop, Supermarket, Hypermarket, Convenience Store, Retail Plaza และ Sales Counters
– Multi-market มีธุรกิจทั้งในประเทศไทย เวียดนาม และอิตาลี โดยที่ธุรกิจค้าปลีกของเซ็นทรัล รีเทล ครอบคลุม 51 จังหวัดทั่วประเทศไทยด้วยเครือข่ายห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายสินค้าเฉพาะทาง ซูเปอร์มาร์เก็ต ฯลฯ รวม 1,979 แห่ง
มีห้างสรรพสินค้า 9 แห่งใน 8 เมืองยุทธศาสตร์ของอิตาลี รวมทั้งมีไฮเปอร์มาร์เก็ต และร้านขายสินค้าเฉพาะทางรวม 125 แห่ง ใน 37 เมืองในเวียดนาม (ข้อมูลจำนวนร้านค้า ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562)
-
ค้าปลีกในไทยยังโต แรงหนุนจากตลาดท่องเที่ยว
ความมั่นใจในการพาเซ็นทรัล รีเทลเข้าตลาดหลักทรัพย์ยังคงมีสูงอยู่ เพราะด้วยตลาดค้าปลีกในไทยยังมีการเติบโต ตัวเลข GDP ก็ยังเติบโตขึ้นทุกปี การเมืองไทยสงบขึ้น รวมถึงปัจจัยอื่นๆ อย่างเรื่องการขยายของเมืองที่จะเพิ่มจาก 46% เป็น 53% ภายใน 5 ปีข้างหน้า
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศไทยก็ยังเติบโตได้ดี ในปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทย 37 ล้านคน ประเมินว่าจะเพิ่มเป็น 52 ล้านคนในปี 2566
และก็พบว่าประเทศไทยมี 3 เมืองที่เป็นเดสติเนชั่นให้แก่นักท่องเที่ยวทั่วโลก ได้แก่ กรุงเทพ ภูเก็ต และพัทยา ซึ่งยังส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกได้อย่างดี
-
รายได้ 200,000 ล้าน โตเฉลี่ย 8%
เมื่อดูตัวเลขต่างๆ เกี่ยวกับเซ็นทรัล รีเทล ตอนนี้มีจุดขายรวมกันทั้งหมด 3,929 จุดใน 3 ประเทศ มีพื้นที่ขายรวม 2.9 ล้านตารางเมตร มีพื้นที่ให้เช่า 5.1 แสนตารางเมตร มีฐานลูกค้าจาก Loyalty Program จากทั่วโลก 27 ล้านราย สร้างโอกาสจ้างงานรวม 70,000 ตำแหน่ง
ในปี 2561 ที่ผ่านมา เซ็นทรัล รีเทลมีรายได้รวม 240,297 ล้านบาท มีการเติบโตเฉลี่ย 8% ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะเติบโตไปตามเป้าเช่นกัน
ปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้จากกลุ่มอาหาร 43% แฟชั่น 34% และฮาร์ดไลน์ 23% ถ้าแบ่งตามประเทศรายได้จากประเทศไทย 87.5% เวียดนาม 14% และอิตาลี 8.5%
สรุป
ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่สำคัญของเซ็นทรัลในการปรับโครงสร้าง แล้วพาเซ็นทรัล รีเทลเข้าตลาดหลักทรัพย์ เชื่อว่าการนำบริษัทเข้าตลาดจะช่วยทำให้บริษัทเติบโตมากขึ้น สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากขึ้น
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา