หลังจากเปิดให้บริการครบ 3 ปีเต็ม ในที่สุด Central Embassy หรือ Flagship Store ของกลุ่มเซ็นทรัลก็เสร็จสมบูรณ์จริงๆ เสียที แถมหลังจากนี้จะวางตัวเป็นศูนย์กลางของกรุงเทพ ภายใต้กลยุทธ์ Centrality อีกด้วย
ครบ Loop การใช้ชีวิตในเมือง
ก่อนหน้านี้ห้าง Central Embassy วางตัวเป็นศูนย์การค้าที่รวมเอาแบรนด์ระดับโลกที่ไม่เคยมาตั้งหน้าร้านในประเทศไทยเอาไว้เป็นหลัก และส่วนใหญ่ก็เป็นแบรนด์ Luxury ทำให้กลุ่มผู้เข้าใช้บริการภายในห้างจะเป็นกลุ่มคนอายุ 25 ปีขึ้นไป และ Upper Class ที่มีกำลังซื้อสูง
แต่การย่ำอยู่กับที่ และโฟกัสแค่ลูกค้า 2 กลุ่มคงเดินกลยุทธ์ Centrality ตามบริษัทแม่ไม่ได้ ทางตัวห้างจึงปรับภาพลักษณ์ใหม่ทั้งหมด ประกอบกับการก่อสร้าง Park Hyatt ส่วนโรงแรมระดับ Luxury จำนวน 222 ห้อง เสร็จสมบูรณ์พอดีในปีนี้ ทำให้ตัวห้างสามารถโฟกัสกลุ่มนักท่องเที่ยวได้เพิ่มเติม
บรม พิจารณ์จิตร กรรมการผู้จัดการ Central Embassy เล่าให้ฟังว่า หลังจากจับตลาดกลุ่มลูกค้า Upper Class ด้วยแบรนด์ที่หลากหลาย รวมถึงร้านอาหารที่ครบครัน ในปีที่ 4 ของการให้บริการศูนย์การค้าก็จะเปลี่ยนไป เพราะตอบโจทย์การใช้ชีวิตตั้งแต่เช้า ถึงค่ำ ของผู้ใช้บริการได้
“เมื่อเป็น Centrality ตัว Central Embassy ก็ต้องตอบโจทย์การใช้ชีวิตในเมืองได้ทั้งหมด เช่นตอนเช้าเข้ามา Shopping ในห้าง เที่ยงก็ลงไปกินข้าวใน Eat Thai บ่ายนั่งอ่านหนังสือที่ Open House ตกเย็นหาร้านอาหารกินข้าว หัวค่ำก็ไปชมภาพยนตร์ ตกดึกก็พักผ่อนที่ Park Hyatt”
ปรับ Mix ของร้านเช่าเข้าถึงทุกระดับ
ขณะเดียวกันตัวพื้นที่เช่าของ Central Embassy นั้นก็ครบอายุสัญญา 3 ปีแรกพอดี และเริ่มมีบางร้านย้ายออกไปบ้าง ซึ่งจุดนี้เองทำให้ทางศูนย์ตัดสินใจปรับความหลากหลายของร้านค้า หรือ Tenant Mix ของผู้เช่าเสียใหม่ โดยเพิ่มกลุ่ม Accessible Brand หรือแบรนด์ที่เข้าถึงได้ง่าย เช่น Muji, Topshop และอีก 2-3 แบรนด์ภายในปีนี้
พร้อมกับลงทุน 300 ล้านบาท ปรับชั้นโรงภาพยนตร์ให้มีพื้นที่ Open House หรือศูนย์รวมร้านอาหาร และ Co-Working Space ที่มีหนังสือจำนวนมาก กับอีก 185 ล้านบาทในการขยายส่วน Eat Thai หรือ Food Court ที่รวมร้านอาหารต่างๆ เอาไว้ และ Siwilai City Club ที่เป็น Social Club อีก 130 ล้านบาท
“ตอนนี้มีคนเช่าพื้นที่แล้ว 90% ผ่านหน้าร้านกว่า 174 ราย มีลูกค้าเข้ามาเฉลี่ยวันละ 20,000 ราย แต่หลังจากการปรับเปลี่ยนจะทำให้ลูกค้าเพิ่มขึ้น 40% เป็น 30,000 รายภายในสิ้นปีนี้ ที่สำคัญกลุ่มลูกค้าก็จะเพิ่มตัวนักท่องเที่ยว, ครอบครัว และผู้ที่อายุต่ำกว่า 25 ปี หากรวมการลงทุนตัว Park Hyatt อีก 7,000 ล้านบาทเข้าไปด้วย ก็จะกลายเป็น Central Embassy ลงทุนปรับเปลี่ยนตัวเองกว่า 18,000 ล้านบาท”
“หลังจากนี้การหาที่จอดรถภายในศูนย์อาจยากขึ้น เพราะเรารวมสิ่งที่คนเมืองอยากเข้ามาใช้ชีวิตไว้ทั้งหมดแล้ว” บรม กล่าวทิ้งท้าย
ห้องคืนละเหยียบหมื่นเหมาะสม
ไมเคิล โกลเดน ผู้จัดการทั่วไป โรงแรม Park Hyatt Bangkok เสริมว่า ตัวโรงแรมมีห้องพัก 10 รูปแบบ ให้มุมมองที่ต่างกันกว่า 50 แบบ โดยราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 9,000-10,000 บาท/คืน ใกล้เคียงกับโรงแรมห้าดาวในระแวกนี้ โดยตัวโรงแรมพร้อมเปิดให้บริการภายในวันที่ 12 พ.ค. และช่วงแรกจะเปิดให้บริการเพียง 75-80 ห้องเท่านั้น โดยมอง Occupancy Rate หรืออัตราการเข้าพักที่ 45% ของจำนวนห้องทั้งหมด
สรุป
การปรับตัวของ Central Embassy นั้นแสดงให้เห็นถึงธุรกิจค้าปลีกที่จะอยู่นิ่งไม่ได้ และหากผิดพลาดอะไรต้องรีบแก้ให้เร็ว เพราะก่อนหน้านี้เรียกว่าห้างร้างก็คงไม่แปลกนัก ซึ่งการปรับตัวนี้ก็คงคล้ายกับกรณีของ Gaysorn ที่ปรับตัวให้เข้าถึงทุกกลุ่มได้มากขึ้น พร้อมสร้างตึกสำนักงานสร้างรายได้อีกทาง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา