“ทุกอุตสาหกรรมสามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปได้” นี่คือประโยคที่ ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA อยากตอกย้ำให้ทุกคนในประเทศไทยได้รับรู้
เพราะจากประสบการณ์ที่ ดร.ชาคริต อยู่ในวงการธุรกิจเอกชนมากว่า 20 ปี รับผิดชอบงานทั้งในบริษัทไอทีเทคโนโลยี, สินค้าผู้หญิง รวมถึงสื่อโฆษณา ช่วยยืนยันว่า ถ้าใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไป อะไร ๆ ที่ตั้งเป้าหมายไว้ก็สำเร็จได้
ลองมาทำความรู้จัก ดร.ชาคริต และ CEA ให้มากขึ้นว่า เขาจะใช้ประสบการณ์จากฝั่งเอกชนมาขับเคลื่อนหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบงานด้านความคิดสร้างสรรค์ได้หรือไม่ และ CEA จะปลดล็อคธุรกิจไทยให้มีครีเอทีฟได้อย่างไร
ประสบการณ์ในธุรกิจเอกชนที่หลากหลาย
ดร.ชาคริต เล่าให้ฟังว่า ตลอดเวลากว่า 20 ปี ในการทำงานจะใช้ชีวิตอยู่กับธุรกิจเอกชนมาโดยตลอด ตั้งแต่ ไอบีเอ็ม, ลอรีอัล และมารับผิดชอบงานที่หลากหลายที่ อาร์เอส เพราะที่นั่นรับผิดชอบงานตั้งแต่การซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมาทำตลาด, การทำสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อนอกบ้าน รวมถึงเป็นผู้นำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อขายผ่านทีวีโฮมช้อปปิ้ง
“ที่อาร์เอส ผมทำงานเกี่ยวกับคอนเทนต์มาตลอด แต่ด้วยองค์กรต้องการมารุกธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้ง จึงต้องเปลี่ยนตัวเองจากพัฒนาคอนเทนต์ สู่พัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อทำสินค้าขายในสื่อทั้งหมดที่อาร์เอสมีในตอนนั้น ถือว่าค่อนข้างท้าทาย แต่ก็สนุก อาศัยประสบการณ์ฝั่งคอนเทนต์มาช่วยทำให้สินค้าขายได้”
แต่ ดร.ชาคริต มีความตั้งใจที่อายุ 50 ปี อยากเป็นอาจารย์ หรือทำงานในหน่วยงานรัฐเพื่อเอาประสบการณ์ที่มีมาถ่ายทอดเพื่อพัฒนาประเทศไทย สุดท้ายจึงลาออกจากอาร์เอส และมาทำงานในสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA ถือเป็นอีกการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของชีวิตการทำงาน
จากเอกชนสู่รัฐ ไม่ยากถ้ากล้าที่จะปรับตัว
กระบวนการทำงานของบริษัทเอกชน กับหน่วยงานรัฐมีความต่างกันชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องความเร็ว และกฎระเบียบ แต่ ดร.ชาคริต มองว่า ถ้าไม่ยึดติดกับการทำงานในหน่วยงานเอกชน และเข้าใจขั้นตอนการทำงานของหน่วยงานรัฐ การขับเคลื่อนเป้าหมายที่วางไว้ก็ไม่ใช่เรื่องยาก
“การเข้ามาเป็นผู้อำนวยการในหน่วยงานรัฐถือเป็นเรื่องใหม่ในการทำงาน ซึ่งความใหม่นี้ต้องเข้าใจกลไก และวิธีการทำงานของหน่วยงาน กับคนในองค์กร แต่ด้วยสิ่งที่ CEA ทำคือความคิดสร้างสรรค์ และพัฒนาสินค้าบริการให้เติบโตด้วยแนวคิดใหม่ ๆ จึงไม่ต่างกับการทำธุรกิจในฝั่งบริษัทเอกชนที่ผมคุ้นเคย”
หน้าที่ของ CEA คือ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนา และยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ แต่ถ้าให้อธิบายง่าย ๆ คือ การนำความคิดสร้างสรรค์ไปพัฒนาคน, ชุมชน, SME รวมถึงองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ให้เติบโตด้วยเอกลักษณ์ และความโดดเด่นที่ประเทศไทยมี
อุตสาหกรรมไหนก็ใส่ความคิดสร้างสรรค์ได้
CEA วางกรอบอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยไว้ 15 สาขา คือ งานฝีมือ และหัตถกรรม, ดนตรี, ศิลปะการแสดง, ทัศนศิลป์, ภาพยนตร์, การแพร่ภาพ และกระจายเสียง, การพิมพ์, ซอฟต์แวร์, การโฆษณา, การออกแบบ, การให้บริการด้านสถาปัตยกรรม, แฟชั่น, อาหารไทย, การแพทย์แผนไทย และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
“นี่คือกรอบที่เรากำหนด แต่จริง ๆ แล้วไม่ว่าอุตสาหกรรมไหนก็สามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปได้ โดย CEA จะเข้าไปส่งเสริม และขับเคลื่อนในแง่มุมต่าง ๆ เช่น ลงพื้นที่ไปแนะนำชุมชนในมุมความคิดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาสินค้า และบริการได้ดีขึ้น รวมถึงพูดคุยกับองค์กรใหญ่ในการพาประเทศไทยให้เติบโตไปด้วยกัน”
ขณะเดียวกัน CEA ยังสนับสนุนเรื่องความคิดสร้างสรรค์ผ่านการเข้าไปให้ความรู้กับสถาบันการศึกษา และชุมชนต่าง ๆ เพื่อทำศูนย์กลางข้อมูลความคิดสร้างสรรค์ในแต่ละพื้นที่ หนึ่งในสถานที่สำคัญคือ TCDC ย่านบางรัก และจริง ๆ ยังมี Mini TCDC ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทยถึง 44 แห่ง
Soft Power ความท้าทายใหม่ที่ต้องทำความเข้าใจ
ปัจจุบันคำว่า Soft Power เข้ามามีบทบาทกับประเทศไทยมากขึ้น และ CEA คือทีมงานสำคัญในการสนับสนุนเรื่องดังกล่าว ดร.ชาคริต เล่าให้ฟังว่า การสนับสนุน Soft Power ไม่ได้เน้นที่วัฒนธรรม หรือประเพณีไทย แต่ต้องบูรณาการความเป็นไทยต่าง ๆ พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน
“ผู้ใหญ่อาจมองแค่เรื่อง Culture และ Heritage อย่างเดียว ทำให้ CEA ต้องเข้าไปสื่อสารว่ามองแค่นี้ไม่ได้ เพราะ Soft Power ก็คือ National Branding ซึ่งจะไปถึงจุดนั้นได้ ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงต่างประเทศ และอื่น ๆ ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องในการผลักดันเรื่องนี้ไปด้วยกัน”
ทั้งนี้การเดินหน้ากลยุทธ์ Soft Power ต้องมองกลุ่มเป้าหมายเป็นระดับโลก ไม่ใช่แค่ในประเทศ พร้อมกับสนับสนุนเรื่อง ทรัพย์สินทางปัญหา และการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มความเร็ว และความรู้สึกเป็นเจ้าของ ให้นักสร้างสรรค์ในทุกอุตสาหกรรมมีความภูมิใจในการพัฒนาสินค้า หรือบริการขึ้นมาได้
เทคโนโลยีมาใช้สร้างสรรค์จะยิ่งชัดเจน
ดร.ชาคริต เสริมว่า ในปี 2023 ภาพของ CEA จะเน้นเรื่องเทคโนโลยีที่ชัดเจนขึ้น ผ่านการวางตัวเป็นแพลตฟอร์มสำหรับนักสร้างสรรค์ให้เข้ามาสร้างผลิตภัณฑ์ และบริการโดยอาศัยความเชี่ยวชาญเรื่องความคิดสร้างสรรค์ของหน่วยงานได้ หนึ่งในนั้นคือเรื่อง เมตาเวิร์ส
“เมตาเวิร์ส ค่อนข้างน่าสนใจ เพราะมันไม่มีพรมแดน และถ้าเราส่ง Soft Power ของไทยเข้าไปในพื้นที่นั้นได้โอกาสการเติบโตก็มีสูง แต่การจะไปถึงจุดนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ซึ่ง CEA พร้อมเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อพวกเขาเข้าด้วยกัน และเติบโตกันได้ทุกฝ่าย”
สำหรับผลงานที่น่าสนใจของ CEA ในการเชื่อมต่อนักสร้างสรรค์รายย่อยกับองค์กรขนาดใหญ่ อาทิ การเจรจากับ Netflix แพลตฟอร์มสตรีมมิงยักษ์ใหญ่ของโลก เพื่อดึงนักเขียนบทที่เก่ง ๆ ในประเทศไทยไปเขียนบทภาพยนตร์ หรือซีรีส์เพื่อใช้ทำตลาดในประเทศ และระดับโลก เป็นต้น
CEA กับการทำงานที่ต่างกับหน่วยงานอื่น
อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนภารกิจทั้งหมดนี้ ดร.ชาคริต คงไม่ได้ทำแค่คนเดียว ต้องอาศัยทีมงานจำนวนมาก แต่ด้วย CEA เป็นหน่วยงานความคิดสร้างสรรค์ การทำงานแบบหน่วยงานรัฐดั้งเดิมคงดึงดูดคนเก่ง ๆ เข้ามาได้ยาก ทำให้ ดร.ชาคริต ต้องปัดฝุ่นการทำงานแบบดั้งเดิมเกือบทั้งหมด
“ขึ้นชื่อว่าหน่วยงานรัฐ กับเรื่องครีเอทีฟมันค่อนข้างขัดแย้งกัน รวมถึงเรื่องค่าตอบแทนของเราคงสู้ฝั่งเอกชนไม่ได้ ดังนั้นการจะดึงคนเก่งเข้ามาทำงานจึงท้าทายอย่างมาก แต่ผมเชื่อว่าการที่เราให้รางวัลการทำงานกับคนที่ทำงานเป็นเรื่องใจ และให้เขามีส่วนร่วมตั้งแต่การเริ่มต้นของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และพัฒนาประเทศไปด้วยกันย่อมช่วยได้”
นี่คือ ดร.ชาคริต พิชญางกูร และ CEA ที่จะเข้ามายกระดับความคิดสร้างสรรค์ให้กับคนไทย และองค์กรต่าง ๆ เพื่อเติบโตไม่ใช่แค่ในไทย แต่คือระดับโลก ดังนั้น ต้องจับตาว่าในปี 2023 จะได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ในมุมที่น่าสนใจจากหน่วยงานรัฐนี้อย่างแน่นอน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา