กลุ่มเซ็นทรัลผนึกห้างหรูยุโรปส่ง AVDM เว็บไซต์-แอปฯ พร้อมบริการซื้อของแบบ On Demand

เป็นการขยับตัวครั้งใหญ่ของวงการค้าปลีก และต้องบอกว่าไม่ใช่แค่ในไทย แต่เป็นในระดับโลก เซ็นทรัล ซึ่งเป็นเจ้าของห้างหรูในยุโรปทั้ง 8 แห่ง ได้ส่ง AVDM เป็นเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นใช้ชีวิตแนวไลฟ์สไตล์ใน 8 เมืองใหญ่ และส่งบริการซื้อของแบบ On Demand ออกมาลุยในตลาดด้วย

ทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด

เซ็นทรัลเชื่อมห้างหรูในเครือยุโรปส่ง AVDM

ท่ามกลางสภาวะค้าปลีกที่นับวันจะต้องปรับตัวไปอยู่ออนไลน์มากขึ้น เพราะถ้าปรับตัวไม่ทันก็มีตัวอย่างให้เห็นบ้างแล้วว่าต้องทยอยปิดตัวกันไปไม่น้อยโดยเฉพาะในอเมริกา

ล่าสุด กลุ่มเซ็นทรัลโดยห้างสรรพสินค้าหรูในยุโรป 8 แห่งซึ่งอยู่ในเครือเซ็นทรัล ประกอบไปด้วย ห้างเซ็นทรัลชิดลม, ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซีในกรุงเทพ, ห้างเซ็นทรัล ภูเก็ต ที่จะพร้อมให้บริการในปี 2561 รวมถึงลารินาเซนเต้(Rinascente) ที่เปียซ่า ดูโอโม ใจกลางกรุงมิลาน แฟล็กชิปสโตร์แห่งใหม่ ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี ที่จะเปิดในวันที่ 12 ตุลาคมนี้, คาเดเว (KaDeWe) ในกรุงเบอร์ลิน โอเบอร์พอลลิงเกอร์ (Oberpollinger) ในมิวนิก, อัลสเตอร์เฮ้าส์(Alsterhaus) ในฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี, โกลเดนเนส ควอเทียร์ (Goldenes Quartier) ในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และอิลลุม (Illum) ในโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก

ทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด พูดบนเวทีเลยว่า “ตามปณิธานที่คุณสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มเซ็นทรัลได้ตั้งไว้คือ เราจะสร้างความเจริญให้กับเมืองที่เราเข้าไป จะเห็นได้ว่าตั้งแต่เราเปิดตัวในไทยปี 1974 อิตาลีในปี 2011 แล้วก็เปิดเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ในไทยเมื่อปี 2014 และล่าสุดได้ไปเยอรมนีในปี 2015 เรามีส่วนร่วมสร้างความเจริญให้กับเมือง”

ยุวดี จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้า บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด

ด้านของ ยุวดี จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้า บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด บอกว่า “ลูกค้าของเรากระจายไปกว้างมาก การชอปปิ้งในยุคนี้ต้องมีไลฟ์สไตล์ เราต้องการเป็น Store ในเมืองนั้นๆ โมเดลของเราคือการควบห้างให้เป็นเนื้อเดียวกัน”

แน่นอนว่า เมื่อธุรกิจโตขึ้น และต้องก้าวไปในระดับโลก กลุ่มเซ็นทรัลจึงมองว่า “ยุโรป” เป็นจุดที่น่าสนใจ เพราะเป็นศูนย์กลางของเมืองทางเศรษฐกิจและสังคม จึงนำมาสู่ที่มาของการจับมือห้างหรูในเครือทั่วยุโรป ส่ง AVDM (Aux Villes Du Monde อ่านว่า โอ วิลส์ ดู มองด์) ออกมาในครั้งนี้

แล้ว AVDM คืออะไร?

AVDM (Aux Villes Du Monde) คือเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นที่จะบอกการใช้ชีวิตใน 8 เมืองที่เป็นที่ตั้งของห้างหรูในเครือเซ็นทรัล

ถ้าจะให้เข้าใจอย่างง่ายๆ เมื่อเข้าไปในเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น รูปแบบจะเป็น Digital Magazine ถ้าจะไปท่องเที่ยวในเมืองสำคัญเหล่านี้ ใน AVDM จะมีบอกรายละเอียดทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแฟชั่น การออกแบบ อาหาร วัฒนธรรม รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวฮิตๆ และสถานที่ไม่ควรพลาดในเมืองนั้นๆ

ตัวแพลตฟอร์มของ AVDM จะเป็นในลักษณะ E-newsletter (จดหมายข่าวอิเล็กทรอกนิกส์) ให้ลูกค้าที่ใช้บริการสามารถติดต่อและนัดหมายหากต้องการไปท่องเที่ยว โดยจะช่วยจองโรงแรม ของร้านอาหาร และแนะนำข้อมูลที่น่าสนใจในเมือง

ส่วนการดำเนินงานของ AVDM โดยหลักนั้นเป็นของสำนักพิมพ์จากอิตาลีชื่อ Condè Nast Italia ที่ได้มาดูแลด้านเนื้อหาโดยตรง

ผู้อ่านที่สนใจ ลองดูได้จากวิดีโอนำเสนอ AVDM ได้ที่ด้านล่างนี้

ในงานครั้งนี้ได้มีการแถลงข่าวแบบ Global Across เป็นครั้งแรก โดยในช่วง Q&A ได้มีการ Live Video ระหว่างไทยกับอิตาลี (หมายความว่ามีการแถลงข่าวของทั้ง 2 ประเทศพร้อมกัน) ซึ่งตัวผู้เขียนเองได้ถามคำถามไปยังผู้บริหารฝั่งอิตาลี และได้รับคำตอบข้ามทวีปแบบเรียลไทม์

อย่างไรก็ตาม ชื่อของ Aux Villes Du Monde ที่ออกเสียงในไทยได้ว่า “โอ วิลส์ ดู มองด์” แต่เอาเข้าจริงก็ยังคงยากไป จากการสอบถามจากผู้บริหาร ได้ความว่าต้องการให้คนไทยเรียกชื่อย่อ AVDM (เอวีดีเอ็ม) เพื่อความสะดวกในการออกเสียง

เป้าหมายของ AVDM คือต้องมีผู้ใช้งานทั้งบนเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นประมาณ 10,000 คน ในทั้งหมด 8 เมือง หรือ ได้ลูกค้าในเบื้องต้นประมาณ 80,000 คนให้ได้นั่นเอง

ซื้อของแบบ On Demand กับเครือเซ็นทรัล

ในงานยังมีการเปิดตัวอีกหนึ่งบริการนั่นคือ Central On Demand ที่เป็นบริการให้ลูกค้าช้อปปิ้งได้ทุกที่ทั่วโลกไม่ว่าจะอยู่ไหน โดยจะมี Live Chat จากพนักงานมาดูแลผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ โดยเฉพาะ

ในส่วนของแพลตฟอร์ม On Demand ที่จะเข้ามาให้บริการ จะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ในยุโรปมีการใช้ WhatsApp จำนวนมาก ตัวช่องทางในการซื้อของแบบ On Demand ก็จะเป็นการซื้อผ่าน WhatsApp ส่วนในไทยมีการใช้ LINE กันอย่างกว้างขวาง ก็ชัดเจนว่าช่องทางการซื้อของแบบ On Demand ในไทยก็จะใช้ LINE เป็นหลัก

ในไทยเอง กลุ่มเซ็นทรัลมีห้างสรรพสินค้า รวม ZEN ด้วยทั้งหมด 22 สาขา (นับรวมโคราชที่จะเปิดในปีนี้ด้วย) หรือถ้าจะแบ่งเป็นสัดส่วนในประเทศ จะได้เป็นภาคเหนือ 2 สาขา ภาคกลาง 15 สาขา ภาคใต้ 4 สาขา และโคราชที่กำลังจะเปิดในเดือนพฤศจิกายนนี้อีก 1 สาขา

รูปแบบการสั่งซื้อของแบบ On Demand จะคล้ายๆ กับการซื้อของจากร้านค้าออนไลน์ ซึ่งจุดเด่นคงหนีไม่พ้นการใช้ Live Chat ที่จะเป็นมนุษย์มาตอบตำถามโดยตรง ไม่ได้ใช้ ChatBot ในการตอบคำถามการซื้อขาย

สิริเกศ จิรกิติ กรรมการผู้จัดการใญ่ร่วม บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ให้สัมภาษณ์กับเราว่า “การซื้อของแบบ On Demand จะตอบโจทย์ลูกค้าในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะที่จริง ไม่ใช่การซื้อของผ่านออนไลน์แบบทั่วๆ ไป เพราะเรามีพาร์ทเนอร์อยู่ในยุโรป ลูกค้าสามารถสั่งของข้ามประเทศมาได้ แต่เรื่องภาษีเป็นเรื่องที่เกินอำนาจของบริษัท แต่ละประเทศจะจัดการไปตามขั้นตอนเอง แต่การทำแบบนี้เป็นการวางแผนไปสู่อนาคตที่แต่ละประเทศ หรือไทยเองจะมีการค้าขายที่เสรีมากขึ้น การซื้อของข้ามประเทศจะเป็นเรื่องง่ายขึ้น บริการนี้เกิดขึ้นเพื่อมารองรับความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันและอนาคต”

ที่น่าสนใจคือ พนักงานที่คอบตอบคำถามการซื้อขายผ่าน LINE ในไทย ผู้บริหารบอกว่า ในแต่ละสาขามีพนักงานที่ทำงานด้านนี้เพียงสาขาละ 3 คนเท่านั้น แน่นอนว่าในอนาคตต้องมีการขยายบริการ และต้องมีการเพิ่มพนักงานในส่วนนี้

เป้าหมายของ Central On Demand ในไทยนั้น ตั้งไว้ที่จะต้องมีผู้ใช้งาน 100,000 คนให้ได้ภายในปีนี้ ซึ่งตอนนี้ที่ส่งบริการออกไปมีผู้ใช้งานแล้วที่ 21,992 คน ส่วนงบการตลาดยังไม่มีการเปิดเผยแต่อย่างใด มีข้อมูลเพียงแต่ว่าจะต้องกระจายการรับรู้ AVDM กับตัว On Demand นี้ออกไปให้กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้

ใครที่สนใจก็ลองค้นหา @CentralOnDemand ใน LINE เพื่อสั่งซื้อแบบ On Demand กันได้

สรุป

ถือเป็นอีกหนึ่งในการปรับตัวของวงการค้าปลีก กลุ่มเซ็นทรัลและห้างสรรพสินค้าหรูในเครือที่ยุโรป ส่งเว็บไซต์รวมถึงแอปพลิเคชั่น AVDM ที่จะมาตอบโจย์ไลฟ์สไตล์ที่สร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งและการท่องเที่ยวในทั้ง 8 เมืองที่มีห้างสรรพสินค้าอยู่ โดยบริการนี้มาพร้อมกับการซื้อของแบบ On Demand ที่ลูกค้าจะสามารถสั่งซื้อสินค้าไลฟ์สไตล์ที่เน้นไปในแนวแฟชั่นและเสื้อผ้า ฯลฯ (แต่ยังไม่มีการขายสินค้า On Demand จำพวกของสดและอาหาร)

การปรับตัวครั้งนี้ น่าจะทำให้หลังจากนี้ เราคงจะต้องจับตามองการเดินเกมของวงการค้าปลีกอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพราะการต่อสู้คงจะดุเดือดและเข้มข้นอย่างแน่นอน เพราะแม้กลุ่มเซ็นทรัลจะนำหน้าไปก่อน แต่รายอื่นๆ คงไม่นั่งมองอยู่เฉยๆ เป็นแน่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา