ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มที่อยู่อาศัยซบเซาอย่างมาก ซีบีอาร์อี เผยไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา ตลาดที่อยู่อาศัยไทยยังไม่ส่งสัญญาณฟื้นตัว มีความเสี่ยงเจอผิดนัดโอนจากลูกค้าต่างชาติ พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนมองหาพื้นที่ทำงานในบ้านมากขึ้น คาดตลาดฟื้นตัวได้อีกครั้งหลังโควิดจบ
ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 มีปริมาณคอนโดมิเนียมเปิดตัวใหม่ 18,630 ยูนิต ลดลง 56.6% จากปี 2562 และคอนโดหลายแห่งมีการทำการส่งเสริมการขายอย่างหนักสำหรับโดยบางโครงการมีการลดราคาลงมากถึง 20-25% ทั้งยังมีความน่าเป็นห่วงในแง่ของการผิดนัดโอนกรรมสิทธิ์จากลูกค้าต่างชาติที่ไม่สามารถเดินทางเข้ามาทำเรื่องโอนกรรมสิทธิ์ได้เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทาง ซึ่งทำให้จำนวนยูนิตที่ถูกขายออกไปก่อนหน้ากลับเข้ามาในตลาดอีกครั้งทำให้มีจำนวนยูนิตเหลือขายมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แผนกวิจัย ซีบีอาร์อี ประเทศไทย เผยว่า ตลาดยังคงมีการเคลื่อนไหวอยู่ โดยเฉพาะตลาดบ้านหลังที่สองในเขตเมืองท่องเที่ยวสำคัญอย่าง ภูเก็ต หัวหิน และพัทยา ที่มีความต้องการเพิ่มมากเนื่องจากไม่สามารถเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศได้ทำให้ผู้บริโภคหันมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพมหานครและเมืองตากอาการชั้นนำเพื่อใช้เวลาท่องเที่ยวภายในประเทศแทน
นอกจากนี้แผนกวิจัย ซีบีอาร์อี ยังกล่าวว่า พฤติกรรมและมุมมองของผู้บริโภคในตลาดที่อยู่อาศัยมีการเปลี่ยนแปลงไปหลังเกิดการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากมีการทำงานจากที่บ้านมากขึ้นทำให้ความต้องการพื้นที่ใช้สอยในบ้านมีการเปลี่ยนแปลง ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับพื้นที่สำหรับการทำงานและความยืดหยุ่นในการใช้พื้นที่มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจที่พบว่าผู้บริโภคกว่า 74% นำปัจจัยเรื่อง work from home มาเป็นส่วนในการตัดสินใจเลือกซื้อที่อยู่อาศัย
สำหรับปี 2564 ซีบีอาร์อี คาดการณ์ว่าตลาดที่อยู่อาศัยจะค่อยๆ ฟื้นตัวแต่ยังจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่เท่ากับก่อนการระบาดของโควิด-19 ส่วนจะใช้ระยะเวลานานเท่าไรนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการในตลาดและภาวะเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น โดนซีบีอาร์อีคาดว่าความเชื่อมั่นในตลาดจะกลับมาอีกครั้งหลังมีการแจกจ่ายวัคซีนออกไป
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา