Cathay Pacific ขาดทุนต่อเนื่องปีที่ 2 แต่สัญญาณดีขึ้นจากแผนลดค่าใช้จ่ายและธุรกิจคาร์โก้เติบโต

สายการบิน Cathay Pacific ยังคงสถานะทางการเงินที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก โดยปี 2017 นี้ขาดทุนเป็นปีที่สองติดต่อกันแล้ว และขาดทุนเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปีก่อนหน้าด้วย ถือเป็นการขาดทุนติดต่อกันสองปีครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 70 ปีของบริษัท

ภาพจากเว็บไซต์ https://www.cathaypacific.com/content/dam/cx/digital-library/hk/press-release/2015/20151101/20151101_005.jpg

ในปี 2017 สายการบิน Cathay Pacific มีรายได้สูงขึ้นเป็น 97.2 ล้าน HKD เนื่องจากธุรกิจคาร์โก้แข็งแกร่งมากขึ้น ส่วนฝั่งธุรกิจการบินเพื่อการเดินทางนั้น ยังคงอยู่ในสภาพที่ไม่สู้ดีนัก เนื่องจากการแข่งขันด้านราคาของสายการบิน โดยรายได้ของผู้โดยสารต่อกิโลเมตรซึ่งเป็นรายได้ส่วนสำคัญมากของ Cathay Pacific ตกลง 3.3% จากปีก่อนหน้า ทั้งการบินระยะใกล้และไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางอออสเตรเลียและอเมริกาเหนือ ส่วนค่าน้ำมันที่สูงขึ้นก็ดันให้ค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายส่วนสำคัญของสายการบินสูงขึ้น 27%

แม้ว่าจะขาดทุนเพิ่มขึ้น แต่ Cathay Pacific ก็ยังมีสัญญาณของการฟื้นตัว โดยบริษัทกลับมามีกำไรอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2017 ซึ่งบริษัทมีกำไรสุทธิ 792 ล้าน HKD ในช่วงครึ่งหลังของปี ส่วนช่วงครึ่งปีแรกมีผลขาดทุน 2,050 ล้าน HKD ซึ่งในปี 2017 นี้ ธุรกิจคาร์โก้นั้นเติบโตขึ้นสูงมากเนื่องจากการเติบโตของการขายสินค้าและอีคอมเมิร์ซ ซึ่งรายได้จากธุรกิจคาร์โก้สูงขึ้น 19.1% และ yield สูงขึ้น 11.3% จากปีก่อนหน้า

Cathay Pacific ยังมีแผนการซื้อหุ้นบริษัทคาร์โก้ Air Hong Kong อีก 40% ที่เหลือจาก DHL International ภายในปีนี้ด้วย เพื่อให้ Air Hong Kong เป็นบริษัทภายใต้ Cathay Pacific อย่างสมบูรณ์

ปัจจุบัน สายการบินทั้งจากจีนและตะวันออกกลาง มีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น ประกอบกับสายการบินโลวคอสท์ที่เริ่มขยับเข้ามาสู่ตลาดการบินระยะไกล ซึ่งแม้ว่าสายการบินอื่นอย่าง Qantas Airways และ Singapore Airlines จะเริ่มขยับเข้าไปสู่ตลาดโลวคอสท์ผ่านบริษัทลูก แต่ Cathay Pacific กลับเลือกที่จะอยู่ห่าง ๆ จากตลาดนี้ โดยซีอีโอ Repert Hogg ยืนยันว่าบริษัทจะยังคงเน้นการโฟกัสธุรกิจไปที่ Cathay Pacific และสายการบินลูกซึ่งให้บริการภายในภูมิภาคอย่าง Cathay Dragon

ท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกง

นักวิเคราะห์ต่างก็คอยจับตาผลลัพธ์ของการปรับองค์กรตามแผนระยะ 3 ปีของ Cathay Pacific อยู่ (ก่อนหน้านี้มีการปลดพนักงานไปแล้ว 600 ตำแหน่ง) โดยทางบริษัทหวังว่าจะหั่นค่าใช้จ่ายให้ได้ 4 พันล้าน HKD ภายในสามปี โดยในอีกสองปีข้างหน้านั้น Cathay Pacific ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก อย่างเช่นการเพิ่มความจุให้ได้ 3-4% ต่อปีจนกว่ารันเวย์แห่งที่สามของสนามบินฮ่องกงจะเสร็จสิ้นในปี 2030 ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก

Cathay Pacific นั้นมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ Swire Pacific Limited 45% รองลงมาคือ Air China สายการบินจากจีนแผ่นดินใหญ่ 29.99% และ Qatar Airways สายการบินจากตะวันออกกลางที่ 9.61%

ที่มา – Nikkei Asian Review

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

คอลัมนิสต์ Brand Inside ผู้สนใจเรื่องของบริษัทเทคโนโลยี, ตลาดเงินตลาดทุน รวมถึงด้านธนาคาร และการปรับตัวด้านเทคโนโลยีมาใช้ของบริษัทต่าง ๆ